Tanong Prakuptanon (ติวเตอร์ตู่) เดอะ เกม ออฟ ดราม่า
Story & Photo by Keeta Bunyapanit
นี่นายกำลังคิดเหมือนฉันรึเปล่า B1 ฉันก็คิดเหมือนนายน่ะแหละ B2 ได้เวลาออกเดินทางแล้ว!!!
ชีวิตจริงไม่ได้เป็นอย่างรายการเด็ก Bananas in Pyjamas ที่สองมาสคอตกล้วยหอมในชุดนอนลายทางมีความเห็นแทบจะเหมือนกันทุกเรื่อง มันเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นแค่ความฝันที่คนหมู่มากจะมาคิดไปในทางเดียวกันเสียหมด
โดยเฉพาะกับอะไรที่เป็น Social media มีทั้งคนอยากพูดคนอยากฟัง เมื่อทุกคนสามารถสร้างพื้นที่สื่อของตัวเองได้แค่เพียงปลายนิ้วติวเตอร์ตู่ บล็อกเกอร์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการการท่องเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตนเองมานาน เป็นนักเที่ยวรุ่นกลางๆ ตั้งแต่สมัยคนชอบค้นข้อมูลจาก Pantip แลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นที่หลัก จนกระทั่งเขามาเปิดเพจส่วนตัวลงรีวิวไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง ไม่มีใครไม่รู้จักเขา
“ชื่อติวเตอร์ตู่ มาจากตอนที่เราเคยเป็นติวเตอร์สอนพิเศษตอนเรียนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คำนี้มันเข้าใจง่าย ก็เลยเอามาเป็นชื่อ User Pantip แล้วคนก็จำได้ง่ายด้วย สิ่งที่คิดตอนแรก เราเขียนรีวิวก็แค่อยากมาอวดเพื่อนๆ สมาชิกพันทิป (หัวเราะ) แหม มันง่ายจะตาย คุณไปเที่ยวก็อยากอวด อยากแชร์กัน ก็เลยทำรีวิวลงภาพลงข้อความบอกทุกคนว่าเราไปไหนมา แล้วก็มีคนมาพูดคุยกันมันก็เป็นวิธีโชว์ภาพ โชว์ข้อมูลแบบหนึ่ง แต่เป็นรูปแบบการแบ่งปันซึ่งอยู่กับเราก็ไม่มีประโยชน์ สู้เอามาลงรีวิวดีกว่า ตอนนั้นเราไม่ได้คิดอะไรมากนักหรอก ทำเอาสนุก นั่นมันเกือบสิบปีมาแล้ว”
“ใครมาคุยกับพี่เรื่องญี่ปุ่น ก็จะเล่าให้ฟังเรื่องเสาโทริอิกลางทะเลที่มิยาจิมะ ฮิโรชิมา ที่อยู่บนหน้าปกนิตยสารท่องเที่ยวTropical ที่เป็นความประทับใจแรกที่ทำให้อยากลองไปญี่ปุ่นครั้งแรกในชีวิต พูดกี่ครั้งก็ยังรู้สึกเหมือนเดิม เหมือนโดนดูดเข้าไปในกระจกทวิภพ (หัวเราะ) จำได้ว่าใช้เงินโบนัสรีบจองทัวร์ไปเที่ยวญี่ปุ่นเลย อยากรู้ว่าของจริงเป็นยังไง แล้วก็ไม่ผิดหวัง รูปหน้าปกที่เห็นนั้นยังสวยน้อยกว่าของจริงเสียอีก”
