Cool…Kyiv
Story & Photo by Kanjana Hongthong
นครหลวงของยูเครน (Ukraine) อย่างกรุงเคียฟ (Kyiv) ต้อนรับฉันด้วยกลิ่นอำนาจของรัสเซียที่ยังแฝงและฝังลึกอยู่ตามตึกตรอกซอกซอยและหัวมุมถนน แม้กระทั่งจัตุรัสอิสรภาพ (Independent Square) ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงของประเทศยูเครน ยังมีกลิ่นรัสเซียติดอยู่
เคียฟดูยิ้มยากกว่าเมืองไหนๆ ก็จริง แต่ใช่ว่าจะหน้าตาบูดบึ้ง เมืองหลวงแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 แต่ทุกวันนี้เคียฟคือเมืองคูลๆ ของยุโรป ที่นักเดินทางต่างอยากเข้าหา
เดิมทีเคียฟคือเมือง “Kyivan Rus” ที่ในอดีตเป็นเมืองหลวงของชาวสลาฟ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองนับแต่ยุคศตวรรษที่ 9 จนถึงศตวรรษที่ 11 ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติของเคียฟ ทำให้พื้นที่เหมาะแก่การเกษตรกรรมและเพาะปลูก เจ้าความอุดมสมบูรณ์นี่เอง ที่ทำให้เคียฟเนื้อหอมมาแต่ไหนแต่ไร
เนื้อแท้ของเคียฟคือเมืองสวยที่มีโบสถ์กระจายอยู่ทั่วเมือง และหนึ่งในโบสถ์สุดสวยของเคียฟคือโบสถ์เซนต์ไมเคิล โกลเดน โดม (St.Michael’s Golden Domed Monastery) โบสถ์ที่เป็นจิตวิญญาณของชาวยูเครน ในยุคสตาลินอันโหดร้าย โบสถ์แห่งนี้ถูกทำลาย แต่ประชาชนเรียกร้องให้ปรับปรุงและบูรณะขึ้นใหม่
จนถึงศตวรรษที่ 17 – 18 โบสถ์ใหญ่ของที่นี่ได้ปรับปรุงใหม่ในสไตล์ยูเครเนี่ยน-บาร็อก สีฟ้าสดของตัวโบสถ์ กระตุ้นให้ฉันเร่งฝีเท้าเข้าสู่โบสถ์ทรงหัวหอมคว่ำ เมื่อสีฟ้าถูกตัดด้วยยอดโดมสีทอง ยิ่งขับให้โบสถ์แห่งนี้งดงามจับใจ
ผละจากโบสถ์สีฟ้าสดอันโดดเด่น ฉันเดินทอดน่องอยู่ริมแม่น้ำดนีโปร (Dnipro) อารามงามโอ่อ่าที่ชื่อเคียฟ เปเชอรสกา ลาฟรา (Kyiv-Pecherska Lavra Monastery) ทอดตัวอยู่ริมฝั่งน้ำ ไม่ว่ายูเครนจะเป็นวันที่รื่นรมย์หรือขมขื่น แต่อารามของชาวคริสต์นิกายออโธดอกซ์แห่งนี้ ยังคงวางตัวเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเคียฟอยู่เสมอ
บาทหลวงแอนโธนีได้สร้างโบสถ์แห่งนี้เมื่อปี ค.ศ. 1051 กระทั่งถึงศตวรรษที่ 11 ได้กลายเป็นศูนย์กลางของการเผยแพร่และแผ่ขยายไปสู่หมู่ชาวคริสต์ และมีการบันทึกเรื่องราวเก็บไว้ในบันทึกประวัติศาสตร์ในยุคของ “Kyivan Rus” ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงเป็นศูนย์กลางทางศาสนาคริสต์ของชาวยูเครนเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางนิกายออโธดอกซ์ในยุโรปตะวันออกอีกด้วย
นอกจากจะเต็มไปด้วยสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวยูเครนแล้ว ภายในบริเวณ Kyiv-Pecherska Lavra Monastery ยังมีพิพิธภัณฑ์ของจิ๋ว ที่ทุกอย่างดูไม่ได้ด้วยตาเปล่า และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ที่ไม่เพียงบอกที่มาที่ไปของยูเครนเท่านั้น แต่ยังเป็นขุมทรัพย์แหล่งใหญ่สุดของยูเครนเลยก็ว่าได้ เพราะที่นี่รวมเอาทรัพย์สมบัติอันล้ำค่าไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ก็บอกแล้วว่าเคียฟเป็นเมืองมากโบสถ์ ยังมีอีกโบสถ์หนึ่งที่มาถึงแล้วไม่แวะไม่ได้ นั่นคือโบสถ์เซนต์แอนดรูว์ (St.Andrew’s Cathedral) โบสถ์นี้ถือเป็นอีกไฮไลต์หนึ่งของเคียฟ สร้างขึ้นระหว่างปี 1749 – 1754 ภายใต้การออกแบบของสถาปนิกชาวอิตาเลียน ตามพระบรมราชโองการของพระนางอลิซาเบธ ผู้เคร่งครัดในศาสนา ซึ่งพระองค์เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าปีเตอร์มหาราชแห่งรัสเซียนั่นเอง
