Kashgar – ความสุขบนเส้นทางสายไหม

Story & Photo by Kanjana Hongthong

kashgar 2685

บ่ายวันศุกร์ในเมืองคัชการ์ (Kashgar) ถูกปลุกให้กระปรี้กระเปร่า ไม่เหมือนวันปกติทั่วไป ราวกับว่าเมืองกำลังมีเทศกาลงานประเพณีขึ้นกลางเมือง ผู้คนพากันแต่งเนื้อแต่งตัวออกจากบ้านตั้งแต่เช้า เดินบ้าง บิดมอเตอร์ไซค์มาบ้าง และอีกไม่น้อยที่โดยสารรถประจำทางจากหมู่บ้านชานเมืองเพื่อเข้าสู่ตัวเมืองคัชการ์จุดหมายของพวกเขาอยู่ที่มัสยิดอิดคาห์ (Id Kah Mosque) ศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิมทั่วทั้งมณฑลซินเจียง ของประเทศจีน จะว่าบังเอิญคงไม่ใช่ เพราะฉันตั้งอกตั้งใจมายืนอยู่ลานกว้างหน้ามัสยิดแห่งนี้ในวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันละหมาดใหญ่ของชาวมุสลิม จงใจยิ่งกว่านั้น ที่มาให้ถึงตั้งแต่บ่ายอ่อนๆ เพื่อรอดูผู้คนเรือนหมื่นทยอยมายังมัสยิดแห่งนี้ทุกบ่ายสองโมงครึ่ง หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ไหลมาเทมากองรวมกัน บ้างผลุบเข้าจับจองมุมละหมาดด้านใน บ้างยังเดินเล่นเตร็ดเตร่เพื่อรอเวลา และรอทักทายมิตรสหาย

kashgar 0678

kashgar 0717 kashgar 0712

พลันที่เสียงอาซานดังขึ้น ผู้คนก็เร่งฝีเท้าก้าวเข้าสู่ด้านใน ครึ่งชั่วโมงผ่านไปคราวนี้ล่ะชุลมุนย่อมๆ เลย เพราะผู้คนจะทยอยกันออกจากมัสยิด ใช้เวลานานกว่าครึ่งชั่วโมงจึงจะทยอยออกมาหมด ในความชุลมุนคือความงดงามโดยแท้ ฉันมาคัชการ์เพื่อสิ่งนี้ จึงมีความสุขกับการนั่งมองอิริยาบถของคลื่นคนที่เคลื่อนผ่านไปมา ราวกับว่ากำลังนั่งดูมหรสพกลางแจ้งอย่างเพลิดเพลิน ละหมาดเสร็จแล้วบางคนยังอ้อยอิ่งอยู่หน้ามัสยิด จับกลุ่มสนทนาพาที ไม่เพียงทักทายกันเอง แต่ยังโรยยิ้มแจกอาคันตุกะจากแดนสยามด้วยไมตรี

kashgar 0186

บางทีอาจจะเป็นวัฒนธรรมประจำถิ่นของชาวเหวยหวูเอ่อร์ หรือชาวอุยกูร์แห่งเมืองคัชการ์ที่พอละหมาดเสร็จ พวกเขาจะใช้โมงยามนี้ในการพบปะพูดคุย ดูเหมือนไม่มีใครรีบกลับบ้าน และราวกับว่าผู้คนที่นี่ไม่มีธุระปะปังให้สะสาง จึงนั่งใช้ชีวิตบ่ายวันศุกร์แบบเบาสบาย ฉันมักปล่อยตัวเองให้เรื่อยไหลไปกับอารมณ์เมืองประมาณนี้เสมอ เมืองที่ผู้คนมีวัฒนธรรม มีชีวิต และออกมาใช้ชีวิตร่วมกัน ระหว่างทอดสายตามองชีวิตชีวาที่เอ่อล้นท่วมคลื่นคน ฉันเพิ่งสังเกตว่าที่จริงแล้วมัสยิดแห่งนี้ไม่ได้ใหญ่โตอะไรเลย แต่ด้านในคงจะมีความลึกพอ ถึงบรรจุคนได้เรือนหมื่น

