Slow Life in Nan – ชีวิตเรียบง่ายที่น่าน

ใช้ชีวิตแบบค่อยเป็นค่อยไป ชะลอตัวเองไม่ให้ไหลอย่างไร้ทิศทางไปตามกระแสสังคม ทำทุกอย่างให้ช้าลงนิดเพื่อให้มีสติและซึมซาบความหมายของชีวิตมากขึ้น

สร้างสมดุลแห่งช่วงเวลาในชีวิตอย่างเหมาะสมออกไปสูดอากาศธรรมชาติเพื่อฟื้นฟูตัวเอง ทั้งหมดนี้เรียกว่าการใช้ชีวิตแบบไม่เร่งรีบ (Slow life) และเมืองที่เหมาะกับการไปฟื้นฟูหรือรีเฟรซตัวเองคงหนีไม่พ้น เมืองน่านแห่งนี้

ปัจจุบันการเดินทางไปน่านสะดวกสบายมาก เพราะสามารถนั่งรถประจำทางออกจากกรุงเทพฯ ช่วงค่ำ หลับหนึ่งตื่นก็ถึงน่านในช่วงเช้าได้ หรือใครขับรถยนต์ส่วนตัวไป ตลอดเส้นทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหน้าฝน กรีนซีซั่น (Green Season) เช่นนี้ ตลอดสองข้างทางงดงามมาก แต่ถ้าใครไม่อยากนั่งรถนาน มีเที่ยวบินบินตรงไปน่านไปสะดวกมากเพียงแค่ 1 ชั่วโมงนิดๆคุณก็สามารถไปสัมผัสบรรยากาศที่เป็นเอกลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณีและแหล่งท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ที่น่าสนใจ ที่ตัวเมืองน่านได้แล้ว สำหรับตัวเมืองน่าน เราสามารถเที่ยวได้แบบเต็มอิ่มไม่แพ้โซนนอกเมืองกันเลย

เริ่มจากโซนน่านกลาง เขตเมืองเก่าน่านที่เต็มเปี่ยมไปด้วยวัดเก่าแก่ โบราณสถานและความสวยงามสถาปัตยกรรม บ้านเรือนแบบโบราณที่ยังมีให้เห็น เส้นทางเมืองเก่านอกจากจะขับรถท่องเที่ยวแล้ว ยังสามารถเดินเที่ยว หรือปั่นจักรยานเที่ยวชมได้อย่างสบายๆ เพราะแต่ละสถานที่อยู่ไม่ห่างกันอย่างวัดภูมินทร์ วัดสำคัญของเมืองน่าน อยู่คู่เมืองน่านมากว่า 400 ปีแล้ว

มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น โดยเฉพาะพระอุโบสถ ซึ่งมีลักษณะเป็นทรงจตุรมุข มีแห่งเดียวในประเทศไทยรัฐบาลไทยเคยพิมพ์รูปวัดภูมินทร์ลงบนธนบัตรใบละ 1 บาท ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้านนอกบริเวณทางขึ้นพระอุโบสถจะมีรูปปั้นพญานาค 2 ตัว จึงดูคล้ายกับว่าอาคารแห่งนี้ตั้งอยู่บนหลังพญานาค และจิตรกรรมฝาผนัง ปู่ม่านย่าม่าน “ภาพกระซิบรักบันลือโลก” ที่หลายคนรู้จักกันดี

ในอาณาบริเวณที่ใกล้เคียงกันยังมีวัดอีกหลายแห่งให้เราได้ไปกราบไหว้บูชา ไม่ว่าจะเป็นวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร หรือเดิมชื่อวัดหลวงกลางเวียง หนึ่งในวัดสวยที่มีอายุมากกว่า 600 ปี เป็นอีกหนึ่งวัดที่มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ วัดนี้ได้รับการสร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบล้านนาไทยโบราณ

ภายในวัดยังประดิษฐานเจดีย์ช้างค้ำทรงลังกา สูงตระหง่านมีรูปปั้นรูปช้างครึ่งตัวประดับอยู่โดยรอบ ลักษณะเหมือนฐานรองรับไว้ด้านละ 6 เชือก รวมทั้งหมด 24 เชือกเป็นศิลปะที่น่านรับผ่านอาณาจักรสุโขทัย มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์

วัดมิ่งเมืองหรือเสาหลักเมืองน่าน หลังจากได้รับการบูรณะ ตัวอุโบสถหลังใหม่ของวัดเป็นแบบล้านนาร่วมสมัย ก่อสร้างตัวอาคารด้วยฝีมือสล่าพื้นบ้านเมืองน่าน ลวดลายปูนปั้นที่ผนังด้านนอกของพระอุโบสถ เป็นความสวยงามวิจิตรบรรจงจากฝีมือสกุลช่างเชียงแสนโบราณ ส่วนภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถเป็นภาพตำนานประวัติความเป็นมาของเมืองน่าน

พร้อมไฮไลต์ที่เป็นมงคลให้สักการะมากมาย เช่น เสาหลักเมืองพระพักตร์พรหม 4 หน้า, สักการะท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4และการลอดใต้ท้องช้างเพื่อเป็นสิริมงคล

วัดพญาภู สำหรับใครที่ต้องการมากราบพระประธานองค์ใหญ่ที่สุดของจังหวัดน่าน ให้มาที่วัดนี้เลย นับว่าเป็นหนึ่งในวัดงามและวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของเมืองน่าน ตั้งเมื่อ พ.ศ. 1956
วัดกู่คำ หนึ่งความโดดเด่นของวัดกู่คำคือโบราณสถานและโบราณวัตถุ ทั้งองค์พระประธานในอุโบสถ รวมถึงลวดลายดาวบนเพดานที่เป็นศิลปะแบบพม่าที่ยังคงเหลืออยู่ในจังหวัดน่าน

วัดหัวข่วง ใกล้พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน เป็นวัดเก่าแก่ที่สวยงามอีกวัดหนึ่งของน่าน ทั้งวิหารและเจดีย์มีลักษณะศิลปกรรมแบบท้องถิ่นล้านนา สกุลช่างเมืองน่านฝีมือประณีตงดงาม นอกจากนี้ยังมีหอไตรเก่าแก่ตั้งโดดเด่นอยู่บริเวณกลางวัด

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ที่แต่เดิมเป็นคุ้มของเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช อดีตเจ้าผู้ครองนครน่าน มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ภายในพิพิธภัณฑ์ได้มีการเก็บรักษาโบราณวัตถุ และสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองน่านและถิ่นล้านนา

สิ่งสำคัญภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็คือ “งาช้างดำ” ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุคู่เมืองน่านมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้บริเวณด้านหน้าของอาคารยังมีอุโมงค์ลีลาวดีหรือจำปาลาว โค้งต้อนรับเป็นซุ้มปกคลุมทางเดินสองข้างทาง ทำให้บรรยากาศสงบร่มเย็นเหมาะแก่การพักผ่อนเดินเล่น ถ่ายรูปสวยๆ ได้

นอกจากวัด เขตเมืองเก่า ยังมีความสวยงามทางสถาปัตยกรรม และคุณค่าทางประวัติศาสตร์อีกมาก ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เป็นที่ตั้งของ คุ้มเทพมาลา คุ้มหลังนี้ตามประวัติกล่าวว่า เป็นที่พำนักของเจ้านางเทพมาลา ธิดาคนแรกของเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ปัจจุบันเป็นที่พำนักของทายาทเจ้าบุญศรี เมืองชัย ต่อมาขายให้กับเจ้าบุญศรี เมืองชัย น้องชายแม่เจ้าบุญโสม ณ น่าน ชายาเจ้าราชบุตร (หมอกฟ้า ณ น่าน) ปัจจุบันเป็นที่พำนักของทายาทเจ้าบุญศรี เมืองชัย

และคุ้มเจ้าราชบุตร เจ้าอนันตวรฤทธิเดชสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2409 เพื่อเป็นที่อยู่ของเจ้าน้อยมหาพรหม ณ น่านและชายาคือแม่เจ้าศรีโสภา ต่อมาเมื่อท่านได้รับสถาปนาเป็นเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 64 จึงย้ายไปประทับที่หอคำและยกคุ้มแห่งนี้ให้บุตรชายคือเจ้าประพันธ์พงศ์ (เจ้าน้อยหมอกฟ้า ณ น่าน) ปัจจุบันได้ตกแก่ทายาท เจ้าสมปรารถนา ณ น่านเป็นผ้ดูแล และยังมีอาคารทองคำบ้านคุณหลวงเฮือนเจ้าหมอกฟ้า คุ้มเมฆวดี คุ้มเจ้าบัวเขียวและโฮงเจ้าฟองคำ มีการจัดแสดงของใช้โบราณให้ได้ชมได้ศึกษา อย่างไรแล้วสถานที่บางแห่งอาจจะยังไม่เปิดให้เข้าชมภายในคุ้ม แต่ก็ได้เห็นถึงร่องรอยสถาปัตยกรรม ความสวยงาม

บริเวณริมฝั่งแม่น้ำน่าน เราสามารถเข้ากราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลได้ที่วัดศรีบุญเรือง

วัดแห่งนี้มีต้นมะธง อายุกว่า 1 พันปี หนึ่งเดียวในจังหวัดน่านและชุมชนบ้านศรีบุญเรือง ชุมชนริมแม่น้ำน่าน มีเสน่ห์วัฒนธรรม ซึ่งแม้จะเป็นชุมชนติดเขตเมือง แต่ชาวบ้านยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตชาวเหนือ

มีกิจกรรมการฟั่นเทียนเขียนชะตา การสะเดาะเคราะห์เสริมโชคลาภแก่เจ้าของเทียน นักท่องเที่ยวสามารถฟั่นเทียนจากขี้ผึ้งได้ด้วยตัวเอง โดยวิทยากรจะเป็นผู้เขียนอักขระล้านนา มีชื่อ วันเดือนปีเกิด พร้อมทั้งลงคาถากำกับ จากนั้นนักท่องเที่ยวจะเป็นคนใส่ไส้เทียนเท่ากับอายุจริงของตนเอง ม้วนให้แน่นเป็นแท่งกลม โดยระหว่างที่ม้วนเทียนนั้นต้องนึกถึงสิ่งดีงามรวมทั้งคุณงามความดีตลอดการม้วน ทำทั้งหมด 2 เล่ม เล่มแรกเพื่อสะเดาะเคราะห์ เล่มสองเพื่อรับโชคเสริมดวง เมื่อปั้นเสร็จแล้วนักท่องเที่ยวจะได้เทียนที่ฟั่นติดตัวไปเพื่อไปไหว้ที่หอพระแก้วสยามน่าน บนเรือนมะเก่า โดยเชื่อว่าขณะจุดไฟ ถ้าไฟติดสว่างโชติช่วงไม่ติดๆ ดับๆ ชีวิตของผู้ทำฟั่นเทียนจะมีดวงชะตาที่สดใส

ขับต่อออกไปนิดก็คือ วัดพระธาตุแช่แห้งพระอารามหลวง ถือเป็นพระธาตุที่มีความสำคัญมากที่สุดของจังหวัดน่าน ได้รับการอุปถัมภก์ บูรณปฏิสังขรณ์ ในหลายรัชกาลตั้งแต่เริ่มสถาปนาพระธาตุขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 – 20 และยังคงเป็นศาสนสถานคู่บ้านคู่เมืองน่านจวบจนทุกวันนี้ มีคุณค่าทั้งทางด้านศิลปะสถาปัตยกรรม และโบราณคดีอย่างสูง ตามความเชื่อเรื่องการไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของชาวล้านนา เชื่อว่าคนเกิดปีเถาะ (ปีกระต่าย) มีพระธาตุประจำปีเกิด คือ“พระธาตุแช่แห้ง” ซึ่งผู้ที่เกิดปีเถาะ อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตควรหาโอกาสไปกราบนมัสการพระธาตุแช่แห้งสักครั้ง เพื่อเป็นการเสริมบุญบารมีให้เกิดความเป็นสิริมงคลในชีวิต

ไม่ไกลกันนั้นห่างไปเพียงแค่ 5-6 นาทีที่บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตื๊ด อำเภอภูเพียง มีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเวิรค์ชอป มีกิจกรรมทดลองเพาะเห็ดนางฟาง การเก็บสมุนไพรเพื่อนำไปทำลูกประคบ ลงมือทำอาหารท้องถิ่นและการทำสบู่ น้ำยาสระผมจากดอกอัญชันและการทำโคมมะเต้า โคมที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน และยังสามารถเลือกซื้อสินค้าของชุมชน งานหัตถกรรมที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ้าทอมือ ลายแมงมุมอ้อมยุ้มตีนหมีลายแว่นแก้ว ลายสี่กษัตริย์ เครือวัลย์ และผ้าด้นมือ ซึ่งล้วนสะท้อนอัตลักษณ์ เสน่ห์ชุมชน รวมทั้งอาหารท้องถิ่น อาหารพื้นเมืองแกงแค แกงฮังเล น้ำพริก อ่อง หนุ่ม หมูคั่วมะเขือเทศ ข่า และ ขนมพื้นบ้าน ขนมเทียนแก้วข้าวต้มโบ๊ะที่มีวัตถุดิบประกอบด้วย กล้วยเผือก ถั่ว

และยังสามารถเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของชุมชน ที่สะสมวัตถุโบราณเก่าแก่ที่พบในชุมชนนอกจากชุมชนบ้านศรีบุญเรือง ชุมชนริมแม่น้ำน่านที่มีวิถีชีวิตที่น่าสนใจแล้ว เส้นทางท่องเที่ยวดื่มด่ำศิลปะ สัมผัสวิถีชีวิตริมแม่น้ำน่านที่น่าไปเยี่ยมเยือนอีกแห่งคือ หอศิลป์ริมน่าน ที่เปรียบเสมือนโอเอซิสทางศิลปะดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้หลงใหลในงานศิลปะให้มาสัมผัสความงดงาม สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่า สะท้อนเอกลักษณ์ล้านนา ผ่านแรงบันดาลใจของศิลปินน่านและศิลปินไทยร่วมสมัย แหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะที่มีความสำคัญของจังหวัดน่าน เกิดจากความมุ่งมั่นของ คุณวินัย ปราบริปู ศิลปินชาวน่าน ที่ต้องการสร้างสรรค์บ้านเกิดให้เป็นเมืองแห่งศิลปะอย่างแท้จริง

ก้าวแรกสู่หอศิลป์ สัมผัสบรรยากาศร่มรื่นเต็มไปด้วยกลิ่นอายล้านนา สถาปัตยกรรมอันโดดเด่น ผสานความทันสมัยและกลิ่นอายดั้งเดิม เริ่มต้นการเดินทางด้วย พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเฮือนพญาผาบ ชมโบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ สัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวน่านดื่มด่ำงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ อาคารริมน้ำ แหล่งรวมงานศิลปะหมุนเวียน ผลงานจากศิลปินน่านและทั่วประเทศ ชมนิทรรศการพิเศษ เรียนรู้เรื่องราวผ่านงานศิลปะ อาคารใหญ่ชมผลงานจิตรกรรม ประติมากรรมของคุณวินัย ปราบริปู ศิลปินผู้ก่อตั้งหอศิลป์ สัมผัสฝีแปรงอันเฉียบคม สะท้อนมุมมอง ชีวิตวัฒนธรรม ผ่านผลงานอันทรงคุณค่า เฮือนศรีนวล พื้นที่เอนกประสงค์ จิบชา กาแฟ ชมวิวแม่น้ำน่าน ผ่อนคลายท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น หอศิลป์ริมน่าน มากกว่าแหล่งชมงานศิลปะ แต่คือพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ดื่มด่ำวัฒนธรรม สัมผัสวิถีชีวิต เติมเต็มความประทับใจให้กับการท่องเที่ยวเมืองน่าน

ปิดท้ายอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญและเก่าแก่ของจังหวัดน่านอีกแห่ง นั่นก็คือ วัดพระธาตุเขาน้อย ตั้งอยู่บนยอดดอยเขาน้อย ทางด้านตะวันตกของตัวเมืองน่านจากตัวเมืองขับรถไปประมาณ 10 นาที องค์พระธาตุตั้งอยู่ด้านบนเขาสามารถขับรถขึ้นไปจอดด้านบน เดินนิดเดียวถึงองค์พระธาตุเลย

หรือใครจะจอดหน้าวัด ก็มีทางขึ้นเป็นบันไดนาค 303 ขั้น ให้ทดสอบพละกำลังและแรงศรัทธากันได้ สำหรับวัดแห่งนี้เป็นวัดที่มีศิลปะจากทางพม่ามาผสมกับทางล้านนาอย่างสวยงาม องค์เจดีย์ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ สันนิษฐานว่ามีสร้างขึ้นในสมัยเดียวกับพระธาตุแช่แห้ง สำหรับไฮไลต์ของที่นี่ก็คือพระพุทธรูปปางลีลาองค์ใหญ่หรือพระพุทธมหาอุตมมงคลนันทบุรีศรีเมืองน่าน ที่หันไปทางเมืองน่าน เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามสามารถเห็นน่านจากมุมสูงได้กว้าง 180 องศาเห็นขุนเขาน้อยใหญ่ที่โอบล้อมเมืองน่าน

ยิ่งในช่วงฤดูฝนเช่นนี้ หากมาช่วงเช้า ช่วงหมอกลงก็จะเห็นความสวยงามท่ามกลางไอหมอกของเมืองน่านไปเป็นอย่างดี และถ้าคุณได้มาน่านสักครั้ง คุณจะรู้ว่าการใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์อยู่บรรยากาศเมืองที่แสนร่มรื่น มันน่ารื่นรมย์แค่ไหน

การเดินทางมาน่าน
รถส่วนตัว : จากกรุงเทพฯ – น่านใช้เวลาเดินทางประมาณ 8-9 ชั่วโมง รวมระยะทาง
670 กิโลเมตรที่ตลอดสองข้างทางเต็มไปด้วยวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูฝนหรือที่เรียกว่า Green Season เช่นช่วงนี้
รถประจำทาง : สายกรุงเทพฯ-น่าน ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ทั้งรถโดยสารแบบธรรมดาและปรับอากาศ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 9-10 ชั่วโมง มีเที่ยวรถที่ออกเดินทางช่วงบ่าย และช่วงค่ำ
เครื่องบิน : สายการบินที่มีบริการ เส้นทางกรุงเทพฯ – น่าน ได้แก่ นกแอร์ และไทยแอร์เอเซียมีทั้งเที่ยวบิน รอบเช้าและรอบบ่าย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1-1.30 ชั่วโมง

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0