สีสัน…งานแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ของชาวจีนสะแกกรัง
เรื่องและภาพโดย อ.พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ
แม้หลักฐานระบุว่าสมัยสุโขทัย – อยุธยานั้นได้มีชาวจีนมาตั้งบ้านเรือนอยู่แล้วก็ตาม การมีศาลเจ้าประดิษฐานสิ่งเคารพหรือเจ้าพ่อเจ้าแม่ของชาวจีนนั้น น่าจะมีขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ด้วยมีชาวจีนมาอาศัยอยู่จำนวนมาก ในแผ่นดินของพระเจ้ากรุงธนบุรี คือ “พระเจ้าตากสิน” ซึ่งได้มีสัมพันธ์ไมตรีกับพระเจ้ากรุงจีน และมีการค้าขายต่อเนื่องมาถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์
โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงเปิดการค้าขายกับชาวจีนและแต่งเรือสำเภาหลวงค้าขายสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศจนมีเงินถุงแดงเก็บในท้องพระคลัง และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้เปิดประเทศติดต่อกับประเทศตะวันตกทั้งปวง จนมีฝรั่งเข้ามาค้าขายกันมากขึ้น พร้อมกับมีชาวจีนอพยพเข้ามาจำนวนมาก จนต้องมีการแต่งตั้งนายอำเภอและปลัดฝ่ายจีนช่วยดูแลกลุ่มคนจีนในท้องถิ่นต่างๆ
ซึ่งต่างมีการรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นพวกดูแลผลประโยชน์ของชาวจีนด้วยกัน แม้จะมีอุปสรรคที่ชาวจีนนั้นต่างพากันไปขึ้นกับอังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดาและโปรตุเกสเข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯ ทำให้คนจีนไม่อยู่ในอำนาจโรงศาลหรือในบังคับของรัฐบาลไทย แม้กงสุลต่างชาติจะมีกฎห้ามมิให้ชาวจีนก่อตั้งสมาคมหรือชุมนุมลับอย่างก่อนก็ตาม เรื่องนี้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) วิตกว่า หากชาวจีนพากันอยู่เป็นสัปเยกคือคนในบังคับต่างชาติมากเท่าใด การปกครองย่อมมีปัญหายุ่งยากมากขึ้นเท่านั้น
ดังนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ครองราชย์ได้ ๓ สัปดาห์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินจึงประกาศตั้งศาลคดีจีนขึ้นในกรมท่าซ้าย โดยพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (จ๋อง) ดูแลชาวจีน ต่อมาวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๑ จึงได้แต่งตั้งหลวงพิพิธภัณฑ์วิจารณ์ (ฟัก) กับหลวงพิชัยวารี (มะลิ) เป็นผู้พิพากษาศาลคดีจีนขึ้น ทำให้มีการตั้งศาลเจ้าและมีพิธีการไหว้เจ้าให้เป็นขนบธรรมเนียมที่ชาวจีนได้มีการปฏิบัติสืบทอดกันมา
เป็นเครื่องแสดงความสามัคคีและความเชื่อที่จะต้องไหว้เจ้าที่คือแผ่นดินไทย และไหว้บรรพบุรุษเพื่อให้เป็นสิริมงคล นำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ครอบครัว จนมีคตินิยมว่าในปีหนึ่งนั้นต้องมีการไหว้เจ้า ๘ ครั้ง คือ การไหว้ครั้งแรกของปีในเดือน ๑ วันที่ ๑ เป็นงานตรุษจีน เรียกว่า “ง่วงตั้งโจ่ย” การไหว้ครั้งที่สอง ไหว้ในเดือน ๑ วันที่ ๑๕ เรียกว่า “ง่วงเซียวโจ่ย” การไหว้ครั้งที่สาม ไหว้ในเดือน ๓ วันที่ ๔ เรียกว่า “ไหว้เช็งเม้ง” เป็นประเพณีที่ลูกหลานไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย การไหว้ครั้งที่สี่ ไหว้เดือน ๕ วันที่ ๕ เรียกว่า “โหงวเหว่ยโจ่ย” เป็นเทศกาลไหว้ขนมจ้าง การไหว้ครั้งที่ห้า ไหว้ในเดือน ๗ วันที่ ๑๕ คือ ไหว้สารทจีนเรียกว่า “ตงง้วงโจ่ย” การไหว้ครั้งที่หก ไหว้เดือน ๘ วันที่ ๑๕ เรียกว่า “ตงชิวโจ่ย” ที่คนทั่วไปรู้จักกันดีว่า ไหว้พระจันทร์ การไหว้ครั้งที่เจ็ด ไหว้เดือน ๑๑ ไม่กำหนดวันแน่นอน เรียกว่า “ไหว้ตังโจ่ย” และการไหว้ครั้งที่แปด ไหว้เดือน ๑๒ วันสิ้นปี เรียกว่า ไหว้สิ้นปี หรือ “ก๊วยนี้โจ่ย”
นอกจากนี้ยังมีการไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่ที่เคารพกันในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีวาระงานไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะบ้านสะแกกรังหรือเมืองอุทัยธานี ถือว่าเป็นถิ่นของชาวจีนผู้เดินเรือไปมาค้าขายและตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งที่บ้านสะแกกรังมาแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ดังนั้นในวาระสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๕๙ และขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้ถือเป็นวาระสำคัญที่ครบรอบ ๑๒ ปีของศาลเจ้าแม่ทับทิม หรือ ศาลเจ้าจุยบ่วยเนี่ยว ซึ่งเป็นศาลเจ้าของชาวจีนไหหลำผู้นับถือ “ตุ้ยบ๋วยเต่งเหนี่ยง” คือเทพธิดาแห่งท้องทะเลที่คุ้มครองผู้เดินทางทางเรือ ที่รู้จักกันทั่วไปว่า “จุยบ่วยเนี่ยว” แปลว่า “เจ้าแม่แห่งชายน้ำ” ซึ่งชาวจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า “เทียนส่งเซ่งโบ้” แปลว่า “เจ้าแม่สวรรค์” หรือ “ม่าจ้อโป๋” ถือเป็นเทพธิดาหรือเจ้าแม่ที่เคารพบูชาในหมู่ชาวเรือ ชาวประมง
ชาวจีนในไทยรู้จักเทพธิดาองค์นี้ดีในชื่อ “เจ้าแม่ทับทิม” ด้วยเจ้าแม่มีเครื่องประดับประจำองค์เป็นพลอยทับทิมสีแดง ดังนั้นการแห่ประจำปีครั้งสำคัญนี้จึงมีการอัญเชิญเจ้าพ่อเจ้าแม่ของชาวจีนบ้านสะแกกรัง ได้แก่เจ้าพ่อหลักเมือง ปุนเถ้ากง เจ้าพ่อ กวนอู เจ้าแม่ละอองสำลี ร่วมในพิธีที่มีเจ้าแม่ทับทิม เป็นประธาน โดยจัดกระบวนแห่ตามประเพณีของชาวจีนคือมีขบวนเสือไหหลำ
เป็นศิลปะการแสดงของชาวจีนไหหลำที่มีพื้นฐานมาจากวิชามวยพยัคฆ์ จึงไม่นิยมการเชิดสิงโต แต่จะสร้างรูปหัวเสือมาเชิดแทน จากความเชื่อว่าเสือเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าพ่อเทพารักษ์ ที่คอยปกป้องภยันตรายมาสู่พี่น้องชาวจีนไหหลำ
โดยมีพิธีหลัก ได้แก่ การเชิญเจ้าเสด็จสรงน้ำเปลี่ยนเครื่องทรง เบิกพระเนตร ลุยไฟ พิธีจิ้นเบียว สวดถวายฎีกาเง็กเซียนฮ่องเต้ บวงสรวง พิธีล้างตลาดและขบวนแห่ที่มีเครื่องประกอบในขบวน ซึ่งมีผ่างคู่ เดงลั๊ง ธงมังกร พระป้าย ขบวนเสือไหหลำ ขบวนกระถางธูป และเจ้าพ่อเจ้าแม่ของชาวจีนบ้านสะแกกรัง
โดยมีขบวนศาสตราวุธของเซียนทั้งแปด (โบ้ยบ้อ) ป้องกันภยันตรายและบันดาลความเป็นมงคลให้อยู่เย็นเป็นสุขร่มเย็น อันเป็นสีสันของมงคลทั้งแปดเซียนให้ดูแลท้องถิ่นที่มีชาวจีนตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่ตลอดไป สีสันงานนี้ก็คือการแห่สิงโต แห่มังกร ขบวนนักรบเอ็งกอและการต่อตัว ไต่เสาเดี่ยว ที่สร้างสีสันให้ตื่นตาตื่นใจนั่นเอง