วันปีใหม่คนญี่ปุ่น
ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หลายประเทศก็มีประเพณีที่ทำสืบต่อแตกต่างกันไป อย่างเช่นที่ประเทศญี่ปุ่น ก็มีประเพณี และวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ในช่วงปีใหม่ที่นิยมทำ ส่วนเขาทำอะไรกันบ้าง
ต้อนรับเทพเจ้าแห่งความโชคดี การตกแต่งบ้านรับปีใหม่ด้วยไม้ไผ่ใบสน (Kadomatsu) เชือกฟางข้าว (Shimekazari) และโมจิ (Kagamimochi)
ช่วงก่อนปีใหม่ แต่ละบ้านก็จะมีการตกแต่งบ้านด้วยของมงคล เช่น บริเวณประตูรั้วบ้านก็จะเห็นเป็น ไม้ไผ่ปลายแหลมแซมด้วยใบสน ใบเฟิร์น ฟางข้าวและสิ่งมงคลต่างๆ โดยมักจะประดับเป็นคู่ทางซ้ายและขวาของประตูรั้ว โดยสนสีเขียวแทนต้นไม้เทพเจ้า และลำไผ่สีเขียวตรงแทนชีวิตที่ยืนยาว เราเรียกสิ่งนี้ว่า ประตูสน หรือ คาโดมัทสึ (Kadomatsu)
และมีการจัดบ้านมุมหนึ่งในพื้นที่เล็กๆ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่าโทโคโนมะ (Tokonoma) โดยมีเครื่องสักการะเป็นโมจิกลมๆ สองลูกเรียกว่าคางะมิโมจิ (Kagamimochi) แทนพระอาทิตย์กับพระจันทร์ วางซ้อนกันอยู่ เชื่อกันว่า เทพเจ้าแห่งความโชคดีจะมาเยี่ยมบ้านเราและมาอวยพรให้เราก่อนวันปีใหม่ และที่ประทับของเทพเจ้าแห่งความโชคดีนั้นก็คือบนโมจินั่นเอง
สมัยก่อนชาวญี่ปุ่นจะช่วยกันตำโมจิ แบบดั้งเดิมที่เรียกว่า โมจิทสึกิ (Mochitsuki) โดยจะเริ่มจากการใส่ข้าวเหนียวลงในอุซุ (Usu) หรือครกไม้ขนาดใหญ่ แล้วก็ต้องมีใครคนหนึ่งใช้สากไม้ที่เรียกว่าคิเนะ (Kine) ตำลงไปเป็นจังหวะ และมีผู้ช่วยอีกคนมาทำหน้าที่ช่วยพลิกโมจิไปด้วยจนกันได้ออกมาเป็นก้อนแป้งโมจิที่นุ่มเหนียวพร้อมจะนำไปทำขนมและอาหารต่อไป แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปก็เปลี่ยนจากการทำมาเป็นการซื้อแทน
ส่งท้ายปีเก่าด้วยการกินโซบะข้ามปี “โทชิโคชิ โซบะ” (Toshikoshi Soba)
วันที่ 31 ธันวาคม หรือวันสิ้นปีชาวญี่ปุ่นจะเรียกวันนี้ว่าโอมิโซกะ (Omisoka) โดยในช่วงเวลาข้ามคืนวันที่ 31 ธันวาคม ถึง 1 มกราคม หลังเที่ยงคืน จะมีการรับประทานโซบะ (soba) ที่เรียกกันว่าโซบะข้ามปี หรือ “โทชิโคชิ โซบะ” (Toshikoshi Soba) กัน
เพราะคนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า การรับประทานโซบะจะทำให้มีอายุยืนยาวเหมือนกับความยาวเส้นของเส้นโซบะเปรียบได้กับการมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาว อีกทั้งลักษณะที่ตัดขาดได้ง่ายก็หมายถึงการตัดเอาเรื่องร้ายๆ ที่ผ่านมาในปีเก่าออกไป สังเกตได้ว่า ช่วงคืนก่อนปีใหม่ร้านโซบะแทบทุกร้านจะเต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมากที่มาทานโซบะข้ามปีกัน
ชมพระอาทิตย์แรกของปี
