“TRIUP FAIR 2023” เปิดปรากฏการณ์สำคัญแห่งปี ของวงการวิจัยและนวัตกรรมไทย ชูผลงานวิจัยการแพทย์และสุขภาพ เกษตรและอาหารมูลค่าสูง และ Net Zero Carbon Emission

สกสว. ผนึกกำลัง ภาคีเครือข่ายภาครัฐ-เอกชน จัดงาน TRIUP FAIR 2023 เปิดปรากฏการณ์สำคัญแห่งปีของวงการวิจัยและนวัตกรรมไทย กับสุดยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมของคนไทยมากกว่า 300 ผลงาน ที่นำไปสู่การใช้จริงในเชิงพาณิชย์ และส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม ในงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม TRIUP FAIR 2023” ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ระหว่างวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2566 

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 – สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านวิจัยและนวัตกรรม หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัย (PMU) 9 แห่ง มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และภาคเอกชน นำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลกลไกหนุนเสริมการพัฒนาภาคธุรกิจ รวมถึงหน่วยงานภาคการเงิน และการลงทุนอีกมากมาย ร่วมจัดงานนี้ขึ้นเพื่อผลักดันการวิจัยและนวัตกรรมของไทยสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม

โดยได้รับเกียรติจาก ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คุณปริม จิตจรุงพร ประธานคณะกรรมการส่งเสริมนวัตกรรม และวิจัย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คุณวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และผู้มีเกียรติ เข้าร่วมในพิธีเปิดงาน ดังกล่าว

ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน กสว. กล่าวว่า แต่ละปีประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการลงทุนในส่วนนี้จะเป็นพื้นฐานของการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ และสร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทั้งปัจจุบันและในอนาคต แม้จะมีการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมออกมามาก แต่ผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่ถูกนำไปต่อยอดและนำไปใช้ประโยชน์ที่สร้างผลกระทบในวงกว้างได้มากเท่าที่ควร

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ผลักดันให้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมการนำผลงานวิจัย พ.ศ. 2564 (Thailand Research and Innovation Utilization Promotion Act; TRIUP Act) ขึ้น ซึ่งก็คาดหวังให้ทุกภาคส่วนได้ใช้กฎหมายฉบับนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศดังเช่นตัวอย่างความสำเร็จของประเทศที่มีการใช้กฎหมายในลักษณะนี้มาแล้ว ในส่วนของคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ความสำคัญและได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ฯ ดังนี้ 1) มอบหมายให้ สกสว. ยกร่างเพื่อประกาศใช้กฎหมายลำดับรองและประกาศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 2) ดำเนินการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนให้เหมาะสมเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ 3) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อกำกับและติดตามการดำเนินงานด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ให้เป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงพัฒนากลไก และมาตรการให้เอื้อต่อการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และหนุนเสริมการทำงานของภาคเอกชน

“อย่างไรก็ตาม การจะบรรลุผลตามเป้าหมาย และเกิดผลกระทบได้จริงนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อน และผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในมิติต่างๆ ซึ่งการที่ สกสว. พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรร่วมกันจัดงาน TRIUP Fair 2023 ครั้งนี้ขึ้น ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้เจ้าของผลงานวิจัยและผู้ใช้ประโยชน์โดยเฉพาะภาคเอกชนได้มาพบกัน และเกิดการเชื่อมโยงและร่วมเส้นทางสู่การสร้างผลกระทบต่อไป” ประธาน กสว. กล่าวเสริม

รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ เกิดขึ้นตามแนวคิด JOURNEY TO IMPACT เส้นทางจากงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ประเทศพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เห็นได้จากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและมีรายได้สูง จะมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาต่อ GDP มากกว่าร้อยละ 2.5 ในขณะที่ประเทศไทยยังลงทุนในสัดส่วนน้อยมาก ประมาณร้อยละ 1.3 ของ GDP นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน อาทิ การเข้าสู่สังคมสูงวัย การลดลงของแรงงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งล้วนต้องการความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์เพื่อตอบโจทย์สำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศให้มากยิ่งขึ้น  

“จุดมุ่งเน้นสำคัญของงานนี้ คือ ความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (RU Ecosystem) ที่ได้มาร่วมกันวางเป้าหมายร่วมในการผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้ไปสู่การสร้างผลกระทบที่เป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายการทำงานร่วมกันเป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อแสดงให้เห็นว่าเส้นทางการไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจของผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมนั้น จะต้องมีกระบวนการ และมีหน่วยงานที่ต้องเข้ามาหนุนเสริมในแต่ละขั้นตอนอย่างไร และภาพการทำงานใน 3 ประเด็นหลักนี้จะนำไปสู่การขยายโมเดลการทำงานในประเด็นสำคัญอื่นๆ ของประเทศต่อไป” ผอ.สกสว. กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ภายในงานได้มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ 1) การจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่พร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์ของนักวิจัย และผู้ประกอบการไทย รวมกว่า 300 ผลงาน 2) กิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ ซึ่งภายในงานได้เปิดพื้นที่เพื่อทํา Business Matching ให้ ภาคเอกชน และนักวิจัยได้เจรจาต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์ 3) กิจกรรมเวทีเสวนาวิชาการ และการอบรมด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา การยื่นขอรับรองมาตรฐาน ที่ได้รับเกียรติจากวิทยากรในประเทศและต่างประเทศ รวมกว่า 60 ท่าน 4) การให้คําปรึกษาและคําแนะนําด้านต่างๆ สําหรับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจด้านนวัตกรรม อาทิ การเข้าถึงแหล่งทุนวิจัย การให้ความรู้เกี่ยวกับระเบียบและมาตรการกลไกต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินสําหรับการต่อยอดธุรกิจ และการมอบประกาศเชิดชูเกียรติ “งานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบสูง” เพื่อเป็นการยกย่องและเป็นแรงหนุนเสริมให้นักวิจัย และผู้ประกอบการไทยผลิตผลงานที่มีคุณภาพ และสร้างผลกระทบได้จริง

ปรากฎการณ์สำคัญแห่งวงการวิจัยและนวัตกรรมในครั้งนี้ จะเป็นการตอกย้ำความสำคัญของกลไกที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากขึ้น เกิดการเจรจาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการ Startup และภาคเอกชน ช่วยสร้างธุรกิจใหม่ สร้างการเติบโตด้านรายได้ และสร้างความแตกต่างในการแข่งขันได้อย่างแท้จริง

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0