Wonderful Memories …KANAZAWA (ตอน 1)
Story & Photo by Editorial Staff
คานาซาวะ (Kanasawa) เป็นเมืองหลักของจังหวัดอิชิกาวะ (Ishikawa) ตั้งอยู่บริเวณภาคชูบุ (Chubu) ของประเทศญี่ปุ่น และเป็น 1 ใน 3 จังหวัดในภูมิภาคย่อยโฮกูริกุ (Hokuriku) ที่ไม่เคยได้รับผลกระทบจากสงครามหรือจากภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงเลย ทำให้สถาปัตยกรรมต่างทางประวัติศาสตร์ยังถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี
ขึ้นต้นแบบนี้คุณคงบอกคิดภาพตำแหน่งของเมืองคานาซาว่าได้อย่างคร่าวๆ และหากใครสักคนสามารถดึงกล่องความทรงจำของผมออกไปได้ก็จะเห็นภาพความสวยงามและมหัสจรรย์ของคานาซาวะบรรจุอยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าสถานที่ที่เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ปราสาท พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ไปเมืองไหนผมไม่เคยพลาดและตลาดอีกหนึ่งสถานที่ที่ต้องไปเช่นกัน แต่สำหรับคนที่ไม่สามารถมองเห็นกล่องความทรงจำของผม ไม่ต้องกังวล ผมจะมาแบ่งปันความรู้สึกพิเศษและมหัสจรรย์ของคานาซาวะให้คุณได้รู้จักกัน ตามผมมาเลย
ก่อนอื่นตำแหน่งที่ตั้งของคานาซาว่าอยู่ในภูมิภาคชูบุอย่างที่กล่าวไปแล้ว “คานาซาวะ“ หมายถึง “หนองแห่งทองคำ“ ซึ่งในอดีตที่บริเวณนี้เป็นแหล่งผลิตแผ่นทองคำและงานฝีมือคุณภาพสูงจำนวนมาก ซึ่งเราจะเห็นร่องรอยของการทำทองคำอยู่กระจายทั่วเมืองคานาซาวะ นอกจากเรื่องของผลิตภัณฑ์จากทองคำแล้ะวสินค้าทางการย้อมผ้า อาหาร พิธีชงชา ที่เมืองนี้ก็ไม่ได้ด้อยแพ้ใคร การเดินทางมาคานาซาวะนั้นสามารถเดินทางง่ายดายทั้งจากโตเกียวและโอซาก้า ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาทีเท่านั้นคุณก็สามารถมายืนกินลมชมวิวอยู่ที่สถานีคานาซาวะได้ ส่วนการเดินทางไปตามสถานทีท่องเที่ยวต่างๆ ภายในเมืองก็สามารถใช้บริการรถประจำทางได้อย่างสะดวกสบาย
สถานีคานาซาวะ (Kanazawa Station)
ร้อยละ 99 ผมเชื่อว่าถ้าได้มาสถานีคานาซาวะ ต้องอดไม่ได้ที่ยกกล้องกดชัตเตอร์เก็บภาพทั้งภายในและภายนอกของสถานีเป็นแน่แท้ เริ่มจากตัวโดมกระจกที่คลอบคลุมตัวสถานีอยู่เรียกว่าโมเตะนาชิโดม (Omotenashi Dome) ซึ่งจำลองแบบมาจากร่มกันฝน ประหนึ่งช่วยกันแดด กันฝน กันหิมะสำหรับผู้ที่มาเยือนคานาซาวะ แถมยังออกแบบให้ทำจากวัสดุที่โปร่งใสจะทำให้มีแสงสว่างตามธรรมชาติลอดส่องลงมาในตอนกลางวัน ด้านนอกของสถานีอีกหนึ่งไฮไลท์หลักของคานาซาวะ คือประตูตูทสึซึมิ (Tsuzumi Gate) หรือรู้จักกันในชื่อประตูกลอง เพราะตัวเสาฐานทำเลียนแบบเครื่องดนตรีโบราณของญี่ปุ่นที่ชื่อ สึซึมิ เป็นกลองขนาดเล็ก ที่ใช้ประกอบการแสดงละครโนกาคุ (Nogaku) นาฏศิลป์อันมีประวัติสืบทอดกันมาแต่โบราณของญี่ปุ่น ส่วนโครงสร้างด้านบนขึ้นไปสูงกว่า 13.7 เมตรก็มีลักษณะคล้ายกันกับประตูโทริอิที่พบได้ตามศาลเจ้าและวัดต่างๆ ทั่วญี่ปุ่น ภายในตัวสถานีก็มีงานฝีมือจัดแสดงแทรกตัวอยู่ไม่ว่าจะเป็นงานไม้ งานเซรามิค งานเครื่องปั้นดินเผา ซี่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นหัตถกรรมและงานฝีมือที่ชึ้นชื่อของเมืองคานาซาวะแห่งนี้ ลองเข้าไปที่ห้องพักรับรองสำหรับผู้โดยสารรถไฟชินคังเซ็นจะเห็นผลงานกว่า 30 ประเภทจำนวน 236 ชิ้นประดับฝังไว้ในกำแพง ให้ได้ชื่นชอบขณะรอเวลาการเดินทางได้
ย่านฮิงาชิ ชายะ (Higashi Chaya District)
ย้อนไปสมัยยุคเอโดะ บริเวณเรือนไม้สองข้างทางของย่านฮิงาชิ ชายะ (Higashi Chaya District) เป็นสถานบันเทิงให้แขกผู้มาเยือนได้เพลิดเพลินไปกับการร้องเพลงและเต้นรำของเกอิชา ซึ่งย่านนี้จะมีลักษณะคล้ายกับโรงน้ำชาในเมืองเกียวโตนั่นเอง ปัจจุบันกาลเวลาผันเปลี่ยนไปแม้ว่าย่านนี้จะไม่ได้เปิดเป็นสถานบันเทิงเช่นในอดีตแต่ผู้คนก็ยังหลั่งไหล่ที่จะเข้ามาเดินเยี่ยมชมในย่านนี้กันอย่างคับคั่ง บางคนมาเพื่อชมอาคารบ้านเรือนไม้เก่าแก่อายุกว่า 200 ปีที่ยังที่ยังอนุรักษ์อยู่จนถึงวันนี้
บางคนมาเพื่อดื่มด่ำไปกับอรรถรสของชาชั้นยอดที่มีบริการในโรงน้ำชาที่เปิดให้เข้าไปลิ้มลองและชมอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ตลอดจนวิถีการชงชาที่น่าสนใจเพราะว่ากันว่าที่นี่ถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตชาชายะที่เลื่องชื่อแห่งหนึ่ง โรงน้ำชาที่ยังเปิดให้บริการอยู่อย่างเช่นที่โรงน้ำชาชิมะ (Shima Teahouse) และโรงน้ำชาคาอิคาโระ (Kaikaro Teahouse) ที่ยังคงอนุรักษ์หลายสิ่งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชม บางคนก็มาเพื่อเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตจากทองคำเปลว สินค้าเด็ดประจำเมือง ทองคำเกือบ 100% ของญี่ปุ่นมาจากเมืองนี้แทบทั้งสิ้น อย่างเช่นทองคำเปลวที่ตกแต่งวัดคินคะคุจิที่เกียวโตก็เช่นกัน ไม่เพียงแต่ชิ้นทองคำเปลวที่บางถึง 1/10000 mm จะถูกนำไปใช้ในการตกแต่งวัด ศาลเจ้าหรือในงานศิลปะหัตถกรรมเท่านั้น ปัจจุบันยังนำทองคำเปลวมาเป็นส่วนประกอบในเรื่องความสวยความงามเช่น เป็นส่วนประกอบในครีมเซรั่มบำรุงผิด เป็นมาสก์แผ่นทองคำเปลว นอกจากนี้ยังถูกนำมาใช้ในการเตรียมอาหารไม่ว่าจะเป็นการโรยบนข้าวเพื่อเพิ่มความหรูหราให้กับอาหาร การนำไปผสมกับขนมต่างๆ เรียกได้ว่าสินค้าแทบทุกอย่างมีส่วนผสมของทองคำเปลวเป็นส่วนหนึ่งแทบทั้งนั้น หากเดินทางมาในช่วงเย็นคุณจะได้ยินเสียง “ชามิเซ็น” เครื่องดนตรีสามสายและกลองไทโกะดังออกมาจากโรงน้ำชาในบริเวณนี้ให้บรรยากาศร่มรื่นและเย็นใจเป็นที่สุด
นอกจากย่านฮงาชิ ซายะแล้วย่านเมืองเก่าเช่นนี้ที่คานาซาวะยังมีอีก 2 แห่งนั่นก็คือย่านนิชิ ชายะ (Nishi Chaya) และย่านคาซุเอะ มาชิ ชายะ (Kazuemachi Chaya) แต่ที่นี่ถือได้ว่าเป็นย่านบ้านเรือนเก่าแก่ที่ใหญ่ที่สุด และน่าสนใจที่สุด ได้รับเลือกให้เป็นเขตอนุรักษ์กลุ่มสถาปัตยกรรมดั้งเดิมอันล้ำค่าของชาติเมื่อปีเฮเซที่ 13 โดยได้รับการดูแลในฐานะที่เป็น “สมบัติทางวัฒนธรรมของเมือง” สำหรับการเดินทางไปย่านนี้สามารถนั่งรถบัส Kanazawa Loop Bus ที่วนไปทางขวาจากสถานีคานาซาวะไปใช้เวลาประมาณ 10 นาที ลงที่ป้าย Hashibacho (Koban-mae) bus stop (หมายเลข RL5) แล้วเดินต่ออีก 5 นาทีก็ถึงแล้ว
ทดลองทำขนมญี่ปุ่น หรือ วากาชิ (Wagashi)
หนึ่งในกิจกรรมสำหรับคนที่รักการทำ workshop คือ การทดลองทำขนมญี่ปุ่น หรือ วากาชิ (Wagashi) ซึ่งขนมหวานญี่ปุ่นแบบนี้ โดยมากมักทำมาจากถั่วแดง หรือถั่วขาว อย่างที่เราคุ้นเคยกันอย่างเช่น โดรายากิ ไดฟุกุ โมจิ เป็นต้น ที่ศูนย์ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวจังหวัดอิชิคะวะ หรือ อิชิคะวะเค็ง คังโค บุสซังคัง (Ishikawa-ken Kanko Bussankan) มีกิจกรรมการทดลองทำขนมญี่ปุ่นแบบนี้เช่นกัน โดยจะมีช่างทำขนมผู้เชี่ยวชาญมาสอนวิธีการทำขนมตามฤดูกาล ซึ่งจะมีรูปลักษณ์เป็นดอกไม้ ใบไม้หรือทัศนียภาพบ้าง โดยวิทยากรจะสอนเป็นขั้นตอน ซึ่งเป็นไปอย่างสนุกสนาน ทำให้การทำขนมที่มีกรรมวิธีที่ยุ่งยากเป็นเรื่องง่ายไปเลยทีเดียว ใช้เวลาประมาณ 40 นาทีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000 กว่าเยน ผมมองเพื่อนร่วมทางที่ไปด้วยกันทำแล้ว เห็นถึงความปลื้มปิติในยามที่ทำขนมเสร็จด้วยฝีมือตัวเองเต็มเปี่ยมทีเดียว การเดินทางตั้งต้นจากสถานีคานาซาวะ จากสถานี Kanazawa ขึ้นรถ Hokuriku Tetsudo Bus ไปลงที่ป้าย Kenroku-enShita / Kanazawa-Jo จากนั้นเดินประมาณ 1 นาที
ศาลเจ้าโอยามะ (Oyama Shrine)
หนึ่งในกิจกรรมที่เวลาเดินทางมาท่องเที่ยวญี่ปุ่นคือการเยี่ยมชมศาลเจ้า สำหรับที่คานาซาวะมีศาลเจ้าที่อยากแนะนำคือ ศาลเจ้าโอยามะ (Oyama Shrine) จุดเด่นของศาลเจ้านี้คือการออกแบบประตูชินมอนซึ่งถูกกำหนดให้เป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศ เพราะสร้างรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานกันระหว่างยุโรปกับเอเซีย โดยสถาปนิกชาวดัตช์ ชั้นแรกเป็นลักษณะอิทธิพลจากจีนและญี่ปุ่น ชั้นบนเป็นประภาคารสไตล์ยุโรป สังเกตได้จากตัวหน้าต่างที่กรุกระจกสี ช่วงตอนกลางคืนจะเห็นแสงไฟสีสันสวยมาก ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้น เพื่อสักการะ มาเอดะ โทชิอิเอะ (Maeda Toshiie) ของตระกูลคากะ (Kaga) ขุนนางผู้มีอิทธิพลประจำท้องถิ่น สร้างขึ้นในปี 1599 เดิมสร้างขึ้นบนภูเขาอูทาสึ (Mount Utatsu) ก่อนที่จะย้ายมายังตำแหน่งปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีจุดชมอื่นๆ เช่น สวนญี่ปุ่นชิเนน โอมิคุจิ (Omikuji) หรือเซียมซีสำหรับเรื่องความรัก การเดินทางจากสถานีรถไฟคานาซาวะ ขึ้นรถประจำทางโรเซ็น ไปลงที่ป้ายรถประจำทาง “มินามิมาชิ” (10 นาที) จากนั้นใช้เวลาเดินต่ออีกเพียง 3 นาทีเท่านั้น