“คืนสู่วิถีธรรมชาติ คน ช้าง ป่า ณ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ลำปาง”

เรื่องโดย vacationist staff / photo by ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ลำปาง

 

Thai Elephant Conservation Center 1

“กลิ่นไอของป่า” นั่นคือความรู้สึกแรกของฉัน เมื่อก้าวเดินไปรอบๆ บริเวณศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย หรือ สถาบันคชบาลแห่งชาติ

Thai Elephant Conservation Center 30

เพื่อนๆ หลายคนถามฉันว่า ทำไมใช้วันลาพักร้อน กับการมาฝึกเป็นควาญช้าง แทนที่จะพักผ่อนสบายๆ อยู่ตามรีสอร์ท หรือโรงแรม คำถามทั้งหมด ฉันไม่สามารถ ตอบได้เต็มปากว่าทำไมในครั้งแรกจวบจนได้มาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่

Thai Elephant Conservation Center 10

อาณาเขตกว้างใหญ่ของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง ห้อมล้อมไปด้วยต้นไม้ร่มรื่นในพื้นป่าสีเขียว ที่มีพลเมืองหลักเป็นช้างเสียส่วนใหญ่ และไม่ว่าจะสอดส่ายสายตามองไปทางใด ก็เจอแต่สัตว์สี่เท้าตัวใหญ่ชนิดนี้เดินเกาะกลุ่มกันไป โดยมีชายในชุดม่อฮ่อมเดินเคียงข้างมันบ้าง นั่งอยู่บนคอบ้าง

Thai Elephant Conservation Center 6

เป็นความสุขใจแรกที่เกิดขึ้นกับฉัน และก็อดอมยิ้มไม่ได้อีก ยามที่ก้มมองแล้วเห็นตัวเองอยู่ในชุดม่อฮ่อมสีครามเข้มแบบเดียวควาญช้าง ฉันพร้อมแล้วสำหรับการเป็นควาญสาวมือใหม่

Thai Elephant Conservation Center 9

กิจกรรมของที่นี่เราจะมีพี่ควาญช้างเป็นพี่เลี้ยงในการช่วยให้เราเข้าถึงสัตว์ตัวใหญ่แต่ใจดีได้อย่างง่ายขึ้น  พี่ควาญ ผู้เป็นพี่เลี้ยง เดินมาประกบฉัน ตอนหันไปทักทายคู่หูอย่างสีดอ ช้างหนุ่มไม่มีงาขนาด 4 ตัน ทักทายเสร็จสรรพ ฉันก็ยื่นอ้อยให้มันเพื่อสร้างความเป็นมิตรตามคำแนะนำ ช้างน้อยรับอาหารนั้นกลับด้วยท่าทางเปรมปรี โบกหู แกว่งหางไปมา เป็นการสัญญาณที่ดีในการตอบรับเพื่อนใหม่อย่างฉัน

Thai Elephant Conservation Center 8

บทเรียนแรกเริ่มต้นขึ้น “การฝึกขึ้น และขี่คอช้าง เราสามารถฝึกขึ้นขี่ได้ภายในสิบนาทีแรก แต่ถ้าฝึกให้ทำตามคำสั่ง หรือสามารถควบคุมช้างได้ ต้องใช้เวลานานเป็นเดือน สิ่งที่สำคัญที่สุดในการฝึกเป็นควาญ คือการทำให้ช้างยอมรับ และต้องรู้หลักความปลอดภัย เช่น เราจะไม่เข้าหาช้างทางด้านหลังช้าง เพราะช้างจะมองไม่เห็นเรา อาจโดนเตะได้ แต่ให้เราเข้าทางด้านขวาของช้างทุกครั้งแทน เพราะช้างถูกฝึกมาอย่างนั้น

Thai Elephant Conservation Center 11

รวมถึงการขึ้นขี่คอ ก็ให้ขึ้นทางด้านขวาของมันเช่นกัน การเข้าหาช้างจะต้องมีควาญอยู่ด้วยเสมอ หรือการให้อาหารช้าง ก็ไม่ควรดึงกลับ เพราะถือเป็นการยั่วยุอารมณ์ เป็นต้น”

