ไหลเรือไฟ นครพนม … เปลวแสงแห่งศรัทธากลางห้วงมหานที
Story & Photo : ‘กลางทาง
ความร้อนจากเปลวไฟนับหมื่นดวง กลิ่นน้ำมันผสมควันไฟ ที่ลอยอวลไปทั่ว แถมด้วยกลุ่มควันที่คลุ้งมาเป็นระยะ พร้อมละอองเขม่าที่ปลิวมาตกตามเนื้อตัวซึ่งพอพยายามปัดออกก็กลายเป็นป้ายรอยทางดำๆ ไว้แทนอย่างน่าขัน ยังไม่นับ ผู้คนที่เบียดเสียดวุ่นวาย ทั้งหมดนี้ไม่น่าจะเป็นบรรยากาศที่น่ารื่นรมย์สักนิด แต่สิ่งที่ทำให้ฉันยังคงปักหลักอยู่บริเวณเขื่อนริมโขงช่วงต้นถนนสุนทรวิจิตรอันเป็นจุดที่จะปล่อยเรือไฟของอำเภอนาทมที่จอดเทียบอยู่ริมตลิ่งในขณะนี้คือความรู้สึกทั้งทึ่งและตื่นเต้น แกมนับถือพี่ๆ น้าๆ ลุงๆ ที่กำลังปีนป่ายไล่จุดตะเกียงที่แขวนเรียงรายบนโครงไม้ไผ่สูงเกือบสี่สิบเมตรยาวเกือบร้อยเมตร
ยิ่งเมื่อได้ทราบว่าหลังจากจุดตะเกียงกว่า 25,000 ดวงนี้เสร็จ ต้องรออีกร่วมชั่วโมงกว่าควันจะจางและเรือไฟพร้อมจะถูกปล่อยล่องไปตามลำน้ำ ถึงตอนนั้นก็ยังต้องตามไปเตรียมพร้อมเผื่อว่าดวงไฟดวงไหนถูกลมพัดดับลงระหว่างทางจะได้จุดใหม่ได้ทันท่วงทีเพื่อไม่ให้ลวดลายที่ออกแบบไว้เว้าแหว่งไปอีกด้วย ทั้งต้องทนความร้อน ควันไฟ แถมเสี่ยงอันตรายปีนป่ายไปทั่วเรือที่ล่องไปกลางลำน้ำโขงเป็นชั่วโมงอย่างนี้ไม่นับถือน้ำใจและความเสียสละอย่างไรไหว
ยิ่งเมื่อทราบว่าการทำเรือไฟนี้จะมาทำกันที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงล่วงหน้ากันเป็นเดือนๆ คนทำต้องมาปักหลักกินนอนหุงข้าวต้มแกงกันตรงนั้นกว่าจะต่อแพขึ้นโครงไม้ไผ่และมัดลวดกำหนดเป็นรูปร่าง ก่อนจะนำตะเกียงที่ทำมาจากกระป๋องกาแฟหรือขวดเครื่องดื่มชูกำลังบรรจุน้ำมันก๊าดมาผูกตามโครงลวดเป็นระยะห่างกัน 1 – 2 คืบ เพื่อให้ปรากฏเป็นลวดลายที่สวยงามเมื่อจุดไฟ ทั้งรูปพญานาค พระธาตุพนม พุทธประวัติ ฯลฯ ตามแต่จะออกแบบในแต่ละปีก็ยิ่งซูฮกในความทุ่มเทมากขึ้นไปอีก ประเพณีไหลเรือไฟ หรือออกเสียงแบบคนอีสานว่า ไหลเฮือไฟ เป็นประเพณีที่จัดขึ้น ในคืนวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งตรงกับวันที่พระสูตรระบุว่าเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ หลังเสด็จไปแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรืออีกความเชื่อคือมีจุดประสงค์เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตามตำนานกล่าวว่า ทรงประทับไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานทีเมื่อครั้งเสด็จโปรดพญานาคที่เมืองบาดาล อีกทั้งเพื่อเป็นการขอขมาลาโทษต่อแม่น้ำที่ได้อาศัยหล่อเลี้ยงชีวิตมาตลอดทั้งปี