kashgar 0124 kashgar 0171 kashgar 0521

บ้านของหลายคนคงจะอยู่แถวเมืองเก่า พอเอ้อระเหยทักทายมิตรสหายเสร็จก็เดินไปยังฝั่งตรงข้ามของมัสยิด ซอยเล็กๆ แคบๆ นำทุกคนไปสู่เขตเมืองเก่าคัชการ์ที่เปรอะเปื้อนไปด้วยเสน่ห์แบบดิบๆ เดิมๆ ทุกซอกซอย ความจริงขึ้นชื่อว่าเมืองเก่า เมืองไหนเมืองนั้นย่อมน่าขยับตัวเข้าใกล้กว่าเมืองใหม่เสมอ ฉันจึงสะกดรอยเท้าเจ้าถิ่นไปสำรวจเมืองเก่า ซอกแซกไปเรื่อยจนพบว่าเมืองเก่าแห่งคัชการ์นั้น ราวกับได้พาเราย้อนไปดูรอยอดีตบนเส้นทางสายไหม บ้านบางหลังกำลังทำแป้งแผ่นที่เรียกว่า “นาน” ชนิดส่งกลิ่นหอมฉุย เพราะที่นี่บางบ้านเขาโรยหอมเจียวเอาไว้บนหน้าแป้งด้วย บางบ้านโรยเฉพาะงา ฉันไม่เสียมารยาทเมื่อแม่บ้านยื่นงานฝีมือของนางให้ชิม บางบ้านขายขนมที่เป็นมรดกตกทอดบนเส้นทางสายไหม เจ้าของบ้านบางหลังเป็นนักดนตรี เขากำลังขะมักเขม้นทำเครื่องดนตรีไม้สไตล์เหวยหวูเอ่อร์แต่ก็ยังเงยหน้าส่งยิ้มมาต้อนรับบางบ้านเหมือนร้านขายของเก่าประจำหมู่บ้าน ถ้วยถังกะละมังหม้อ กาน้ำ และข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านถูกจับมาห้อย และแขวนโตงเตงประดับหน้าบ้าน

kashgar 0546 kashgar 0917

kashgar 0746 kashgar 0762

อย่างหนึ่งที่อาจจะเข้าตำราเดียวกับบ้านเราคือ คนรุ่นตายายมีหน้าที่เลี้ยงหลาน ตามซอกซอยเราจึงเห็นคนสองวัยเกาะเกี่ยว และกระเตงกันไปหลายคู่ เมืองเก่าบางเมือง ยิ่งเดินยิ่งเหมือนเขาวงกต หาทางออกไม่ยาก แต่ฉันไม่คิดจะหาทางออกต่างหาก เมืองเก่าแห่งคัชการ์ก็เป็นแบบนั้นแหละกว่าจะถอนสมอจากเมืองเก่าได้ก็เป็นเวลาโพล้เพล้พอดี แต่การถอนสมอกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะความที่เป็นคนจำพวกหลงแสงสีและฝุ่นควัน ตรงไหนเห็นควันลอยฟุ้งตลบอบอวลต้องเป็นตลาดแน่ๆ แล้วก็ไม่เคยพลาด ไนท์มาร์เก็ตแห่งคัชการ์ที่อยู่ปากทางเข้าเมืองเก่า เหมือนมีแม่เหล็กเหนี่ยวทุกคนให้ไปที่นั่นบางทีเราต่างโดนตลาดสะกดจิต จึงมีแต่ผู้คนมุ่งหน้าไปที่นั่น สำหรับคนที่ชอบผจญภัยบนปลายลิ้น พูดได้คำเดียวว่าที่นี่คงจะเหมาะกับคุณมาก เพราะมีอาหารการกิน เอาไว้ให้ลิ้นได้แอดเวนเจอร์เต็มตลาด มีตั้งแต่ธรรมดาอย่างปลาทอด ร้านบะหมี่ ร้านข้าวต้ม ไปยันจานแปลกธรรมดาไปจนถึงแปลกแต่จริง จำพวกเครื่องในอูฐลวกจิ้ม กระเพาะของแพะปิ้งย่าง และดูเหมือนสมองของสัตว์หลายชนิดก็ล้วนแต่หาชิมได้ง่ายดายมาก

ฮ 0631

หลังจากนั่งพิจารณาไนท์มาร์เก็ตมาพักใหญ่ จึงพบว่า ผู้คนที่นี่พอจบเมนูคาวๆ เขาจะล้างปากด้วยน้ำทับทิม หรือไม่ก็ไปยืนกินแตงโมที่หั่นขายเป็นซีกๆ บางคนหอบหิ้วองุ่นกลับไปฝากคนที่บ้าน ทั้งหมดนี้คือภาพชีวิตของคัชการ์ที่แม้เป็นเมืองที่อวดวิวทิวทัศน์ที่งดงามนัก ไม่ได้มีอาคารที่ประดับประดา ไว้ด้วยสถาปัตยกรรมอันคลาสสิค แต่นี่คือภาพที่นึกถึงทีไรชุ่มใจเสมอ คัชการ์ยังเป็นเมืองอันไกลโพ้นของแผ่นดินมังกรที่มีทั้งสุสานเก่าแก่ โบราณสถาน และจัตุรัสในย่านเมืองใหม่ที่มีประธานเหมายืนรอทุกคนอยู่ที่นั่น แต่มุมไหนก็ไม่น่าตื่นตาตื่นใจเท่าแกรนด์บาซาร์ (Grand Bazaar) ตลาดใหญ่ประจำเมืองที่เปิดทุกวัน แต่สาเหตุที่เรียกกันว่าซันเดย์ มาร์เก็ต เพราะทุกวันอาทิตย์จะพิเศษกว่าวันอื่นๆ