Thai Elephant Conservation Center 4

เสียงคำอธิบายของผู้เป็นพี่เลี้ยงดังขึ้นเป็นระยะๆ รวมทั้งการใช้คำสั่งในการกำกับการเดิน อันได้แก่ “ไป” คือสั่งให้ช้างเดินไปข้างหน้า, ขยับขาขวาแล้วตามด้วยคำสั่งว่า “เบน” คือบอกให้ช้างเลี้ยวซ้าย, ขยับขาซ้ายแล้วออกคำสั่งว่า “เบน” คือ การเลี้ยวขวา, “ห๋าว” สั่งให้ช้างหยุด และ “สก” เป็นคำสั่งที่รู้กันว่าคือการให้ช้างเดินถอยหลัง รวมถึงคำสั่งพื้นฐานอื่นๆ ที่จำเป็น อย่างคำว่า “ส่งสูง” คือ ให้เขาส่งตัวเราขึ้นไปบนคอ

Thai Elephant Conservation Center 24

“ส่งสูง” สิ้นคำสั่ง เจ้าช้างตัวโตก็ยกขาขวาขึ้นให้เหยียบ จากนั้นจึงส่งตัวฉันขึ้นไปนั่งบนตำแหน่งคอทันที ขาทั้งสองข้างตอนนี้แนบไว้ข้างหูใหญ่ๆ เพื่อพยุงไม่ให้ตก ซึ่งทั้งหมดที่ฉันเฝ้ามองนี้ เห็นพี่ควาญพูดแค่ครั้งเดียว ช้างก็ทำตามแล้ว ส่วนมือใหม่อย่างฉัน คงต้องสั่งย้ำๆ หลายทีเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความคุ้นเคย

Thai Elephant Conservation Center 27

ความรู้สึกตอนนี้ การอยู่บนคอช้าง มันช่างมหัศจรรย์เหลือเกิน เสร็จจากบทเรียนแรก พี่ควาญช้าง ซึ่งประกบอยู่ที่ด้านหลังก็เข้าสู่บทเรียนถัดไป เขาสั่งเจ้าช้าง “ไป ไป จีปอยด๊า” นั่นหมายถึงเรากำลังจะพาช้างไปอาบน้ำกัน เพราะช้างเป็นสัตว์ที่ทนความร้อนได้ไม่ดีนัก ส่วนหนึ่ง คือสีผิวที่ค่อนข้างเข้ม และขนาดลำตัวที่หนา ทำให้ดูดซับความร้อนได้มาก ขณะที่ต่อมเหงื่อก็อยู่ในพื้นที่เล็กๆ รอบขดเล็บเท่านั้น การนำช้างไปกินน้ำ และอาบน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควาญจะละเลยไม่ได้

Thai Elephant Conservation Center 13

“เราอาบน้ำให้เขา วันละสามรอบ แต่จะเปิดโชว์ให้นักท่องเที่ยวชมแค่วันละสองรอบเท่านั้น คือ รอบเช้า 09.45 น. และรอบบ่าย 13.15 น.” ฉันรู้สึกได้เลยว่าเจ้าช้างดีใจเสมือนเด็กเจอทะเล ยามที่เห็นบึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ตรงหน้า แต่แม้จะดีใจ มันก็ไม่วิ่งพรวดพราดเข้าหา ยังคอยฟังคำสั่งของคู่หูอยู่ สิ้นเสียงภาษาส่วย ซึ่งคงหมายถึง เอาสิ เดินลงไปเลย การอนุญาตนั้น ทำให้เจ้าช้างสะบัดก้นโยกบั้นท้ายไปมา เดินลงน้ำไปอย่างรวดเร็ว

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ภาพของเจ้าช้างงวงชูช่อฉีดพ่นน้ำเย็นใส่ตัวเองอย่างเพลิดเพลิน ในขณะที่ฉัน และพี่ควาญช้างต่างขัดถูผิวหนัง เพื่อล้างเอาฝุ่น หรือคราบโคลนที่สกปรกต่างๆ ออก

Thai Elephant Conservation Center 29

ข้างๆ กันช้างเชือกอื่นก็กำลังสนุกสนานไม่แพ้กัน มีเสียงร้องเอิ๊กอ๊าก คล้ายเสียงหัวเราะ สลับกับการฉีดพ่นน้ำใส่ควาญด้วยเป็นเชิงหยอกเย้า เปียกปอนไปทั้งคนทั้งช้าง ถือเป็นภาพน่ารักน่าประทับใจ เรียกเสียงชัตเตอร์ให้กดกระหน่ำดังอย่างต่อเนื่องจวบจนเราอาบน้ำเสร็จ

Thai Elephant Conservation Center 2

ไม่นานนัก ก็ได้เวลาของการแสดงโชว์ ช้างของฉันดูจะคึกคักเป็นพิเศษ เหตุเพราะเพิ่งอาบน้ำเสร็จ และจะได้แสดงความสามารถให้นักท่องเที่ยวเห็น ที่สำคัญจะได้กินกล้วยเป็นรางวัลตอบแทนด้วย ตากตัวอยู่ครู่ ช้างก็เอางวงจับหางช้างตัวหน้าต่อๆ กัน เพื่อเดินแถวเข้าสู่ลานการแสดงอย่างน่ารักน่าชัง

Thai Elephant Conservation Center 26

ภายในการแสดงนั้น มีการสาธิตการลากไม้ในท่าต่างๆ ที่ควบคุมด้วยการสื่อสารของควาญช้างคนเก่ง

Thai Elephant Conservation Center 28

ฉันได้เห็นความฉลาดแสนรู้ของช้างทั้ง 15 เชือก จากมุมมองของควาญฝึกหัด อยู่ที่ลานการแสดงด้วย เมื่อได้เห็นช้างเก็บขยะ เต้นรำ เล่นดนตรี และวาดภาพ ซึ่งพวกมันทำอย่างง่ายดาย

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

นักท่องเที่ยวทึ่งกับความสามารถของมัน ไม่ต่างจากฉัน สังเกตได้จากรอยยิ้มที่แสดงความพึงใจ และเสียงปรบมือเกรียวกราวอยู่เป็นระยะ หลังการแสดงเสร็จ พวกเราจะส่งมันกลับเข้าป่า ซึ่งอยู่ด้านหลังของลานการแสดง ห่างไปเกือบๆ กิโล ส่วนใหญ่การผูกเขาไว้ในป่า เราจะต้องดูว่าพื้นที่นั้นว่ามีอาหารเพียงพอสำหรับช้างหรือเปล่า และเราจะไม่มัดซ้ำที่กับช้างเชือกอื่น เพราะช้างก่อนหน้านี้ อาจถ่ายไว้เปรอะเปื้อนหญ้า ทำให้เขาไม่มีอาหารกินนั่นเอง

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

เช้าวันใหม่ ฉันกับพี่ควาญ ตื่นแต่เช้าเพื่อไปรับช้างออกจากป่า ตลอดทางเราได้ยินเสียงนกร้องทักทายเจื่อยแจ้ว ฉันไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนในหมู่บ้านช้างจึงใจเย็น และอารมณ์ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่อยู่กับธรรมชาติ ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ทุกวัน ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องเร่งรีบ แข่งขันกับเวลาเหมือนอย่างคนเมือง

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

 

ตอนนี้ ฉันเริ่มถนัดกับการขี่ช้างบ้างแล้ว เพลิดเพลินกับการสื่อสารและควบคุม ไม่นานนัก ช้างก็พามาหยุดอยู่หน้าโรงงานผลิตกระดาษมูลช้าง ฉันฝากคู่หูไว้กับพี่ควาญ โบกมือลาแล้วเดินตามเจ้าหน้าที่โรงงานไป กิจกรรมต่อจากนี้ คือการเรียนรู้วิธีการผลิตกระดาษ

Thai Elephant Conservation Center 25

ในแต่ละวัน ช้างจะถ่ายของเสียออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้มีปัญหาในการกำจัดของเสีย ด้วยเหตุนี้ ทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จึงได้จัดการปัญหาดังกล่าว โดยนำมูลช้างไปผลิตเป็นก๊าชมีเทนใช้ในการหุงต้ม และเป็นส่วนผสมในการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ที่เหลือก็จะนำมาผลิตเป็นกระดาษ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

หลังจากเดินดูสินค้าที่ทำมาจากกระดาษมูลช้าง เช่น โปสการ์ด อัลบั้มใส่รูปสมุดโน้ต กำลังคิดเพลินๆ ว่ากระดาษมูลช้างดูแล้วคล้ายกับกระดาษสา ราวกับพี่เจ้าหน้าที่อ่านความคิดของฉันได้  “แม้ดูแล้วจะคล้ายกับกระดาษสา แต่แตกต่างกันตรงเยื่อกระดาษ กระดาษมูลช้างจะไม่มีเยื่อเหมือนกระดาษสา” ฉันพยักหน้ายิ้มแย้ม เมื่อความฉงนนั้นถูกคลายลงด้วยคำตอบที่ต้องการ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ผละจากการดูสินค้าสำเร็จรูป เราเดินมาที่ส่วนของการผลิตจริงๆ เสียที ฉันยกมือไหว้สมาชิกในโรงงานรุ่นคุณลุง คุณป้า เสมือนฝากเนื้อฝากตัว การเวิร์คช้อปหลักสูตรนี้เป็นแบบเร่งรัด เนื่องจากกรรมวิธีการทำกระดาษมูลช้างต้องใช้เวลาในการทำนาน