การชมพระอาทิตย์ขึ้นในวันแรกของปีใหม่ คงไม่ใช่แต่คนญี่ปุ่นที่นิยมทำ หลายประเทศก็นิยมทำ เพราะเชื่อกันว่า แสงของพระอาทิตย์แรกในวันปีใหม่ จะให้พลังที่ดีทำให้เกิดความสุขและการเริ่มต้นที่ดีในปีที่กำลังก้าวเข้ามา
ฮัทสึโมเดะ (Hatsumode) การขอพรปีใหม่ ที่วัดหรือศาลเจ้า
หลังจากชมแสงแรกของพระอาทิตย์แล้ว ประเพณีที่นิยมกันมากอีกอย่างของชาวญี่ปุ่นก็คือชวนกันไปวัดหรือศาลเจ้าเพื่อสวดมนต์ ขอพรปีใหม่ ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ฮัสสึโมเดะ โดยหลังจากที่พระวัดตีระฆังส่งท้ายปีเก่าแล้ว ผู้คนก็จะขอพร ทำบุญและอธิษฐานด้วยการโยนเหรียญลงไปในกล่องหน้าพระประทานหรือที่สักการะเทพเจ้า และหลังจากไหว้พระแล้วก็ไปเสี่ยงเซียมซีพื่อรับใบทำนายที่วัดหรือศาลเจ้าหรือที่เรียกว่า “โอมิคุจิ” เพื่อทำนายว่าในปีนี้ดวงชะตาจะเป็นอย่างไร
โดยมีรูปแบบดวงชะตาราวๆ หนึ่งร้อยรูปแบบ ซึ่งระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องการเงิน, สุขภาพ, ความรัก และอื่นๆ หากอ่านแล้วรู้สึกว่าคือโชคร้าย ตามธรรมเนียมก็จะต้องผูกใบเซียมซีนี้ไว้ในบริเวณวัดหรือศาลเจ้าเพื่อเป็นการทิ้งความโชคร้ายเอาไว้ที่นี่ ส่วนใครที่ได้โชคดีก็มักจะนำใบเซียมซีกลับไปด้วย และซื้อโอมาโมริ หรือเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ที่มีความหมายเป็นสิริมงคลกลับบ้าน
โอเซจิเรียวริ (Osechi Ryori) อาหารมงคลในวันปีใหม่
พอเข้ามาวันที่ 1 มกราคม คนญี่ปุ่นก็จะรับประทานอาหารชุดวันขึ้นปีใหม่ที่เรียกว่า โอเซจิเรียวริ ประกอบไปด้วยอาหารหลายชนิด เตรียมไว้รับประทานใน 3 วันแรกของปีใหม่ จัดในภาชนะคล้ายกับปิ่นโตซ้อนกัน 2 – 3 ชั้น ประกอบด้วยอาหารมงคลอย่างน้อย 3 อย่าง อาหารมงคลยกตัวอย่างเช่น
-คาซูโนโกะ หรือไข่ปลาแฮร์ริง ซึ่งเป็นปลาที่วางไข่เป็นจำนวนมาก หมายถึงการมีบุตรหลานสืบตระกูลต่อไป
-ลูกปลาซาร์ดีนตากแห้ง เป็นสิ่งที่สื่อความหมายถึงการเพาะปลูกพืชไร่ให้ได้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์
-กุ้ง เพราะกุ้งที่มีลำตัวงอเปรียบได้กับการขอให้มีอายุยืนยาวจนหลังคุ้มงอ
-ก้อนทองคำ ทำจากเนื้อเกาลัดนึ่งนำไปบดผสมกับถั่วลันเตาบดและมันฝรั่งบด ปั้นเป็นลูกกลมๆ มีสีเหลืองสวยเหมือนทองคำ เพื่อเป็นสิริมงคลและขอให้มีฐานะร่ำรวย
-คมบุ คือสาหร่ายประเภทหนึ่งที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับความยินดี
-คามาโบโกะ (Kamaboko) คือลูกชิ้นปลาแท่งยาวที่หั่นเป็นแว่นๆ ดูคล้ายพระอาทิตย์ขึ้นในวันปีใหม่หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองเหมือนแสงอาทิตย์
ปัจจุบันอาหารชุดปีใหม่ก็มีจำหน่ายตามร้านทั่วไป ใครไปช่วงปีใหม่ลองมองหาดูได้