“นั่นเป็นความประทับใจแรก แล้วเราก็อยากแจกจ่ายความสุขนั้นให้คนอื่น ญี่ปุ่นเลยเป็นจุดหมายหลัก ที่ต้องไปทุกปี อย่างน้อยปีละครั้ง ไปแล้วก็กลับมาเล่า เขียนลงบล็อก เอ๊ะถ่ายรูปไม่สวยเลยเราก็ไปลงคอร์สเรียนถ่ายรูปสิ สนุกดี มันเหมือนเป็นงานอดิเรก ใช้พื้นที่ของเราเล่าเรื่อง มีคนมาพูด มาคุย ได้เพื่อนเยอะแยะ พี่มาสายอบรม จึงเป็นคนแรกๆ ที่ทำแผนที่ภาษาไทยเดินทางในญี่ปุ่นอย่างง่ายด้วยตัวเองเลยนะ เราเชื่อว่า Pantip เนี่ยเป็นชุมชนที่แบ่งปันข้อมูล 100% ไม่มีธุรกิจแอบแฝง แม้ว่าเดี๋ยวนี้จะก็มีมาลงโฆษณาบ้าง แต่ก็ยังระบุว่าเป็น SR (Sponsor review) CR (Consumer review) แบ่งกันให้เห็นชัดเจน ก็เป็นเรื่องดี”
ก่อนหน้าดราม่า เฟซบุ๊กเพจ Japanthaifanclub ติวเตอร์ตู่คิดแค่เป็นเพียงพื้นที่ส่วนตัวที่เอาไว้บันทึกเช่นเดียวกับที่ทำในPantip ทว่าเมื่อคนสนใจญี่ปุ่นมากขึ้นและต้องการข้อมูลท่องเที่ยวญี่ปุ่นเยอะขึ้น ติวเตอร์ตู่จึงต้องพูดคุยกับผู้คนที่สมัครเข้ามาเป็นแฟนมากมาย ตัวเลขผู้คนในเพจ สามแสนห้า ไม่ใช่ว่าจะได้มาเพราะโชคช่วย แต่ส่วนหนึ่งก็เกิดจากดราม่าครั้งใหญ่ เหมือนระเบิด Big bang ที่แทบจะเป็นตัวตัดสินได้เลยว่า ใครจะอยู่ ใครจะไป
“บอกแล้วไง ว่าเราทำเพราะสนุก อยากเล่าเรื่องให้เพื่อนฟังตอนนั้นมันคิดแค่นั้นจริง ๆ และเฟซบุ๊กก็เป็นอะไรที่ใหม่ เราก็ยังใช้พื้นที่สื่อไม่เป็น ช่วงสองสามปีแรกเรามีสมาชิกอยู่ราว แปดหมื่นซึ่งก็เป็นคนที่ตรง Target เราคือสนใจอยากจะไปเที่ยวญี่ปุ่น แต่ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่กว้างใหญ่สำหรับรสนิยมของคน เราจึงมีกฎที่รู้กันเองสำหรับแฟนเพจของเรา ถ้าใครอยากได้ข้อมูลในเพจของติวเตอร์ตู่ ก็อยากให้ทำการบ้านมาเบื้องต้นก่อน
อย่างน้อยก็ให้ถามตัวเองให้ดีก่อนว่าตัวเองต้องการอะไรจากการไปเที่ยวญี่ปุ่น”
“ปรากฏว่ามีลูกเพจท่านหนึ่ง ที่อาจจะมีความเข้าใจไม่ตรงกับเรา เข้ามาพูดคยุ กันใน Inbox เราก็อธิบายชี้แจงกันไป ซึ่งเราเองก็ผิดเพราะว่าเราเป็นคนใจร้อน ใช้คำพูดไม่ดีกับลูกเพจ ก็เลยเกิดเป็นประเด็นดราม่าในพันทิป คนโลกโซเชียลรับรู้เรื่องผิดพลาดของเราที่มันเกิดขึ้น จึงโดนโซเชียลลงโทษอย่างเต็มๆ เอายังไงล่ะทีนี้
พอคิดอะไรไม่ออก เราก็ได้แต่ยอมรับผิดและขอโทษ จากนั้นก็รับผิดชอบด้วยการลาออกจากการเป็นแอดมินเพจ ปิดเพจชั่วคราวไปเป็นเดือนๆ และเงียบ!”
