Iran : Splendors of Persia
เรื่องโดยทีมงาน Vacationist
อาณาจักรเปอร์เซีย หรืออิหร่านในความนึกคิดของผม ภาพแรกที่ปรากฎขึ้นมา คือ ทะเลทรายต่อมาด้วยความเวิ้งว้าง อูฐ และที่สุดคือความร้อน เป็นภาพทั้งนามธรรมและรูปธรรมท้้ง หมดที่ผมนึกได้เกี่ยวกับอิหร่าน (เป็นผลพวงมาจากการดูหนังเรื่อง Prince of Persia : The Sands of Time)
การเดินทางครั้งนี้ของผมเริ่มต้นด้วยความสะดวกสบายของสายการบินมาฮานแอร์ (Mahan Airline) สายการบินเอกชนแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านโดยออกจากท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิสู่ท่าอากาศยานนานาชาติอิหม่ามโคไมนี (Imam Khomeini International Airport -IKA) เมืองเตหะราน ทุกวันยกเว้นวันอาทิตย์ แถมกินอิ่ม นอนหลับด้วยความสะดวกสบายผ่านเครื่องบินแอร์บัส 340-600 ให้บริการทั้งชั้นประหยัดและชั้นธุรกิจและเนื่องจากช่วงเวลาบินเป็นช่วงค่ำมาถึงเตหะรานในตอนเช้า ทำให้ผมรู้สึกสดชื่นและพร้อมจะเดินทางในวันใหม่ทันที ก่อนที่จะตามผมไปสัมผัสอาณาจักรเปอร์เซียแห่งนี้ สุภาพบุรุษสำรวจตัวเองก่อนใส่เสื้อกล้าม กางเกงขาสั้นไหมถ้าใช่เปลี่ยนเสียให้เรียบร้อย สุภาพสตรีกรุณาสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด อย่าลืม คลุมผมด้วยผ้าคลุมให้เรียบร้อยตลอดการเดินทางที่นี่ ถ้าพร้อมแล้วลากกระเป๋าไปโบกแท็กซี่กันเลย เพราะจากท่าอากาศยานแห่งนี้มีวิธีการเดินทางเข้าเมืองวิธีเดียวคือ นั่งแท็กซี่ เมื่อถึงที่พักเก็บของเรียบร้อย พร้อมท่องดินแดนเปอร์เซียกันได้
เตหะราน (Tehran) – หุบเขาแห่งความสุข
เตหะรานในภาษาเปอร์เซียแปลว่า หุบเขาแห่งความสุข เนื่องด้วยเป็นเมืองที่โอบล้อมด้วยขุนเขาทำให้มีสภาพอากาศที่ค่อนข้างแตกต่างกันอย่างชัดเจนในระหว่างช่วงเวลากลางวันและกลางคืนในบางฤดูกาล ช่วงกลางวันอุณหภูมิอาจจะอยู่ที่ 40 องศาเซลเซียสแต่กลางคืนอุณหภูมิอาจลดต่ำถึง 0 องศาเซลเซียสได้
เช้านี้ผมเริ่มต้นวันด้วยหอคอยที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวอิหร่าน เนื่องจากเป็นหอคอยที่ออกแบบก่อสร้างโดยสถาปนิกชาวอิหร่านเองทั้งหมด หอคอยนี้ชื่อหอคอยมิลาด ทาวเวอร์ (Milad Tower) หอคอยที่เป็นเสมือนสิ่งเชิดหน้าชูตาของอิหร่าน กับความสูงถึงยอดเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมด้านบน 435 เมตรเก็บสถิติได้เป็นหอคอยที่สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก
แม้ว่าหอคอยนี้จะใช้งานเพียงด้านโทรคมนาคมแต่บริเวณโดยรอบของหอคอยก็ถือได้ว่าเป็นย่านความเจริญของกรุงเตหะรานก็ว่าได้ เพราะมีทั้งอาคารสำนักงาน ร้านค้า พิธภัณฑ์ และตลาดเก่าที่เรียกว่าบาซาร์ถ้าว่ากันด้วยเรื่องของพระราชวังและตลาดเก่า
