เที่ยวไปในเกาะช้าง

เรื่องและรูปโดยทีมงาน Vacationist

จากที่เราพาผู้อ่านไปเที่ยวในตัวเมืองตราดกันมาแล้ว http://www.vacationistmag.com/tratcity/ หลังจากพักผ่อนนอนค้างกันที่ตัวเมืองเอาแรง เราก็จะพาไปเที่ยวเกาะช้างของจังหวัดตราดกันต่อเลย มีที่ไหนบ้างไปดูกันได้เลย

หากขับรถมาเองอาจจะต้องเผื่อเวลาสักหน่อยเพราะอาจต้องรอขึ้นเรือเฟอร์รีข้ามไปยังเกาะช้างนานสักหน่อย ยิ่งในช่วงสถานการณ์ปกติ อาจรอนานหลายชั่วโมง โดยเฉพาะในวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดยาวตามเทศกาลต่างๆ

ศาลเจ้าพ่อเกาะช้าง

หากขับรถลงมาจากเรือเฟอร์รี จากท่าเรืออ่าวธรรมชาติ มาขึ้นท่าเรือเฟอร์รี อ่าวสับปะรด เพียงเลี้ยวขวามานิดเดียวไม่ถึง 1 กิโลเมตรจะถึงศาลเจ้าพ่อเกาะช้าง

ศาลเจ้าพ่อฯ เป็นที่เคารพของชาวเกาะช้าง และคนกาด (สมัยก่อนเรียกคนตราดว่าคนกาด) และชาวบ้านตามเกาะต่างๆ เป็นอย่างมาก เป็นที่พึ่งทางใจของชาวประมงให้ความปลอดภัยยามออกทะเลหาปลา และชาวสวนชาวไร่ ให้ได้ผลผลิตที่ดีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวที่เกาะช้าง ต่างก็มากราบไหว้เพื่อเป็นมงคลก่อนท่องเที่ยวไปในสถานที่ที่สวยงามของเกาะช้าง

ไหว้พระ เดินเที่ยวสะพานแดงสลักเพชร

จากศาลเจ้าพ่อเกาะช้าง กลับมาทางเดิมผ่านอ่าวสับปะรด ประมาณ 30 นาที เพื่อตรงไปไหว้พระที่วัดสลักเพชร อีกวัดสำคัญและสวยงาม เป็นที่เคารพกราบไหว้ของชาวบ้านที่นี่ วัดสลักเพชร ตั้งอยู่ที่บ้านสลักเพชร ตำบลเกาะใต้ อำเภอเกาะช้าง

มีอุโบสถที่ไม่เหมือนวัดไหน เพราะเต็มไปด้วยรูปปั้นของเทพและสัตว์ในป่าหิมพานต์ โดยรอบบริเวณอุโบสถ ส่วนของอุโบสถใหม่ประดิษฐาน พระพุทธชินราช เป็นองค์พระประธาน

ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม ตรงข้ามอุโบสถยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์วัดสลักเพชร ภายในรวบรวมเครื่องใช้เก่าแก่ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะไม้เท้าและตราตั้งประจำตำแหน่งของหลวงสลักเพชรพัฒนกิจ ซึ่งได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5

จากวัดสลักเพชร ซอยทางเข้าไปสะพานแดงสลักเพชรบ้านนาใน จะอยู่ด้านข้างของพิพิธภัณฑ์วัดสลักเพชร ทางอาจจะเล็กสักหน่อย ต้องคอยระวังรถสวนทาง ระยะทางประมาณ 800 เมตร (มีค่าบริการจอดรถ)

ที่นี่เป็นโครงการฟื้นฟูบูรณะป่าชายเลนบ้านสลักเพชร มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน ทางเดินเป็นสะพานไม้สีแดงแข็งแรงระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร

ชมความสมบูรณ์ของป่าชายเลนที่มีประโยชน์มหาศาล เพราะเป็นที่รวมของพืชสัตว์น้ำ นกหลายชนิดป่าโกงกางมีประโยชน์มากมายในหลายด้าน ทั้งด้านป่าไม้ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ ด้านประมง เพราะเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์น้ำ ทั้งเป็นที่อาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำในระยะที่เป็นตัวอ่อน และยังช่วยลดความรุนแรงของคลื่น ป้องกันการพังทลายของดินชายฝั่ง

