วัดบรมพุทธาราม (วัดกระเบื้องเคลือบ) และสะพานบ้านดินสอ
เรื่องและรูปโดยทีมงาน Vacationist
วัดบรมพุทธาราม และสะพานบ้านดินสอ เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กัน วัดบรมพุทธารามมีศิลปกรรมที่โดดเด่น รวมถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์บ้านพลูหลวง
ตั้งอยู่ในเขตรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ทิศตะวันตกติดกับถนนพระศรีสรรเพชญ์ ฝั่งตะวันออกติดกับแนวคลองฉะไกรน้อย ซึ่งเป็นคลองโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ทิศเหนือเป็นที่ตั้งของสะพานบ้านดินสอ เป็นหนึ่งในจำนวนสะพานโบราณพียงไม่กี่แห่งที่เหลือร่องรอยโครงสร้างอยู่
ในรัชสมัยของสมเด็จพระเพทราชาแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง โปรดฯ ให้สร้างวัดบรมพุทธรามขึ้น ณ บริเวณพระนิเวศน์เดิมของพระองค์ ในบริเวณที่เรียกว่า บ้านหลวง ตำบลป่าตอง อยู่ในเขตกำแพงพระนคร ริมคลองฉะไกรน้อยใกล้กับประตูไชย
ใช้เวลาในการสร้าง 3 ปีเศษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หมื่นจันทรา ทำกระเบื้องเคลือบสีเหลืองมุงหลังคาพระอุโบสถและพระวิหาร ชาวกรุงศรีอยุธยาจึงเรียกกันว่า วัดกระเบื้องเคลือบ
วัดบรมพุทธารามตั้งอยู่ที่ถนนศรีสรรเพชญ์ ตำบลประตูไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเป็นวัดร้าง ตั้งแต่ครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310 แต่ก็ยังเหลือเค้าโครงความงดงามให้เห็น โดยเฉพาะอุโบสถที่ยังมีผนังเหลืออยู่เกือบเต็มทั้ง 4 ด้าน
พระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม ขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 24.20 เมตร จุดเด่นของอุโบสถคือไม่มีเสารองรับเครื่องบนอย่างที่มีในอุโบสถสมัยอยุธยาตอนต้น เนื่องจากอุโบสถมีขนาดเล็กลง และมีเทคนิคการก่อสร้างใหม่ๆ ตามยุคสมัย
ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีการบูรณะซ่อมแซมและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเมื่อ พ.ศ. 2526 ยังมีร่องรอยของภาพจิตรกรรมฝาผนังเหลือให้ชมอยู่บางส่วน
สะพานบ้านดินสอ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด สันนิษฐานว่าคงเป็นสะพานไม้เชื่อมต่อกับแนวถนนที่แยกจากถนนมหารัถยา ทางทิศตะวันตกไปยังป่าดินสอ ป่าสมุด ป่าจาน และย่านบ้านแหทางฝั่งทิศตะวันออก
ดังปรากฏในเอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมว่า “…ถนนย่านป่าดินสอริมวัดพระงาม มีร้านขายดินสอศิลาอ่อนแก่ และดินสอขาวเหลืองดินสอดำ ชื่อตลาดบ้านดินสอ…”
ถนนเส้นนี้จึงถูกเรียกตามแหล่งผลิตและแหล่งค้าขายในชื่อ ถนนย่านป่าดินสอ รวมไปถึงชื่อสะพาน ย่านการค้าแถบนี้เป็นอุปกรณ์เครื่องเขียนแก่พระภิกษุ สามเณร เจ้าพนักงานในหอแปลพระราชสาส์น อาลักษณ์ กวี รวมไปถึงกุลบุตร กุลธิดาที่ต้องการศึกษาเล่าเรียนหนังสือในยุคนั้น ต่อมาเมื่อมีการขยายตัวของชุมชน และย่านการค้า สะพานแห่งนี้น่าจะได้รับการบูรณะเปลี่ยนโครงสร้างด้วยอิฐให้แข็งแรง
โครงสร้างสะพานในปัจจุบันได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากร ลักษณะสะพานอิฐปูพื้นด้วยการเรียงสันอิฐเป็นก้างปลา ใต้สะพานก่ออิฐสันเหลื่อมตามโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า Corbel Arch เป็นซุ้มโค้งรูปกลีบบัว ได้รับอิทธิพลมาจากทางตะวันตก