ที่เตหะรานมีสิ่งน่าสนใจหลายที่ ผมได้มีโอกาสแวะไปที่ พระราชวังโกเลสตาน (Golestan Palace) หรือพระราชวังแห่งดอกไม้ (Palace of Flowers) เป็นพระราชวังที่มีสถาปัตยกรรมที่งดงาม ผลสืบเนื่องมาจากที่กษัตริย์นัสเซอร์ อัล-ดิน ชาห์ ราชวงศ์คาจาร์ (Qajar) ได้เสด็จฯ ไปยุโรปแล้วนำความเจริญทางด้านรูปธรรมเข้ามาเห็นได้จากตำหนักที่มีรูปแบบนีโอคลาสสิก จุดเด่นของที่นี่อยู่ที่ผนังภายในและภายนอกกรุด้วยแผ่นกระเบื้องเคลือบ (เซรามิก) เป็นสีและลวดลายต่างๆ เน้นสีสันจัดจ้านงดงามแบบตะวันออก ตกแต่งด้วยกระจกตัดเหลี่ยมคล้ายเพชรถือว่าโดดเด่นมาก ด้านนอกอาคาร กว้างขวางใหญ่โต ห้อมล้อมไปด้วยสวนดอกไม้ที่งดงาม อ่างน้ำสีน้ำเงินที่ทำด้วยหินอ่อน นอกจากนี้ ยังมีตำหนักต่างๆอีก 7 อาคารอยู่ในบริเวณเดียวกัน มีอาคารรูปลักษณ์โบราณ และคลาสสิกแบบยุโรปผสมผสานกันอย่างลงตัวปัจจุบันที่นี่ใช้เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ และใช้เป็นที่รับรองบุคคลที่เป็นแขกบ้านแขกเมืองจากต่างประเทศ
ถัดมาไม่ไกลกันนักอยู่ประตูทางออกตรงข้ามกับพระราชวังเลย เป็นตลาดแกรนด์บาซาร์ (Grand Bazaar) ของเตหะราน ที่นี่เรียกได้ว่าที่สุดของการจับจ่ายกันเลยทีเดียว หากใครเคยไปแกรนด์บาซาร์ ที่อิสตันบูลมาแล้วที่นี่ก็ใหญ่โตไม่แพ้กัน ผมบอกได้เลยแค่ทางเดินยาวกว่า 10 กิโลเมตร คุณเพียงเดินบนเส้นทางหลักก็เหนื่อยละ แทบไม่ต้องแวะตรอกซอกซอยกันเลย สินค้าที่ขายที่นี่มีครบทุกประเภท แบ่งเป็นโซนพอสังเขป ไล่ไปตั้งแต่พรมเปอร์เซีย สินค้ายอดนิยมของคนเตหะราน
โดยมากทำมาจากวูล เนื้อนิ่ม นุ่มลื่น ราคาเริ่มต้นตั้งแต่หมื่น ยาวเรื่อยไปเป็นแสนเป็นล้านต่อชิ้น ของตกแต่งบ้านชิ้นเล็กที่พอหยิบซื้อหาได้ เสื้อผ้าของใช้ เครื่องเทศ อาหารท้องถิ่นก็เลือกซื้อหากันได้ คนอิหร่านชอบซื้อของผมบอกได้เลย และมีการนำเสนอสินค้าได้เสียงดังกังวาน ฉะฉานมาก เป็นบรรยากาศการซื้อขายคึกคักมาก แนะนำว่าให้แวะการเดินทางในเตหะรานค่อนข้างจะสะดวกสบายและถูก มีรถไฟฟ้าใต้ดิน ดังนั้นจะไปไหนจึงค่อนข้างง่าย เสียดายที่เวลาผมค่อนข้างมีจำกัด จึงทำให้เที่ยวเตหะรานไดเพียงน้อยนิด ก่อนจะโบยบินไปอีกสถานที่หนึ่ง จุดหมายหลักการเดินทางของผมครั้งนี้
ชีราซ (Shiraz) หัวใจของวัฒนธรรม
จากเมืองหลวง ผมข้ามภูมิประเทศด้วยการใช้บริการสายการบินภายในประเทศ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงนิดๆ มาที่เมืองชีราซแห่งนี้ ตามแรงดึงดูดของแม่เหล็กตัวใหญ่สำหรับผมที่ชื่อ มัสยิดนาซิร์โอมอล์ค (Nasir ol Molk Mosque) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อมัสยิดสีชมพู (Pink Mosque) มัสยิดที่ผมพูดได้เต็มปากว่าสวยที่สุดในอิหร่าน(ในสายตาผม) และแบบสถาปัตยกรรมที่งดงาม แปลกตาที่สุดในโลกอันดับที่ 2 จากหนังสือพิมพ์รายวัน เดอะ เทเลกราฟ The Telegraph ของอังกฤษ ส่วนที่ไม่เหมือนกับมัสยิดแบบอิสลามทั่วๆ ไป คือ มีการกรุหน้าต่างด้วยกระจกสี ทำให้เกิดแสงสีที่สาดเข้ามาด้านในมัสยิด เป็นความงดงามที่ส่องแสงระยิบระยับจับกับสถาปัตยกรรมที่ประดิษฐ์เป็นรูปทรงที่แปลกตา ทั้งในช่วงเช้าตรู่ และในตอนบ่ายแต่ผมแนะนำให้มาช่วงเช้า ตั้งแต่ก่อน 8 โมงเช้า รอประตูเปิดกันเลย เพราะช่วงเช้าคนน้อยไม่วุ่นวายเหมือนช่วงบ่าย ถ่ายภาพได้ง่าย อ๋อ..ถ้าใส่ผ้าคลุมสีขาวผืนใหญ่เวลาแสงลงมากระทบมันสวยจนเกินคำบรรยายจริงๆ
นอกจากสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ที่นี่ยังตกแต่งอย่างหรูหราทั้งภายในและภายนอก เหตุที่โดนเรียกว่าเป็นมัสยิดสีชมพู ก็เพราะกระเบื้องที่ประดับประดาอยู่นั่นเองที่เป็นสีโทนแดง ชมพู เหลืองเป็นสีหลัก ไม่ว่ามองมุมไหนก็ออกโทนหวานไปเสียทุกจุด ที่นี่ถูกสร้างโดย มีร์ซา ฮาซาน อลี นาซีร์ อัล มอล์ค (MirzaHasan Ali Nasir ol Molk) ในปี ค.ศ. 1876 และสร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1887 ซึ่งมี ฮัจญ์ โมฮัมหมัด ฮาสซาน (Muhammad Hasan-e-Memar) เป็นสถาปนิกออกแบบ และ มีร์ซา เรซา (Muhammad Reza KashiPaz-e-Shirazi) เป็นผู้ตกแต่งพวกกระเบื้องต่างๆ
นอกจากที่มัสยิดสีชมพูที่สวยงามเป็นที่ชื่นชอบของเหล่านักท่องเที่ยวแล้วพระราชวังโบราณเปอร์ซีโพลิส (Persepolis) น่าจะเหมาะกับกลุ่มนักท่องเวลาที่อยากจะย้อนไปดูความรุ่งเรืองของมหานครที่ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเปอร์เซียตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ อยู่ห่างจากเมืองชีราซไปทางเหนือประมาณ 60 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงได้ เป็นโบราณสถานที่สร้างโดยกษัตริย์ดาริอุสมหาราชก่อนคริสตกาลประมาณ 520 ปี จนถึงรัชสมัยของดาริอุสที่ 3 คิดง่ายๆ ว่า เป็นอดีตที่ย้อนหลังกลับไปกว่า 2,500 ปีว่างั้นเถอะ
มาที่นี่เตรียมเสื้อแขนยาว หมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด และรองเท้าพร้อมเดินมาให้พร้อม แค่บันไดทางขึ้นก็กว่า 200 ขั้นไปแล้วเดินบันไดไปก็มองฐานของเมืองไปฐานกว้างกว่า 125,000 ตารางเมตร หลังจากพ้นบันไดมาสิ่งที่เจออย่างแรกคือการ์เดียนบูลล์ (Guardian Bull) ที่เปรียบเสมือนยามเฝ้าประตู เสียดายที่หน้าของรูปปั้นถูกทำลายไปแล้วตั้งแต่ตอนพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เข้ามาพิชิตได้ ส่วนที่น่าทึ่งอีกจุดคือ บริเวณผนังข้างบันไดที่นำไปสู่พระราชวัง และส่วนท้องพระโรงที่เรียกว่า อพาดาน่า (Apadana)
ผนังเหล่านี้จะมีภาพแกะสลักนูนต่ำที่บันทึกเรื่องราวในอดีตไว้ ทำหน้าที่เสมือนกล้องถ่ายรูปในยุคปัจจุบันเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีอีกหลายจุดที่น่าสนใจ แม้ว่าเมืองเปอร์ซีโพลิสจะถูกเผาทำลายลงไปอย่างราบคาบในตอนที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ยกทัพมายึดเปอร์เซียได้ในราวปี 330 ก่อนคริสตกาลก็ตามแต่ร่องรอยที่เหลืออยู่ ก็ยังควรค่าแก่การมาเยี่ยมชมอยู่ดี
และไม่ไกล จากนั้นประมาณ 10 กิโลเมตรหรือถ้าขับรถไปก็ประมาณ 5-10 นาทีนั่นคือ นครหลังความตาย นัค-เช รอสตัม (Naqsh-e-Rostam) หรือรู้จักในนาม นีโครโพลิส (Necropolis) หรือที่หลายคนคุ้นหูว่าคือสุสานสี่กษัตริย์ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งพระราชวัง แต่เป็นพระราชวังสำหรับชีวิตหลังความตายของกษัตริย์ที่เคยประทับบัลลังก์แห่งเปอร์ซิโพลสิทั้ง 4 พระองค์ได้แก่ กษัตริย์ดาริอุสที่ 1 และกษัตริย์องค์ต่อๆ มา อีก 3 พระองค์
สร้างโดยการขุดเจาะเข้าไปในหน้าผาหิน ให้เป็นห้องขนาดใหญ่ มีปรากฏอักษรรูปลิ่มที่เรียกว่าอักษรคูนิฟอร์มบนผนังหน้าผาและสุสานของกษัตริย์ดาริอุสที่ 2 ส่วนมากในบริเวณสุสานเหล่านี้จะแกะสลักรูปภาพบรรยายถึงชัยชนะในการรบของกองทัพม้าอันเกรียงไกรอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 20 เมตร เพื่อป้องกันการบุกรุกจากภายนอก หินส่วนหน้าก็ทำการแกะสลักดูแล้วสวยงามทีเดียว
อิสฟาฮาน (Isfahan) สุดยอดของสถาปัตยกรรม
ถ้าถามว่านอกจากเตหะรานแล้ว อีกหนึ่งเมืองที่น่าสนใจสำหรับอิหร่านคือเมืองอิสฟาฮาน อดีตเมืองหลวงเก่าของอาณาจักรเปอร์เซียที่นี่เป็นศูนย์กลางการปกครองและเมืองศูนย์กลางทางการค้า จนได้รับฉายาว่า อิสฟาฮาน คือ ครึ่งหนึ่งของโลก (Esfahan is half of the world) กล่าวคือเป็นเมืองที่รวมทุกสิ่งไว้ถึงครึ่งหนึ่งของโลก ความยิ่งใหญ่อลังการของอิสฟาฮาน ดูได้จากจัตุรัสนัค เอ ฌะฮาน (Naqsh-e Jahan Square) หรือที่รู้จักกันในชื่อจัตุรัสอิหม่าม (Imam Square) จัตุรัสนี้กว้าง 160 เมตร และมีความยาวถึง 560 เมตร รวมเนื้อที่ประมาณ 89,600 กว่าตารางเมตร ใหญ่กว่าจัตุรัสแดงในกรุงมอสโกถึง 2 เท่าและใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจัตุรัสเทียนอันเหมิน ดังนั้นหากจะนัดแนะพบเจอกันที่จัตุรัสแห่งนี้ ต้องระบุตำแหน่งให้ดี ไม่งั้นหากันไม่เจอแน่นอน มีอาคารมากมายที่รายล้อมจัตุรัส