มาเดินศึกษาระบบนิเวศป่าโกงกางที่สวยงามและควรอนุรักษ์ไว้ อย่าทำลายระหว่างทางเดิน มีจุดที่สวยงามหลายจุด ทั้งจุดที่สะพานแดงทอดยาวตัดกับสีเขียวของป่าไม้มีฉากหลังเป็นทิวเขาทอดยาว

เมื่อเดินไปสุดทางตามเส้นทางจะเป็นปากอ่าวเชื่อมต่อกับทะเล ชมทัศนียภาพสวยงาม รับลมเย็นสูดอากาศบริสุทธิ์เป็นอีกจุดไฮไลต์ที่ห้ามพลาด ต้องเก็บรูปเป็นที่ระลึก ณ จุดนี้

เดินเล่นริมหาด และกิจกรรมดำน้ำ

ชายหาดยอดนิยมของเกาะช้างมีมากมาย ทั้งหาดทรายขาว ชายหาดที่ยาวกว่า 6 กิโลเมตร เป็นหาดที่ มีนักท่องเที่ยวหนาแน่นที่สุด หาดคลองพร้าวเป็นอ่าวโค้งสวย เหมาะกับการเล่นน้ำเพราะน้ำไม่ลึก คลื่นไม่แรง

ช่วงเย็นๆ จะมีนักท่องเที่ยวพายเรือคายัค เดินชมพระอาทิตย์ตกดิน ผู้คนไม่ค่อยพลุกพล่าน หาดไก่แบ้ เป็นชายหาดหลักสุดท้ายบนฝั่งตะวันตกของเกาะช้างอยู่ถัดจากหาดคลองพร้าว มีเกาะเล็กเกาะน้อยอยู่ใกล้ๆ เวลาน้ำลง สามารถเดินข้ามไปที่เกาะเล็กๆได้ด้วย หรือหาดบางเบ้า อยู่ทางใต้สุดฝั่งตะวันตก มีที่กำบังคลื่นลม จึงมีหมู่บ้านชาวประมงตั้งอยู่เรียงรายอีกกิจกรรมเมื่อมาเกาะช้าง

ห้ามพลาดจริงๆ คือกิจกรรมทัวร์ดำน้ำ ซึ่งในแต่ละรีสอร์ตที่พัก จะมีโบรชัวร์ของบริษัททัวร์ดำน้ำต่างๆ วางไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกไปดำน้ำตามเกาะต่างๆ จะมีให้เลือกอยู่ที่ประมาณ 4-5 เกาะแล้วแต่เราจะเลือก

โดยมากจะเป็นจุดดำน้ำเกาะยักษ์เล็ก เกาะยักษ์ใหญ่ เกาะรัง เกาะหวาย เกาะมะปริง หาดศาลเจ้าเกาะรัง สนนราคารวมอาหารแล้วประมาณ 600-700 บาทต่อท่าน แล้วแต่จำนวนเกาะที่เราไปเลือกดำน้ำด้วย ส่วนใครจะเช่าเรือแบบเหมาลำก็มีให้เลือกใช้บริการตามกำลังทรัพย์

น้ำทะเลในจุดที่ไปดำน้ำตามเกาะต่างๆ ถือว่าน้ำใสมาก ปะการัง และสัตว์น้ำมีให้เห็นเยอะ
สวยงาม อาจจะด้วยช่วงนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาน้อยธรรมชาติได้พักฟื้น จำนวนผู้ประกอบการก็ให้บริการต่อรอบไม่มาก นักท่องเที่ยวไม่พลุกพล่านมากนักจากสถานการณ์ปัจจุบัน

ทำให้เราเห็นใจผู้ประกอบการในภาคส่วนท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ หากเมื่อใดที่การเดินทางท่องเที่ยวเริ่มกลับมาท่องเที่ยวได้ใกล้เป็นปกติ อยากให้จัดสรรความพอดีของการรับนักท่องเที่ยว ให้ธรรมชาติไม่ต้องรับภาระหนัก เพื่อให้การท่องเที่ยวในรูปแบบเดิมที่จะกลับมาใหม่ดำเนินควบคู่ไปกับธรรมชาติที่สวยงามคงอยู่กับเราไปตลอด

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0