สีสัน…มรดกสยาม จากกรุงศรีอยุธยามหายุทธ
เรื่องโดย อ.พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ
ด้วยเหตุที่กรุงศรีอยุธยา เป็นอาณาจักรของสยามประเทศตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญของการเปลี่ยนราชวงศ์ การสงครามสู้รบกับข้าศึก มีการติดต่อการค้าขายและเปิดประเทศให้มีสัมพันธไมตรีกับชาติต่างๆ เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย ญี่ปุ่น เปอร์เซีย รวมทั้งชาติตะวันตก เช่น โปรตุเกส สเปน เนเธอร์แลนด์ (ฮอลันดา) อังกฤษ และฝรั่งเศส จนเป็นศูนย์กลางนานาชาติ และเป็นราชธานีอยู่ในช่วง พ.ศ. ๑๘๙๓ – พ.ศ. ๒๓๑๐
ซึ่งช่วงเวลาหนึ่งนั้นสามารถแผ่อำนาจไปมีประเทศราชในดินแดนต่างๆ เช่น รัฐชานของพม่า อาณาจักรล้านนา มณฑลยูนนาน อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรขอม และคาบสมุทรมลายู แม้ว่าวันนี้จะยังเหลือร่องรอยความเสียหายจากภัยสงครามแล้ว ก็ยังเป็นที่สนใจใคร่รู้ถึงอดีตที่เคยสง่างามตามความที่ปรากฏในเอกสารของชาวต่างประเทศ และเป็นแหล่งมรดกโลกที่มีความจำในประวัติศาสตร์มายาวนานกว่า ๔๐๐ ปี
สีสันของกรุงศรีอยุธยาในปัจจุบันยังคงเป็นเกาะ ที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำป่าสักทางทิศตะวันออก, แม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกและทิศใต้ และแม่น้ำลพบุรีทางทิศเหนือ เดิมบริเวณนี้ไม่ได้เป็นเกาะ แต่เมื่อสมเด็จพระเจ้าอู่ทองได้สถาปนาพระนครจึงมีพระราชดำริให้ขุดคูเชื่อมแม่น้ำทั้งสามสาย ให้เป็นปราการธรรมชาติป้องกันข้าศึก ซึ่งก่อนหน้านั้นพื้นที่ตอนล่างของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้เป็นที่ตั้งของเมืองสังขบุรี อโยธยาศรีรามเทพนคร เสนาราชนคร และกัมโพชนคร
ต่อมา ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เมื่ออาณาจักรขอมและแคว้นสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลง พระเจ้าอู่ทอง มีพระราชดำริจะย้ายเมืองและสถาปนาเมืองขึ้นใหม่มีชื่อว่า “กรุงเทพ ทวารวดีศรีอยุธยา” เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓
ในไม่ช้ากรุงศรีอยุธยาแห่งนี้ก็เติบโตเป็นอาณาจักรที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคนี้ เริ่มครองความเป็นใหญ่จากการสู้รบขยายอาณาจักรไปยังนครรัฐทางเหนือ อย่างสุโขทัย กำแพงเพชรและพิษณุโลก อีกทั้งยังสามารถตีเอาเมืองพระนครหรือนครธมนครวัด ซึ่งเคยมีอำนาจในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้
กรุงศรีอยุธยาศูนย์อำนาจแห่งใหม่นั้นอยู่ห่างจากอ่าวไทยไม่มากนัก จึงทำให้กรุงศรีอยุธยาได้เป็นศูนย์กลางการค้ากับชาวต่างประเทศ ในลักษณะ “เมืองท่าตอนใน” ที่รวมแม่น้ำใหญ่และตั้งชุมชนตลาดอยู่โดยรอบจนเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค ที่มีสินค้ามากกว่า ๔๐ ชนิดจากผลการสู้รบในสงครามและจากการบรรณาการ ที่ทำให้มีการขุดลัดตัดแม่น้ำหลายแห่งเพื่อการเดินเรือค้าขายได้สะดวกขึ้น
ซึ่งปรากฏว่าในราว พ.ศ. ๒๑๔๓ นั้นพลเมืองในกรุงศรีอยุธยามีประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ คน ต่อมาอีกร้อยปีใน พ.ศ. ๒๒๔๓ นั้นมีพลเมืองน่าจะถึง ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน ด้วยความครึกครื้นในสภาพสถานีการค้าของชาวต่างชาติที่มีเรือขนสินค้าเข้าออกและโกดังเก็บสินค้า จึงทำให้มีการเรียกขานกรุงศรีอยุธยาแห่งนี้ว่า “เวนิสแห่งตะวันออก”
กษัตริย์กรุงศรีอยุธยานั้นมี ๕ ราชวงศ์ ได้แก่ ราชวงศ์อู่ทอง มีกษัตริย์ ๓ พระองค์ ราชวงศ์สุพรรณภูมิ มีกษัตริย์ ๑๓ พระองค์ ราชวงศ์สุโขทัย มีกษัตริย์ ๗ พระองค์ ราชวงศ์ปราสาททอง มีกษัตริย์ ๔ พระองค์ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีกษัตริย์ ๖ พระองค์รวมมีกษัตริย์ทั้งสิ้น ๓๓ พระองค์ และบุคคลนอกราชวงศ์อีก ๑ คน ซึ่งแต่ละราชวงศ์นั้น ได้ทำสงครามสู้รบกับข้าศึก การชิงอำนาจในราชวงศ์และทำการค้าสร้างความเจริญ จึงปรากฏร่องรอยความอลังการงานสร้างของพระราชวังหลวง วัดวาอาราม และสถานที่สำคัญ
ซึ่งปัจจุบันเป็นโบราณสถานที่มีโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมและร่องรอยความงดงามจากศิลปกรรม เครื่องทองจากกรุในพระปรางค์ ลายปูนปั้น ไม้จำหลัก โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซึ่งบางแห่งยังไม่ถูกทำลายไปจากเหตุสงคราม ซึ่งสามารถชมได้จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่ยังสืบสานศิลปวัฒนธรรม ให้เห็นว่า กรุงศรีอยุธยานั้นเคยรุ่งเรืองจนเป็นที่กล่าวขานไปทั่ว