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ทั้งเก็บมูลช้าง ทำการฆ่าเชื้อโรค ต้ม ตัดเส้นใย ใส่สี ตากแดด ซึ่งกว่าจะทำครบกระบวนการ แดดก็หมดพอดี ดังนั้นการเรียนรู้วันนี้ คือทำ เท่าที่ทำได้ แค่หลักสูตรระยะสั้น แค่นั้นก็เพียงพอให้ฉันรู้สึกสนุก และขลุกตัวอยู่ในโรงงานนี้แทบทั้งวัน

Thai Elephant Conservation Center 21

กำลังจะผ่านพ้นไปอีกหนึ่งคืน สำหรับโฮมสเตย์ที่พักนั้น เราเรียกมันว่า ปางพักแบบยาว ดูภายนอกนั้นคล้ายกระท่อม ภายในตกแต่งอย่างดีด้วยไม้ไผ่สาน แม้ราคาต่อห้องนั้นเพียง 500 บาท* แต่กลับสร้างความรู้สึกผ่อนคลายมากกว่าราคาที่จ่ายนับสิบเท่า ฉันซึบซับบรรยากาศและความรู้สึกดีๆ เท่าที่จะทำได้ หลับยาวจนตื่นมาเก็บของเพื่อไปพักแรมในป่า กับกิจกรรมขี่ช้างระยะไกลแทบจะไม่ทัน

Thai Elephant Conservation Center 20

สำหรับกิจกรรมขี่ช้างระยะไกล หรือ การขี่ช้างท่องไพร นั้น เสริมขึ้นมาจากกิจกรรมโฮมสเตย์ เราจะขี่ช้างไปยังพื้นที่ของโรงเรียนฝึกควาญช้าง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของศูนย์อนุรักษ์ฯ กิจกรรมนี้ถือเป็นการเดินป่าชมธรรมชาติบนหลังช้าง ช้างส่วนใหญ่ที่ใช้ขี่ ก็จะเป็นพวกช้างแท็กซี่

Thai Elephant Conservation Center 12

ซึ่งเป็นช้างคนละส่วนกับช้างการแสดงแบบช้างที่หลังของช้างแท็กซี่ จะมีที่นั่งผูกติดหลังไว้สำหรับบรรทุกคน หรือข้าวของสัมภาระ การเดินทางครั้งนี้ เรามีเพื่อนควาญฝึกหัดชาวต่างชาติ และช้าง ติดตามเรามาอีกนับสิบเชือก ช้างเดินไป เหล่าควาญก็เก็บไม้ระหว่างทางเพื่อเอาไปทำฝืน เตรียมสำหรับการหุงหาอาหารในเย็นวันนี้

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ในขณะที่หลายคนกำลังสูดควันในท้องถนน ฉันกลับสูดโอโซนเข้าเต็มปอด อากาศดี บรรยากาศก็ดี เงียบสงบ มองไปทางไหนก็สบายตา มีลมอ่อนๆ พัดเอื่อยๆ จนลืมอากาศร้อน ตัวช้างเองก็ดูเพลิดเพลินที่ได้กินต้นไม้ใบหญ้าริมข้างทาง หลังจากเดินทางดิน ลุยน้ำในลำธาร เราก็ถึงที่หมาย กระท่อมหญ้าคา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ ลำธารที่ผ่านมาเมื่อสักครู่

Thai Elephant Conservation Center 32

การดำรงชีวิตแบบควาญช้างในอดีตไม่ยากอย่างที่คิด อารมณ์หวนนึกถึงการไปเข้าค่ายลูกเสือเนตรนารี แต่มีสีสันมากกว่า เพราะจะต้องผ่าฟืน ก่อไฟ หุงข้าวด้วยกระบอกไม้ไผ่ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันรอบกองไฟ ราตรีนี้ ฉันหลับไปกับความสุขที่จับต้องได้ ได้เรียนรู้วิถีควาญ อยู่กับช้าง อยู่กับป่า เป็นการคืนสู่วิถีธรรมชาติที่คุ้มค่าจริงๆ

Thai Elephant Conservation Center 33

หลังจบคอร์สการฝึกทั้งหมด ฉันโบกมืออำลา แน่นอนว่า ฉันวางแผนที่จะกลับมาอีกครั้งในปีหน้า เพื่อเยี่ยมเยียนมิตรเก่าที่รู้ใจ และทำความรู้จักกับเพื่อนช้างตัวใหม่เชือกอื่น มาครั้งนี้ นอกจากใบวุฒิบัตรรับรองการฝึกหัดแล้ว ฉันยังได้รับชุดม่อฮ่อมเป็นของที่ระลึก รวมถึงมิตรภาพที่แสนดีที่ได้จากพี่ควาญครูผู้ฝึก และเพื่อนช้างตัวโตๆ อีกด้วย