“ที่เงียบ เพราะอยากใช้เวลาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นและสิ่งที่ต้องทำในอนาคต การเป็นบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เรารู้สึกว่าเราเป็นเหมือนตัวกลางเชื่อมญี่ปุ่นเพื่อให้คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นอย่างมีความสุข และการได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นก็เป็นวิถีชีวิตของเราไปแล้ว เมื่อตัดสินใจได้จึงกลับมาทำเฟซบุ๊กเพจ Japanthaifanclub ใหม่อีกครั้งแต่เราขอเป็นแค่กลไกอยู่เบื้องหลัง เราไม่เหมาะกับการเป็นคนหน้าม่าน เรารู้ตัวเราแล้ว จึงให้จัดทีมใหม่มาดูแลพร้อมคิดช่องทางธุรกิจในการที่จะเติบโตได้ด้วยตัวของมันเองโดยไม่กระทบลูกเพจ”
ติวเตอร์ตู่กลับมาด้วยแนวคิดใหม่ ‘การให้ที่ปราศจากเงื่อนไข’ นั่นคือการดึงศักยภาพในความเชี่ยวชาญและรอบรู้เกี่ยวกับญี่ปุ่นออกมาส่งต่อให้ทีมงานใหม่ และแบ่งปันโดยไม่มีเงื่อนไขต่อไปยังแฟนเพจอย่างเต็มที่ ใครถามอะไรมาก็ให้ทีมงานตอบเกือบทุกคำถาม และที่สำคัญยังมีโอกาสได้ต่อยอดด้วยการเป็นช่องทางด้วยการรับรีวิวสินค้าและบริการของญี่ปุ่นให้คนไทยรู้จัก และหนึ่งในนั้นก็คือร้านขายกระเป๋าแบรนด์เนมมือสอง Sanoya ถึงกับติดต่อให้ติวเตอร์ตู่มารีวิวถึงญี่ปุ่น“หลุยส์วิตตอง ชาแนลฯ มือสอง เราดีใจที่เป็นหนึ่งในคนที่จุดประกายสาวไทยรู้ว่าถ้าอยากได้แบรนด์เนมมือสองที่ไว้ใจได้ต้องที่ Sanoya กรุง Tokyo เพราะทั้งราคารับได้และคุณภาพดี คนญี่ปุ่นรักษาของใช้ของตัวเองมาก ขนาดที่ของมือสองยังดูใหม่มาก แค่ลองเสิร์ช Google ดูก็รู้ว่าเราเป็นคนแรกๆ ที่แนะนำร้านและมีคนตามไป ทำให้ยอดขายของร้านก็พุ่ง (หัวเราะ) มันไม่มีสถิติตายตัวหรอกนะแต่เท่าที่ร้าน Sanoya บอกมา ลูกค้าที่มาซื้อกระเป๋าที่ว่าก็มาจากรีวิวของเราแทบทั้งนั้น”
“ทุกวันนี้เราต้องเดินทางไปกลับญี่ปุ่นบ่อยมากจนแทบไม่ได้อยู่บ้าน เพราะเรามีลูกค้านักธุรกิจชาวญี่ปุ่นติดต่อมาผ่านเอเจนซี่ให้เราไปช่วยรีวิวโปรโมตสินค้าและบริการจากญี่ปุ่นหลายราย เพราะเราเป็นบล็อกเกอร์คนไทยที่เข้าใจนักท่องเที่ยวไทยและประเทศญี่ปุ่นพอสมควร เราพยายามหาข้อดีเด่นของสิ่งนั้นให้เจอแล้วบอกเขาว่าเราจะสื่อสารออกไปอย่างไร แค่นั้น”