kashgar 0922 kashgar 0842

kashgar 0885 kashgar 0831

kashgar 0786 kashgar 0607

เฉพาะวันนี้วันเดียว ที่ระดับของสีสันของตลาดจะฉูดฉาดขึ้นกว่าปกติ ไม่ได้มีแค่เสื้อผ้าอาภรณ์ รองเท้า กระเป๋า ของแต่งบ้านและข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านเท่านั้น แต่วันนี้สัตว์ทุกชนิดจะถูกพามาเที่ยวตลาดด้วย ใครอยากซื้อขายแพะ แกะ เป็ด ไก่ ไปยันอูฐก็ต้องมาวันนี้ ชาวเหวยหวูเอ่อร์จะหอบลูกจูงแพะมาแกรนด์บาซาร์กันตั้งแต่เช้ามืดทุกวันอาทิตย์ มุมนี้ของคัชการ์จึงไม่เพียงคึกคักเท่านั้น แต่ทั้งอิ่มสีสันและอาบไล้ไปด้วยชีวิตชีวา และฉายภาพให้เห็นการค้าขายบนเส้นทางสายไหมในอดีตได้อย่างคมชัด

kashgar 2178

นักเดินทางหลายคนเมื่อมาถึงคัชการ์ก็เลยเถิดไปถึงทะเลสาบคาราคูล (Karakul Lake) ซึ่งเป็นมุมหนึ่งของเส้นทางสายไหมที่หลายคนเอื้อนเอ่ยไว้ ว่าเป็นสวรรค์ชั้นย่อมของผู้รักธรรมชาติอันสงบงามพวกเถลไถลเป็นนิสัยอย่างฉัน มีหรือจะปล่อยให้ทะเลสาบคาราคูลลอยนวล ดั้นด้นมาถึงคัชการ์ทั้งทีจึงไต่ไฮเวย์ลอยฟ้าที่ชื่อคาราโครัมไฮเวย์ บ่ายหน้าไปหาทะเลสาบคาราคูล ทั้งระดับความสูงที่มีออกซิเจนเบาบาง และถนนเป็นโค้งแคบและคดเคี้ยว ล้วนเป็นอุปสรรคที่วัดใจนักเดินทางทุกคนที่รอนแรมไปบนถนนสายนี้

kashgar 1709e kashgar 1720

เมื่อการหายใจไม่ง่ายดายเหมือนทุกวัน การเคลื่อนเรือนกายจึงจำเป็นต้องเชื่องช้าตามไปด้วย ทุลักทุเลไปบ้าง แต่ทะเลสาบคาราคูลก็สมนาคุณนักแรมทางทุกคนด้วยฉากธรรมชาติที่งดงามราวกับภาพวาด เทือกเขาสูงตระหง่านมีหิมะห่มคลุมตลอดทั้งปี เงางามทอดตัวลงแนบผืนทะเลสาบ ยังมีตัวประกอบที่ทำให้ที่นี่ สวยงามอย่างมีมิติ นั่นคืออูฐ ม้า ฝูงแพะ และอิริยาบถของชาวบ้านที่กำลังง่วนอยู่กับงานบ้านหน้ากระโจม

kashgar 2716 kashgar 2361

kashgar 2745 kashgar 2808

ชีวิตริมทะเลสาบเคลื่อนไปอย่างไม่รู้เบื่อ แค่นั่งนิ่งๆ ใช้ชีวิตเนิบๆ หายใจช้าๆ ทอดสายตาพิจารณาแผ่นฟ้า ก้อนเมฆ เทือกเขา และสายน้ำ นั่นแหละความสุขบนเส้นทางสายไหม

ข้อมูลเพิ่มเติม
– จากกรุงเทพฯ บินไปตั้งหลักที่เมืองอูรุมฉีก่อน สายการบินไชน่าเซาเทอร์น แอร์ไลน์ มีเที่ยวบินไปกลับทุกวันคลิกไปดูรายละเอียดของเที่ยวบินได้ที่ www.flychinasouthern.com หรือโทร. 0 2677 7388
– จากอูรุมฉีจะบินต่อไปก็ได้ หรือจะนั่งรถไฟ และรถประจำทางไปก็ได้ แต่ใช้เวลาค่อนข้างนาน ถึงแม้ว่าคัชการ์จะเป็นเมืองที่อยู่ไกล แต่เรื่องที่พักก็แทบไม่เป็นปัญหา มีให้เลือกหลายทำเล และหลายราคา
– วีซ่าจีนใช้เวลาทำประมาณ 3 – 4 วัน ค่าธรรมเนียม 1,000 บาท หรือกรณีเร่งด่วนต้องจ่ายเพิ่ม โทรถามที่ 0 2245 7043 – 4
– ฤดูท่องเที่ยวของมณฑลซินเจียงอยู่ในช่วงเดือน มิ.ย. – ต.ค. แต่เดือนที่น่าเที่ยวที่สุดคือ ส.ค. – ก.ย. พ้นจากช่วงนี้อากาศจะค่อนข้างหนาวจัด เช็คอุณหภูมิก่อนเดินทางที่ www.weather.com
– จีนใช้เงินสกุลหยวน 1 หยวน ประมาณ 4.8 – 5 บาท

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0