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ณ วินาทีนี้ ฉันสามารถตอบคำถามได้เต็มปากแล้วว่า มันไม่มีเหตุผล หรือที่มาที่ไปอะไรเป็นพิเศษเลยแม้แต้น้อย ในการเลือกทริปครั้งนี้ นอกจากความผูกพันกับพวกเขา เห็นแววตาอันแสนซื่อ และความรู้สึกที่ทำให้ฉันนึกสงสาร เวลาที่เขาอยู่ผิดที่ผิดทาง ยามที่ต้องผจญบนพื้นคอนกรีตร้อนๆ ในเมือง

Thai Elephant Conservation Center 18

หากฉันเป็นช้าง ที่นี่คงให้ความรู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน วิถีแสนสุขนี้ ก็พอเพียงแล้วสำหรับพวกมัน รวมถึงฉัน ที่คิดว่าวิถีนี้นับเป็นอีกการพักร้อนที่ทุกคนควรได้สัมผัส

 

Special Thanks To :
– ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย กม. 28 – 29 ถนน ลำปาง – เชียงใหม่ ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง 52190 โทร. 0 5482 933
– องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 76 ถ.ราชดำเนินนอก แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบฯ กทม. 10100 โทร. 0 2282 3243
– Lampang Car for Rent 799/1 ถนนลำปาง – งาว ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง 52190 โทร. 08 1594 0716 www.lampangcarrent.com/contact.html

 

– ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประเภทรางวัลดีเด่น แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และรางวัลดีเด่นประเภทนันทนาการเพื่อการเรียนรู้
– ช้างส่วนใหญ่ที่อยู่ในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จะอยู่ในความดูแลของฝ่ายอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) แต่เดิมเป็นศูนย์ฝึกลูกช้าง ซึ่งเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 ฝึกลูกช้างให้มีความชำนาญในการทำไม้ เพื่อไปทำงานจริงในป่าเมื่อโตขึ้น แต่ในปี 2532 มีนโยบายปิดป่า ทำให้ช้างต้องว่างงาน ศูนย์ฝึกลูกช้างจึงถูกปรับเป็นสถานที่ดูแลช้างแก่ และเจ็บป่วย ในนามโรงพยาบาลช้าง หลังจากนั้น ได้ก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยขึ้น เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2535 พร้อมจัดกิจกรร
– การท่องเที่ยวควบคู่ขึ้น บนพื้นที่ 1,952 ไร่ เปิดโอกาสให้มาสัมผัส และศึกษาวิถีชีวิตของช้างอย่างแท้จริง
– คุณสมบัติของนักท่องเที่ยวในกิจกรรมฝึกเป็นควาญช้างสมัครเล่น ต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพสมบรูณ์ มีรูปร่างลักษณะไม่เป็นอุปสรรคต่อการฝึก ไม่มีความพิการทางแขน ขา และสายตา น้ำหนักไม่ควรเกิน 110 กิโลกรัม ไม่เป็นโรคหัวใจ หรือโรคพาร์กินสัน และมีอายุระหว่าง 6 – 65 ปี
– วิธีการทำกระดาษมูลช้าง เริ่มจากการเก็บมูลช้าง จากนั้นนำไปล้าง และฆ่าเชื้อโรคด้วยไฮโดรเจน ต้มนานเป็นเวลา 5 ชั่วโมง หลังจากต้มก็นำมูลช้างนั้นไปปั่นเพื่อตัดเส้นใยเป็นเวลา 3  ชั่วโมง ตามด้วยการใส่สี ก่อนนำไปชั่งน้ำหนัก แบ่งเป็นลูกขนาดเท่ากัน นำลูกที่ได้ไปละลายต่อในเฟรม ให้กระจายทั่วเฟรม ก่อนนำเฟรมนั้นไปตากแดดให้แห้ง เมื่อแห้งให้นำกระดาษออกจากเฟรม รีดให้เรียบ แล้วจึงนำกระดาษที่ได้ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องการ
– คำว่าสีดอ เป็นคำหน้าชื่อไว้ใช้เรียกช้างตัวผู้ไม่มีงา เช่นเดียวกัน พลาย เป็นคำนำหน้าชื่อช้างตัวผู้มีงา และ พัง เป็นคำว่านำหน้าชื่อช้างตัวเมีย

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0