แต่เดิมนั้นเรือไฟจะเป็นเพียงเรือลำเล็กที่สร้างจากไม้ไผ่และหยวกกล้วย และใช้ผ้าจีวรเก่ามาฉีกเป็นริ้วชโลมน้ำมันสนหรือน้ำมันยางก่อนนำไปตากให้แห้งแล้วนำมาผูกเป็นปมไว้ตลอดลำเรือ เมื่อถึงเวลาก็จะนำไปลอยพร้อมทั้งจุดไฟให้สว่างไสวเป็นพุทธบูชา ครั้นพอมาถึงยุคใหม่จากเรือไฟหยวกกล้วยลำเล็กๆ ก็ใหญ่โตวิจิตรพิสดารขึ้นเป็นลำดับ แต่ที่ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงคือดวงไฟที่ถูกจุดขึ้นด้วยมือคนทีละดวงๆ ไม่มีการใช้ไฟฟ้าหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยแต่ประการใด นับเป็นเสน่ห์อีกหนึ่งอย่างของเรือไฟเหล่านี้ เพราะเปลวไฟที่พลิ้วไหวตามแรงลม สะท้อนประกายระยิบในริ้วคลื่นนั้นดูมีชีวิตชีวาอย่างที่ดวงไฟฟ้าที่สว่างเจิดจ้าไม่อาจเทียบได้จริงๆ
ฉันผละจากจุดปล่อยเรือเดินเลียบริมฝั่งแม่น้ำโขงฝ่าผู้คนที่เริ่มจะหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ เพื่อไปหาทำเลสำหรับปักหลักรอชมขบวนเรือที่มีจำนวนกว่าสิบลำที่จัดทำโดยหน่วยงานและอำเภอต่างๆ ในจังหวัดนครพนมพร้อมกับผู้คนจำนวนมหาศาลที่จับจองพื้นที่ริมฝั่งน้ำกันจนแน่นขนัด และเมื่อถึงเวลาที่เฝ้าชมเรือที่ถูกจุดขึ้นจนสว่างไสวด้วยดวงไฟนับหมื่นดวงที่เรียงรายเป็นภาพต่างๆ ลอยลำผ่านมาให้ดูทีละลำ พร้อมทั้งพลุไฟที่มีทั้งถูกจุดขึ้นบนฟ้าและพ่นลงในน้ำชนิดจัดเต็มกันสุดๆ ทั้งสวยงามและน่าตื่นตาตื่นใจจนเรียกเสียงฮือฮาจากคนที่เฝ้าชม บนฝั่งไม่ขาดระยะก็ยิ่งทำให้ฉันรู้สึกทึ่งและชื่นชม เพราะทั้งหมดทั้งมวลนี้โดยแก่นแท้แล้วก็คือเครื่องแสดงพลังศรัทธาในพุทธศาสนา ภูมิปัญญา ความสามัคคีและวัฒนธรรมที่ดีงามของท้องถิ่นนั่นเอง
งานประเพณีไหลเรือไฟ และงานกาชาดจังหวัดนครพนม จะจัดขึ้นในช่วงเทศกาลออกพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 บริเวณเลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร ร่วมงานพาแลงและลอยเรือไฟโบราณ ชมขบวนเรือไฟที่ยิ่งใหญ่อลังการเหนือลำน้ำโขง ในคืนวันออกพรรษา เที่ยวงานกาชาด ชมการออกร้านจำหน่ายสินค้านานาชนิด สินค้าโอท็อป และการแสดงพื้นเมือง และพลาดไม่ได้กับพิธีรำบูชาองค์พระธาตุพนมของ 7 ชนเผ่าชาวนครพนมที่สวยสดงดงามตระการตา ในช่วงเช้าของวันออกพรรษา ณ บริเวณหน้าวัดพระธาตุพนมวรวิหาร