สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับ ซัน วิชั่น เทคโนโลยี นำคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา เยี่ยมชม นวัตกรรมแบตเตอรี่ กราฟีน
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับ บริษัท ซัน วิชั่น เทคโนโลยี จำกัด ให้การต้อนรับ พลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ และคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา โดยมี รศ.ดร. คมสัน มาลีสี อธิการบดี รศ.ดร.สุธี ชุติไพรจิตร คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ สจล. รศ.ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ สจล. พร้อมทีมงานวิจัย และ นายวัชรินทร์ อินเมฆ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัน วิชั่น เทคโนโลยี นำเยี่ยมชม “โรงงานต้นแบบผลิตแบตเตอรี่กราฟีน และนวัตกรรมแบตเตอรี่กราฟีน” สำหรับใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า และในระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายที่จะนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้
รศ.ดร. คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “สจล. ได้มีการคิดค้น แบตเตอรี่กราฟีน เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยทีมนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการวิจัยแบตเตอรี่กราฟีน เพื่อนำไปใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน BESS (Battery Energy Storage System) ซึ่งทาง สจล. นั้นสามารถที่จะผลิตวัสดุ “กราฟีน” ได้เองจากโรงงานต้นแบบผลิตกราฟีน ที่ตั้งอยู่ภายในคณะวิทยาศาสตร์ สจล. ทั้งนี้ การเชิญคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา เยี่ยมชม นวัตกรรมแบตเตอรี่กราฟีนในครั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังที่จะนำเสนอผลงาน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการผลักดันให้มีการนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ในอนาคต
รศ.ดร.สุธี ชุติไพจิตร คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ สจล. กล่าวว่า “ในส่วนของคณะวิทยาศาสตร์ สจล. นอกจากที่เราจะมุ่งเน้นในการผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เพื่อออกไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เรายังมุ่งเน้นในการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกิดจากคนไทย และยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ สจล. ที่ตั้งเป้าจะเป็น The World Master of Innovation ในส่วนของงานวิจัยวัสดุกราฟีน และการต่อยอดพัฒนาเป็นแบตเตอรี่ ของทีมรศ.ดร.เชรษฐา ที่ร่วมมือกับบริษัท ซัน วิชั่น เทคโนโลยี นำเป็นก้าวสำคัญในการสร้างนวัตกรรมงานวิจัยจากคนไทย และยังเป็นความร่วมมือกันระหว่างสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาคเอกชน ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ สจล. เรามีงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากคณาจารย์ในคณะอีกมากมาย ทำให้ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นต้นแบบที่สำคัญในการสร้างร่วมมือกันของคณะวิทยาศาสตร์และหน่วยงานภายนอก ซึ่งจะทำให้เกิดนวัตกรรมอีกมากมายที่เกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป
รศ.ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ หัวหน้าทีมงานวิจัย กล่าวว่า “กราฟีน” เป็นวัสดุนาโน มีพื้นผิวจำเพาะสูง และยังนำไฟฟ้าที่ดีมากด้วย จึงเหมาะสมสำหรับการนำมาพัฒนาเป็นแบตเตอรี่ ให้สามารถกักประจุไฟฟ้าได้สูงและชาร์จได้เร็ว เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้าทดแทนแบตเตอรี่แบบเดิม สำหรับใช้กับงานกับระบบ BESS (Battery Energy Storage System) และในรถยนต์ไฟฟ้า ให้ขับขี่ได้ระยะทางไกล และยังเป็นแบตเตอรี่ที่มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดการระเบิดและไม่ติดไฟได้ในขณะใช้งาน สามารถชาร์จซ้ำได้จำนวนหลายรอบ นอกจากนี้ แบตเตอรี่กราฟีน ยังประหยัดต้นทุนเพราะสามารถผลิตกราฟีนเองได้ในประเทศ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ยิ่งกว่านั้น กราฟีน ยังเป็นวัสดุที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ กล่าวคือ ตอบโจทย์เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ลดปริมาณขยะสิ่งแวดล้อม ลดการนำเข้าแบตเตอรี่จากต่างประเทศ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดการลดลงของคาร์บอนไดออกไซด์ได้เมื่อมีการนำแบตเตอรี่มาใช้ในกักเก็บไฟฟ้าและใช้ในรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
นายวัชรินทร์ อินเมฆ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัน วิชั่น เทคโนโลยี จำกัด เปิดเผยว่า “ ซัน วิชั่น เทคโนโลยี ดำเนินธุรกกิจเกี่ยวกับ พลังงานทดแทนใหม่ๆ โดยมีความเชี่ยวชาญการก่อสร้างโครงการโซล่าเซลล์ขนาดใหญ่ อาทิ โซล่ารูฟท๊อป โซล่าฟาร์ม โซล่าโฟลทติ้ง และ โครงการก่อสร้างโรงงาน รวมถึงโครงการ Oil and Gas จากความสำเร็จของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม แบตเตอรี่กราฟีน เหมาะสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า สามารถชาร์จไฟได้เร็วและกักเก็บพลังงานได้มากขึ้น จึงร่วมเป็นพันธมิตร โดยทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและ บริษัท ซัน วิชั่น เทคโนโลยี จำกัด เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 เพื่อร่วมวิจัยและพัฒนา ในด้านพัฒนาพลังงานทดแทนแบตเตอรี่ราฟีน อย่างเป็นรูปธรรม ดำเนินธุรกิจด้านการพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก สนับสนุนส่งเสริมการบริโภค-การผลิตที่ยั่งยืน รวมทั้งการสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ Green Energy and Green Community
โดยจะมีส่วนร่วมในการขยายผลไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงงาน การสร้างจุดชาร์ตไฟฟ้า การช่องทางในการจัดจำหน่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมที่ต้องการพลังงานทดแทนที่ประหยัดและดีต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับอนุพันธ์กราฟีน (Graphene) ร่วมทั้ง วัสดุกราฟีนออกไซด์ และ รีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ (ที่ผลิตได้จากโรงงานต้นแบบผลิตกราฟีนที่ตั้งอยู่ภายในคณะวิทยาศาสตร์ สจล.) เป็นวัสดุนาโน บางหนึ่งอะตอมของคาร์บอน โครงผลึกเกิดจากอะตอมคาร์บอนเรียงตัวเชื่อมต่อกันเป็นรูปหกเหลี่ยม ลักษณะโครงสร้างคล้ายของรังผึ้ง เมื่อนำกราฟีนมาวางซ้อนกันหลายๆ ชั้น ก็คือวัสดุแกรไฟต์ในใส่ดินสอ
กราฟีนมีคุณสมบัติเด่นอันที่ประโยชน์ต่อการสร้างนวัตกรรมต่างๆ มากหมาย อาทิ นำไฟฟ้าได้ดีกว่าทองแดง แกร่งกว่าเหล็ก มีความยืดหยุ่นสูง น้ำหนักเบา และยังมีพื้นผิวจำเพาะสูง นำไฟฟ้าที่ดี ดังนั้น กราฟีน จึงได้ถูกประยุกต์ใช้งานในภาคอุตสาหกรรมหลายด้าน โดยเฉพาะด้านรถยนต์ EV ที่นำกราฟีนเป็นส่วนผสมสำหรับทำขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ เพื่อสามารถกักเก็บประจุไฟฟ้าได้มากขึ้น ช่วยให้ประหยัดเวลาในการชาร์จไฟฟ้า ประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้ง ยังเป็นวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ นับเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ แบตเตอรี่กราฟีน จะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมการกักเก็บพลังงานไฟฟ้า และ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างแน่นอน