สีสัน…ปราสาทพราหมณ์ “ศรีชเยนทรวรมัน”
เรื่องและภาพโดย อ.พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ
ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของ “สทาศิวะ” พราหมณ์โบราณนั้น อยู่ที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม ซึ่งตั้งอยู่บ้านหนองหญ้าแก้ว หมู่ที่ ๙ ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งใหม่เพื่อการเรียนรู้และท่องเที่ยว

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศูนย์การเรียนรู้และทอดพระเนตรอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธมเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๔๓ น.

ด้วยเหตุที่เป็นปราสาทขนาดใหญ่อยู่ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชาประมาณ ๑ กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่อันตรายจึงถูกทิ้งไปด้วยสถานการณ์ภัยสงคราม แต่ด้วยเหตุความสำคัญทางประวัติศาสตร์นั้นกรมศิลปากรจึงได้บูรณะฟื้นคืนรูปปราสาทที่กองพะเนินด้วยวิชาการแบบใหม่คือวิธีอนัสติโลซิส เป็นวิธีเรียงก้อนหินเข้าที่ซึ่งต้องใช้เวลานานปีกว่าจะสำเร็จให้เห็นเป็นปราสาทใหญ่

ศาสนสถานหรือปราสาทนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๕๙๕ ในสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ (พ.ศ. ๑๕๙๓-๑๖๐๙) ที่สร้างประทานแด่พระราชครู ผู้ลาสิกขาจากสมณเพศคือ “ศรีชเยนทรวรมัน” ซึ่งมีนามเดิมว่า “สทาศิวะ” ด้วยพระราชครูผู้นี้มีศักดิ์เป็นพระชามาดาของพระเจ้าสูรยวรมัน ที่ ๑ อีกทั้งเป็นผู้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกถวายแด่ พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒

ปราสาทแห่งนี้จึงถูกสร้างเป็นพิเศษคือ สร้างปราสาทที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมร สำหรับพิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ประกอบด้วยปราสาทองค์ประธานประดิษฐานศิวลึงค์และฐานโยนีสำหรับพิธีกรรม บรรณาลัย ๒ หลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งล้อมรอบด้วยระเบียงคดและกำแพงแก้ว อาคารทั้งหมดนั้นก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ตกแต่งพื้นผิวในพื้นที่สำคัญด้วยการแกะสลักลวดลายลงบนเนื้อหินให้เป็นภาพเล่าเรื่องราวในศาสนาพราหมณ์ฮินดูประกอบกับลายพันธุ์พฤกษาที่เป็นศิลปขอมแบบคลัง-บาปวน ที่มีอายุในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖

ตามผังของปราสาทที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกนั้น มี “บาราย” ขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้า เชื่อมต่อด้วย ทางดำเนินประดับที่มี “เสานางเรียง” และซุ้มประตู “โคปุระ” และอาคารมีระเบียงคดหรือโคปุระสร้างจากหินทรายและศิลาแลงล้อมรอบปราสาทชั้นในไว้

หลักฐานสำคัญนั้นได้พบศิลาจารึก ๒ หลัก จารึกเป็นอักษรขอมโบราณจารึกหลักที่๑บอกถึงอายุการสร้างและวัตถุประสงค์ของการสร้าง สำหรับจารึกหลักที่ ๒ เป็นจารึกที่สำคัญมากจารึกถึงลำดับรายพระนามกษัตริย์เขมรสมัยเมืองพระนครถึงพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒


เดิมนั้นปราสาทแห่งนี้น่าจะมีชื่อเดิม ปราสาทศทาศิวะ หรือปราสาทศรีชเยนทรวรมัน แต่ด้วยเหตุปราสาทนี้มีต้นกกขึ้นรกรุงรัง ชาวบ้านจึงเรียกใหม่ จากที่เคยถูกเรียกว่า ปราสาทเมืองพร้าว มาก่อนหน้านั้นว่า ปราสาทสด๊กก๊อกธม คำว่า “สด๊กก๊อกธม” เป็นภาษาเขมร คำว่า “สด๊ก” มาจากคำว่า “สด๊อก” แปลว่า รก ทึบ คำว่า “ก๊อก” แปลว่า ต้นกก และคำว่า “ธม” แปลว่า ใหญ่ ดังนั้น “สด๊กก๊อกธม” จึง แปลว่า ปราสาทขนาดใหญ่ที่รกไปด้วยต้นกก

เดิมนั้นกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทสด๊กก๊อกธมไว้เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ภายหลังเมื่อมีการสำรวจและบูรณะขึ้นแล้วจึงกำหนดเขตพื้นที่โบราณสถานแห่งนี้ใหม่ เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ รวมพื้นที่โบราณสถานปัจจุบัน ๖๔๑ ไร่ ๒ งาน ๘๒ ตารางวา

การฟื้นฟูและอนุรักษ์ปราสาทสด๊กก๊อกธมนั้นกรมศิลปากรได้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๖-๒๕๕๗ ด้วยวิธีอนัสติโลซิส บนพื้นฐานของงานโบราณคดีและดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์เบื้องต้น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยมีลานจอดรถ ห้องสุขา ซุ้มจำหน่ายของที่ระลึก ระบบน้ำ ระบบไฟ และดูแลความสะอาดภายในบริเวณปราสาท หลังสุดสำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ผู้รับผิดชอบพื้นที่ได้ดำเนินการประสานจังหวัดสระแก้วตั้งคณะกรรมการพัฒนาเพิ่มศักยภาพโบราณสถานแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมสู่อาเซียน โดยมีการเตรียมรายละเอียดในการจัดทำแผนแม่บท แผนปฏิบัติการบริหารจัดการและปรับภูมิทัศน์เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งใหม่ ตามมติของการประชุมเมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙

แม้จะอยู่ห่างไกลใกล้ชายแดน ด้วยความสำคัญของการเป็นศาสนสถานที่ศักดิ์สิทฺธิ์ของตระกูลพราหมณ์โบราณ จึงทำให้ได้เรียนรู้ถึงพิธีพราหมณ์โบราณจากที่นี่ได้แห่งเดียว ก่อนจะไปเพลินเพลินกับการซื้อสินค้าจากตลาดโรงเกลือของสระแก้วต่อไป