โบสถ์เซนต์แอนดรูว์เปรียบเสมือนไข่มุกของศิลปะแบบบาร็อก ด้วยยอดโดมเอกและยอดหลังคาทรงกลมอีก 5 แห่ง พร้อมทั้งภาพวาดอันงดงามที่อยู่รายรอบ เติมแต่งให้โบสถ์แห่งนี้ ดูเด่นเป็นสง่าดึงดูดเหล่าผู้มาเยือนให้ตรงดิ่งมายังที่นี่ และนับจากอดีตเป็นต้นมา โบสถ์แห่งนี้รอดพ้นจากการถูกทำลาย และไม่ได้มีการบูรณะซ่อมแซมความเสียหายแต่อย่างใด
ละแวกโบสถ์เป็นย่านช้อปปิ้งแหล่งใหญ่สุดประจำเมือง ส่วนพวกคออาร์ตทั้งหลายก็น่าจะถูกใจไม่แพ้กัน เพราะมีแกลเลอรีและร้านช้อปวัตถุโบราณ งานศิลปะ และโรงละคร ใครเหนื่อยก็มีคาเฟ่หน้าตาน่าเอ็นดูไว้ให้พักเหนื่อย
ยังค่ะยังไม่หมด นอกจากโบสถ์เซนต์แอนดรูว์แล้ว ยังมีโบสถ์เซนต์วลาดิเมียร์ (St.Volodymyr’s Cathedral) สีเหลืองของโบสถ์สไตล์นีโอ – ไบซันไทน์ ทำให้โบสถ์นี้ดูแปลกตา ว่ากันว่า สร้างขึ้นในสมัยที่โรมันเรืองอำนาจ แค่หมวดหมู่ของโบสถ์ก็ทำให้เคียฟสวยจนแทบลืมหายใจแล้ว แต่เมื่อฉันได้เห็นบ้านของชาวยูเครนยิ่งรู้สึกว่า ยูเครนมีความอ่อนหวานซ่อนอยู่ภายใต้ใบหน้าอันเย็นชาของผู้คน
บ้านที่นี่มีม่านสีขาวที่ถูกเย็บปักไว้ด้วยด้ายสีแดง ผ้าปูโต๊ะสีหวาน และตะกร้าใส่ดอกไม้แขวนไว้ตามฝาผนัง ทุกซอกทุกมุมซุกซ่อนความงดงาม ประณีต วิจิตรบรรจง ที่ล้วนปรุงแต่งให้บ้านสไตล์ยูเครเนี่ยน น่ารัก น่ามอง โดยรวมๆ แล้วจึงน่าอยู่
ลำพังเดินป้วนเปี้ยนอยู่ในกรุงเคียฟ จะได้เห็นแค่ตึกรามบ้านช่องเป็นแท่งเป็นกล่อง เพราะคนยูเครนยุคที่เพิ่งได้รับอิสรภาพจากรัสเซียได้เพียง 10 กว่าปี ยังต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบากในบ้านซึ่งเป็นห้องแคบๆ บนตึกสูง แต่ฉันนั่งรถออกไปหาเมืองเปเรยาสลาฟ – คึเมลนิสกี้ (Pereyaslav – Khmelnytsky) เมืองที่มีบ้านหลังน้อยซุกตัวอยู่ท่ามกลางต้นไม้เขียวครึ้ม หน้าบ้านมีสวนดอกไม้ หลังบ้านเป็นแปลงผัก ข้างโรงนามีจักรยานคันเก่าพิงเอนข้างฝา กิ่งไม้ถูกนำมาสานและขัดทำเป็นแนวรั้วบ้านอย่างแปลกตาและน่าชื่นชม
แทบไม่ต้องอธิบายว่านี่คือชนบทของยูเครน บุคลิกของชนบทมักหนีไม่พ้นความเรียบง่าย ไม่ต้องปรุงแต่งกันให้มากเรื่อง ลมเย็นพัดโชยชวนให้เดินทอดน่องได้อย่างไม่รู้เบื่อ บ้านเรือนของชาวยูเครนสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่กินกันอย่างเรียบง่าย สงบเงียบ ใจกลางหมู่บ้านมีโรงเรียน และมีโบสถ์หลังเล็ก
แม้บ้านที่อยู่กันทุกวันนี้จะเป็นสีขาว และมักทาประตูบ้านด้วยสีสดใส แต่สมัยก่อนบ้านของคนยูเครนจะนิยมก่อสร้างด้วยกำแพงสีอิฐที่ผนังด้านนอก เพราะเชื่อว่าจะสามารถป้องกันภูตผีปีศาจร้ายได้ พื้นสีขาวของบ้าน มักถูกแต่งแต้มด้วยลวดลายดอกไม้หลากสีหลายแบบ โดยเฉพาะตามกรอบหน้าต่างและประตู เดินไปเดินมาจึงสังเกตเห็นได้ว่า ดอกไม้ที่วาดขึ้นของแต่ละบ้านนั้นแตกต่างกัน นอกจากสีสันไม่เหมือนกันจำนวนดอกไม้ก็ไม่เท่ากัน ดอกไม้ที่วาดนั้นแสดงถึงจำนวนคนที่อาศัยอยู่ในบ้าน และดอกไม้ที่ตูมหรือบานจะฟ้องว่าบ้านนั้นมีคนแก่และสาวกี่คน
จิตรกรที่บรรเลงความงดงามติดฝาบ้านนั้นก็ไม่ใช่ใคร เป็นคนในบ้านนั่นเอง ริมขอบหน้าต่างและบนโต๊ะอาหาร มักถูกแต่งแต้มไว้ด้วยแจกันดอกไม้อย่างน่ามอง ได้เห็นบ้านช่องห้องหับของชาวยูเครนถึงได้สัมผัสความเป็นอยู่อันเรียบง่าย แถมยังเผยให้เห็นอารมณ์ละเมียดละมุน และวิถีชีวิตที่อวลอิ่มไปด้วยความประณีตที่แฝงเร้นในทุกซอกมุมของบ้าน