แต่ที่คนนิยมแวะเข้าไปชมคือมัสยิดชีคห์ลอตฟอลลาห์ (Sheikh Lotfollah Mosque) สร้างโดยชาห์ อับบาสที่ 1 เป็นมัสยิดประจำองค์พระมหากษัตริย์และคนในราชสำนักเท่านั้น ตัวโดมถือได้ว่างดงามที่สุดในประเทศอิหร่านแม้ว่าจะมีขนาดเล็ก แต่มีสัดส่วนที่งดงามมาก ที่แตกต่างจากมัสยิดทั่วไปในอิหร่านคือไม่มีสนามกว้างด้านหน้า และหออะซาน เหตุผลหนึ่งที่มัสยิดแห่งนี้ไม่ได้รับการเปิดเผยให้เห็นมากนัก เพราะสร้างขึ้นเฉพาะให้สมาชิกในฮาเร็มของชาห์ อับบาส ใช้ประกอบศาสนกิจถึงจะเป็นที่ประกอบกิจทางศาสนาก็มีความสวยไม่แพ้สถาปัตยกรรมตามแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ทางด้านตะวันตกของจัตุรัสอิหม่าม เป็นอาคาร 6 ชั้น ที่ใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง เรียกว่าพระราชวังอะลีคาปู (Ali Qapu Palace)
ความพิเศษอยู่ที่ใช้เทคนิคการฉลุผนังและเพดานใหให้เป็นช่อแบบรวงผึ้งเพื่อสามารถดูดซับเสียงอันสุนทรีย์ของเหล่าวงมโหรี โดยไม่มีเสียงสะท้อนเลย และปลายสุดทางด้านทิศใต้ของจัตุรัสอิหม่าม มีอีกหนึ่งมัสยิดมีความยิ่งใหญ่และสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นั่นคือ มัสยิดอิหม่าม (Imam Mosque) โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวโดมหลักขนาดมหึมา ที่สร้างคร่อมเป็นสองชั้นขนานกันตลอดทุกตารางนิ้ว มีผลต่อการระบายอากาศและการกระจายของเสียงผู้นำสวดให้แผ่ออกไปได้ยินชัดเจนทุกซอกทุกมุมโดยไม่ต้องใช้ไมโครโฟนกันเลยเป็นความน่าทึ่งคนละรูปแบบ แต่ก็เรียกเสียงฮือฮาได้จากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยมัสยิดทั้งหมดหันไปทางขวา ตามทิศทางของการหันไปหามักกะฮ์ หรือนครเมกกะนั่นเอง นี้เป็นเพียงแค่เสี้ยวเล็กๆ ที่ผมได้ไปสัมผัสอิหร่าน อันที่จริงมีอีกหลายจุดและหลายเมืองที่น่าสนใจหากคุณได้ไปเที่ยวคุณจะหลงรักอิหร่าน และตกเป็นทาสความงามของประเทศนี้ได้อย่างง่ายดาย
อิหร่าน มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เวลาจะช้ากว่าเวลาประเทศไทย 2.30 ชั่วโมง
- ฤดูกาลของอิหร่าน ฤดูใบไม้ร่วง ช่วงประมาณเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน
ฤดูหนาว ช่วงเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ เป็นช่วงฤดูหนาว ที่นี่หิมะตก
ต่อด้วยฤดูใบไม้ผลิ ประมาณเดือนเมษายน – พฤษภาคม - สกุลเงินอิหร่านเรียกว่า อิหร่านเรียล (Iran Rial) ใช้ตัวย่อว่า IRR
โดยคิดง่ายๆ ว่า 1,000 อิหร่านเรียล ประมาณ 1 บาทไทย
แต่คนอิหร่านยังชินกับการเรียกสกุลเงินโตมัน (Toman) อยู่
แม้จะเลิกใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1932 ก็ตาม โดย 1 โตมัน = 10 เรียล - มีสายการบินที่บินตรงสู่ท่าอากาศยานนานาชาติอิหม่ามโคไมนี หลายสายการบิน
เช่น การบินไทยหรือสายการบินมาฮาน แอร์ เป็นต้น