สีสัน…พระราชพิธีบรมราชาภิเษกแห่งราชวงศ์จักรี

เรื่องและภาพโดย อ.พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ

วันที่ ๖ เมษายน เดือนนี้ ทั่วประเทศได้มีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์พร้อมกันและมีการจัดพิธีเสกน้ำอภิเษกรวมจากกรุงเทพฯ และ ๗๖ จังหวัด ประกาศชุมนุมเทวดา ทำน้ำเทพมนตร์ เจริญพระพุทธมนต์ทำน้ำพระพุทธมนต์ ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ในวันที่ ๑๘ เมษายน เพื่ออัญเชิญเป็นน้ำมุรธาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ จึงนับเป็นเดือนที่มีความสำคัญยิ่ง

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกแห่งราชวงศ์จักรีนั้นจัดขึ้นตามราชประเพณีโบราณ คำว่า บรมราชาภิเษก มีความหมายมาจากคำว่า บรม + ราชา + อภิเษก ซึ่งคำว่า อภิเษก แปลว่า รดน้ำ แตกต่างจากราชประเพณีบรมราชาภิเษกของประเทศตะวันตก ด้วยการขึ้นครองราชย์ที่ใช้คำว่า Coronation มาจากคำว่า โคโรนา หมายถึง มงกุฎแห่งชัยชนะ ความสำคัญของพิธีบรมราชาภิเษกแบบตะวันตกให้ความสำคัญต่อพิธีการสวมมงกุฎ ไม่มีการรดน้ำอย่างพระราชพิธีฯ ของประเทศตะวันออก แม้จะมีการสวมมงกุฎเช่นเดียวกัน ก็ไม่ถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญเท่ากับพิธีมุรธาภิเษก

ความสำคัญของพิธีนี้อยู่ที่ “น้ำ” และน้ำที่นำมาใช้ในพิธีนี้ เรียกว่า “น้ำมุรธาภิเษก” ซึ่งมีความหมายอธิบายว่า มุรธา + อภิเษก มาจากคำว่า มุรธา แปลว่า พระเศียร ดังนั้น น้ำมุรธาภิเษกจึงหมายถึง น้ำรดพระเศียร ด้วยเหตุที่ถือเอา “น้ำ” นั้นเป็นมหามงคลยิ่ง จึงทำให้มีพิธีพลีกรรมนำน้ำมาจากแหล่งน้ำสำคัญอันมีความหมายถึง ความเป็นสิริมหามงคล อีกทั้งยังได้มีการรวบรวมน้ำมาจากแหล่งน้ำสำคัญหลายแห่งด้วยกัน

ในตำราโบราณของพราหมณ์ น้ำมุรธาภิเษกนั้นต้องเป็นน้ำที่มาจาก “ปัญจมหานที” คือแม่น้ำสำคัญ ๕ สายในชมพูทวีป เป็นน้ำที่ไหลลงมาจากเขาไกรลาส สถานที่กำเนิดของศาสนาฮินดู หรือพราหมณ์ ด้วยถือว่าเขาไกรลาสนั้นเป็นที่สถิตของพระอิศวร พระผู้เป็นเจ้าบนเทือกเขาหิมพานต์ คือ เขาหิมวันต์ ที่มีสีขาว หรือ เทือกเขาหิมาลัยในปัจจุบัน

สมัยอยุธยานั้น มีหลักฐานว่าในพระราชพิธีฯ ได้ใช้บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ๔ แห่งในแคว้นสุวรรณภูมิคือเมืองสุพรรณบุรีเท่านั้น เมื่อแรกมีการ ตั้งพิธีปราบดาภิเษกขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๐-๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินต้น คือรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดใช้เป็นน้ำมุรธาภิเษกตามอย่างราชประเพณีโบราณคือนำน้ำมาจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ๔ แห่งของแคว้นสุวรรณภูมิคือ สระยม สระนา สระคา และสระแก้ว

มาทำพิธีปราบดาภิเษกในเบื้องต้น ก่อนพระราชพิธีครั้งนั้นพระองค์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์รอบพระบรมมหาราชวัง ๓ วันตั้งแต่วันที่ ๑๐-๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕ ส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินต้น ทรงสถาปนา พระอัฐิพระชนกทองดีขึ้นเป็น “สมเด็จพระชนกาธิบดี” พระปฐมราชวงศ์จักรี จากนั้นจึงปราบดาภิเษกพระองค์ เป็นสมเด็จพระปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรีและสถาปนาพระบรมวงศ์ในราชตระกูลเป็นราชวงศ์จักรีตามลำดับ

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ หลังจากมีการสร้างพระที่นั่งมหาปราสาทราชมณเฑียรและพระบรมมหาราชวังเสร็จแล้วพร้อมกับสร้างเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ครบถ้วน สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินต้น รัชกาลที่ ๑ พระองค์โปรดให้ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกโดยสมบูรณ์ตามแบบราชประเพณีที่สืบแต่กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ พระราชพิธีในคราวนั้น นอกจากจะใช้น้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ๔ แห่งแหล่งเดียวกับพระราชพิธีสมัยอยุธยาแล้ว พระองค์ยังโปรดให้นำน้ำจากแม่น้ำ ๕ สาย ที่เรียกกันว่า “เบญจสุทธิคงคา” มาอนุโลมตามตำราของพราหมณ์ที่ใช้แม่น้ำ ๕ สายในชมพูทวีปด้วย โดยตักน้ำมาจากแม่น้ำ ๕ สายสำคัญในพระราชอาณาจักร การรวมน้ำจากแหล่งต่างๆ ในประเทศ จึงมีความหมายถึงการใช้น้ำเป็นสื่อถวายพระราชอำนาจแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ไปทั่วราชอาณาจักรด้วย

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0