“เรามองตัวเองเป็นสะพานเชื่อมนักธุรกิจญี่ปุ่นกับนักท่องเที่ยวไทย ทางเอเจนซี่ให้เราจัด Workshop เกี่ยวกับธุรกิจญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวไทย เพราะความเชี่ยวชาญของเรา ความเชี่ยวชาญเกิดจากความขยันหมั่นเพียรและพื้นฐานในงานการตลาด แต่สำหรับเรานะ ที่สำคัญที่สุดคือ บทเรียนดราม่าในครั้งนั้นมันทำให้ตัวเราคิดใหม่ ทำใหม่ ด้วยความชัดเจนในตัวเอง มันคือประสบการณ์ที่เจ็บปวดแต่คุ้มค่าที่ทำให้เราก้าวโตจนถึงทุกวันนี้”
“เราทำให้ทุกคนได้เห็นแล้วว่า เราเปลี่ยนความคิดและการกระทำได้จริงๆอีกทั้งสามารถสร้างอาชีพจากการท่องเที่ยวของเราได้ อย่างน้อยที่สุด มันต้องมีความชอบที่จะทำ เราเป็นคนชอบเล่าเรื่องอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ ทุกอย่างมันดีเสียจนเราเผลอเอาตัวตนเราเป็นที่ตั้ง อีโก้เรามันใหญ่เสียจนมองไม่เห็นคนอื่นแต่พอเรายอมขอโทษและถอยมาก้าวหนึ่งเพื่อให้เรากลายเป็นผู้ให้อย่างไม่มีเงื่อนไขแล้ว เราก็สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เมื่อมันดี ทุกคนก็จะไว้ใจและเชื่อใจเราเอง ทุกวันนี้เรายังต้องขอขอบคุณแฟนเพจคนนั้นอยู่เลย ถ้าไม่มีเขาให้บทเรียนที่สำคัญแก่เรา เราคงจะไม่มีเฟซบุ๊กเพจ Japanthaifanclub อย่างในทุกวันนี้ อีกทั้งความสุขในการเป็นผู้ให้อยู่เบื้องหลัง”
ในเกมที่เราเข้าไปเล่นอย่างที่เราไม่รู้ตัว บางทีเราก็กลายเป็นผู้แพ้อย่างไม่ตั้งใจแต่เมื่อทบทวนได้แล้วว่า เราจำเป็นต้องเล่นเกมนี้ และมองให้ออกว่าเกมนี้เล่นอย่างไร เราอาจจะชนะก็ได้และสำหรับติวเตอร์ตู่ ทางออกของเกมดราม่าไม่ใช่แค่แพ้-ชนะแต่ทำยังไงทุกคนถึงจะวิน-วิน ทั้งสองฝ่ายต่างหา
เคล็ดลับการเก็บข้อมูลการเดินทางของติวเตอร์ตู่
โลกออนไลน์มีข้อมูลที่ให้เราเลือกสรรและเหมาะกับเราอีกเพียบเราคนเดียวคงไม่ไหว ยังมีคนเก่งๆ กว่าเราอีกเยอะ เคล็ดลับที่จะได้ความรู้ดีๆ ก็คือต้องรวมความคิดกัน พี่จึงได้เปิดกลุ่มเฟซบุ๊ก “กลุ่มแบ่งปันลายแทงของฝากจากญี่ปุ่น” เป็นกลุ่มที่เราเปิดขึ้นมาให้สมาชิกได้แชร์เรื่องราวและข้อมูลที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นของกิน ของใช้ รวมถึงลายแทงท่องเที่ยวเล็กๆ น้อยๆ สมาชิกทั้งหลายก็เข้าไปส่องดูและเก็บข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ แถมสมาชิกที่กลับมาจากญี่ปุ่นก็มาแบ่งปันคืนกันในกลุ่ม ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย พี่เองก็ได้ความรู้ดีๆ ที่สมาชิกมาช่วยแบ่งปันด้วยเช่นกันครับ