สีสัน… “ป่าห้วยขาแข้ง” มรดกโลกแห่งสัตว์ป่าและขุนเขา
เรื่องและภาพโดย อ.พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ
ด้านตะวันตกของประเทศนั้นมีผืนป่าธรรมชาติขนาดใหญ่ที่เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของไทยนั้นคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร นอกจากผืนป่านี้จะเป็นแหล่งของสัตว์ป่าหลายชนิดแล้วพื้นที่ยังเต็มไปด้วยป่าไม้และขุนเขา บริเวณชายขอบของป่ายังมีชุมชนและตำบลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะบริเวณป่าอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี นั้นมีชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบนเขา ดังนั้้นเรื่องป่าผืนใหญ่ในตำบลแก่นมะกรูด ของอำเภอบ้านไร่จึงมีความน่าสนใจ
ด้วยเหตุที่ป่าแห่งนี้เป็นป่าต้นน้ำที่มีลำน้ำแยกจากแควใหญ่ชื่อว่า “ลำน้ำข้าง” ไหลพาดผ่านผืนป่าใหญ่ขึ้นสู่ป่าแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ในอดีตนั้นป่าแห่งนี้เป็นป่ารกทึบไม่มีผู้บุกรุกทำลายป่าเรียกกันว่าเป็นป่าบริสุทธิ์ (Virgin Forest) ที่ยังไม่เคยมีการจัดการด้านป่าไม้มาก่อน จนปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ป่าดังกล่าวได้ถูกจัดให้เป็นป่าโครงการที่ให้สัมปทานการทำไม้แก่บริษัทไม้อัดไทยตามสัญญาสัมปทานที่ ๘๔ เป็นป่าสัมปทานปิด ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๖ จังหวัดอุทัยธานีได้เสนอกรมป่าไม้ขอให้ดำเนินการสงวนป่าผืนนี้ ซึ่งกรมป่าไม้ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นป่ารกทึบยังไม่มีการบุกรุกทำลาย และมีอาณาเขตกว้างขวางมาก ประมาณ ๑,๖๐๐ ตารางกิโลเมตร จึงสมควรดำเนินการคุ้มครองไว้ก่อน
ต่อมาหนังสือพิมพ์สารเสรี ฉบับประจำวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้ลงข่าวเกี่ยวกับการตรวจราชการท้องถิ่น ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ ของป่าไม้จังหวัดอุทัยธานี ตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นได้พบว่าชาวกะเหรี่ยงบ้านใหม่ฯ นั้นได้แผ้วถางป่าจำนวน ๒๐๐ ไร่กับบริเวณป่าอีมาด ห้วยขาแข้ง ซึ่งอยู่ในโครงการที่จะกำหนดให้เป็นป่าคุ้มครองซึ่งมีเนื้อที่ ๒,๑๐๐ ตารางกิโลเมตร จึงรายงานเสนอกรมป่าไม้ที่เห็นพ้องต้องกันประกอบกับได้มีการจัดให้ป่าแห่งนี้อยู่ในโครงการที่จะจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไว้ก่อนแล้ว จึงพิจารณาจัดตั้งให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่งมีอาณาเขตติดกัน
ต่อมาวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้มีการแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ เรื่องการสำรวจควายป่าของนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งที่เข้าร่วมสำรวจป่า กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเจ้าหน้าที่บริษัทไม้อัดไทยจำกัด หลังจากการแพร่ภาพนั้นจึงมีการส่งรายงานการสำรวจให้กรมป่าไม้ โดยรายงานว่าสัตว์ป่าในป่าห้วยขาแข้งนั้นยังมีจำนวนมากอยู่ จึงมีการดำเนินการและเตรียมการจัดตั้งให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยประสานงานกับบริษัทไม้อัดไทยจำกัด เจ้าของสัมปทานทำไม้ในป่าบริเวณดังกล่าว เพื่อยกเลิกสัมปทาน จนวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๐ จึงได้ประกาศให้ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอลานสัก อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานีและอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เนื้อที่ ๑,๐๑๙,๓๗๕ ไร่ หรือ ๑,๖๓๑ ตารางกิโลเมตรเป็น “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง”
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้ผนวกพื้นที่เพิ่มเติมทางด้านทิศตะวันออก และทิศใต้ รวมเป็นเนื้อที่ทั้งหมด ๑,๗๓๗,๕๘๗ ไร่ หรือ ๒,๗๘๐.๑๔ ตารางกิโลเมตร ประกาศเพิ่มพื้นที่เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ นับเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศและมีพื้นที่ติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในพื้นที่จังหวัดตากและจังหวัดกาญจนบุรี ที่อยู่ทางทิศตะวันตก ถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย และเป็นผืนป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผืนใหญ่นี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยองค์การยูเนสโกเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของป่าผืนใหญ่จึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสุดท้ายของสัตว์ป่าหายากหลายชนิด บางชนิดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ เช่น สมเสร็จ, เก้งหม้อ, เลียงผา, กระทิง, วัวแดง, ควายป่า และเป็นแหล่งอาศัย ของเสือโคร่ง ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และได้แพร่ขยายไปยังพื้นที่ป่าใกล้เคียงกันด้วย จากการศึกษาพบว่าป่านี้มีเสือโคร่งประมาณ ๗๐ – ๘๐ ตัว จากจำนวนทั้งหมดที่มีอยู่ตามธรรมชาติในประเทศไทย ๒๕๐ – ๓๐๐ ตัว
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนี้มีสัตว์ป่าที่เป็นจุดสนใจที่เรียกกันว่า “ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งเจ็ด” (Big 7) ได้แก่ ช้าง, เสือโคร่ง, เสือดาว, ควายป่า, วัวแดง, กระทิง และสมเสร็จ ที่นักนิยมไพรถ่ายภาพสามารถเดินทางเข้าไปชมธรรมชาติได้
ส่วนชุมชนชายป่านั้นวันนี้ได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีสวนดอกไม้ตามฤดูกาล มีรีสอร์ต สวนไม้ผลธรรมชาติ และแหล่งผ้าทอพื้นบ้านที่มีฝีมือระดับอาเซียน ซึ่งมีผลงานรับรางวัลจากยูเนสโก และต้นไม้ใหญ่ที่เป็นรุกขมรดก ทำให้อำเภอบ้านไร่เป็นพื้นที่มีสีสันจากวิถีธรรมชาติมากขึ้น
ขอบคุณโครงการทัศนศึกษา Agent & Media Fam Trip การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย