สีสัน…จิตรกรรมชั้นสูงฉากบังเพลิง

Story & Photo by Paladisai Sitthithanyakij

การสร้างงานจิตรกรรมฉากบังเพลิงเพื่อประกอบพระเมรุมาศ ที่สร้างขึ้นเพื่อส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ สู่สรวงสวรรค์นั้น กรมศิลปากรโดย สำนักช่างสิบหมู่ได้ร่วมกันสร้างผลงานจิตรกรรมชั้นสูงเพื่อถวายงานสำคัญที่สุดในชีวิต นับเป็นจิตรกรรมที่มีความหมายมาก

มีการนำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า ๔,๐๐๐ โครงการมาคัดเลือกเพื่อถ่ายทอดบนภาพจิตรกรรมบนฉากบังเพลิง ขนาดสูง ๔.๔ เมตร กว้าง ๕.๓๕ เมตร โดยพระเมรุมาศทรงบุษบก ๙ ยอด นั้นมีฉากบังเพลิงอยู่ด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งแต่ละด้านประกอบด้วยฉากบังเพลิง ๔ ช่อง ช่องละ ๒ ส่วน ซึ่งช่องบนนั้นเป็นภาพพระนารายณ์อวตาร จากพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ เรื่องพระนารายณ์สิบปาง ที่คัดเลือกมา ๘ ปางโดยยกเว้นปางที่ ๕ และปางที่ ๙ ภาพพระนารายณ์ อวตาร ๘ ปางนั้นได้ถือเอาพระบรมโกศทองใหญ่ของในหลวง รัชกาลที่ ๙ เป็นเสมือนพระนารายณ์อวตารอีกปางหนึ่งเป็นปางที่ ๙ ซึ่งได้อัญเชิญพระบรมโกศตั้งอยู่ในพระเมรุมาศ ทรงบุษบก ๙ ยอดอยู่แล้ว

สำหรับฉากบังเพลิงนั้นเขียนภาพจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๒๔ โครงการโดยแยกงานตามหมวด ดิน น้ำ ลม ไฟ กล่าวคือ ด้านทิศเหนือเป็นหมวดน้ำ ช่องด้านบนเป็นพระนารายณ์อวตาร ปางที่ ๑ คือ มัสยาอวตาร ทรงอวตารเป็นปลากรายทอง และปางที่ ๒ กูรมาวตาร ทรงอวตารเป็นเต่าอยู่ช่องกลางด้านซ้ายบน ภาพขนาบซ้ายขวาของพระนารายณ์อวตารนี้เป็นภาพกลุ่มเทวดาที่ลงมาแสดงความสักการะแด่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ และรับกลับขึ้นสู่สรวงสวรรค์

ส่วนช่องด้านล่างของฉากทั้ง ๔ ช่อง รวมถึงบริเวณทางขึ้นบันไดสองด้านนั้น เป็นภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๖ โครงการได้แก่ ฝนหลวงแก้ปัญหาความแห้งแล้งภาคอีสาน

โดยเลือกพื้นที่วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ฝายต้นน้ำ เพื่อชะลอน้ำ ศูนย์ศึกษาการพัฒนา ห้วยฮ่องไคร้ เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า ประจวบคีรีขันธ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในช่วงเวลาขาดแคลนน้ำ ประตูน้ำโครงการพัฒนา พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง กังหันน้ำชัยพัฒนา เครื่องกลเติมอากาศ บำบัดน้ำเสีย

ด้านทิศตะวันออก เป็นหมวดดินช่องด้านบนเป็นพระนารายณ์อวตาร ปางที่ ๓ วราหาวตาร ทรงอวตารเป็นหมูป่าและปางที่ ๔ สิงหาวตาร ทรงอวตารเป็นนรสิงห์ ช่องด้านล่างของฉากทั้ง ๔ ช่องรวมถึงบริเวณทางขึ้นบันได ประกอบด้วยโครงการอันเนื่องมาจาก ๖ โครงการ ได้แก่ ดินกรวด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ดินเค็ม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ดินทราย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน และโครงการหุบกะพง-ดอนห้วยขุน ดินดานลูกรัง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายดินพรุ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง และดินเปรี้ยว ศูนย์ศึกษาการพัฒนา พิกุลทอง

ทิศตะวันตก เป็นหมวดลมช่องด้านบนเป็นพระนารายณ์อวตารปางที่ ๙ กฤษณาวตาร ทรงอวตารเป็นพระกฤษณะและปางที่ ๑๐ กัลกยาวตาร ทรงอวตารเป็นมนุษย์ขี่ม้าขาว ช่องด้านล่าง ประกอบด้วยกังหันลม โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ บ้านหนองคอไก่ จ.เพชรบุรี เพื่อการผันน้ำจากที่ต่ำชักน้ำขึ้นที่สูง กังหันลม โครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยม่อนล้าน จ.เชียงใหม่ กังหันลม โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมและกังหันลมสูบน้ำ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยแหลมตะลุมพุ จ.นครศรีธรรมราช เป็นที่มาของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์และบางกระเจ้า ปอดของกรุงเทพฯ พระราชดำริพื้นที่บางกะเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวและเป็นปอดของกรุงเทพฯ ด้วยลมมรสุมจากอ่าวไทยนั้นได้พัดเอาอากาศบริสุทธิ์จากพื้นที่แห่งนี้เข้ามาฟอกอากาศเสียในกรุงเทพฯ ตลอดเวลามากกว่าปีละ ๙ เดือน

ด้านทิศใต้ เป็นหมวดไฟช่องด้านบนเป็นภาพพระนารายณ์อวตาร ปางที่ ๖ ปรศุรามาวตาร ทรงอวตารเป็นพราหมณ์ปรศุราม ผู้ใช้ขวานเป็นอาวุธและปางที่ ๗ รามาวตาร ทรงอวตารเป็นพระรามในรามเกียรติ์ ช่องด้านล่างรวมถึงทางขึ้นบันไดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๖ โครงการ ประกอบด้วยสบู่ดำ ปลูกเพื่อสกัดน้ำมัน สามารถใช้แทนน้ำมันดีเซล ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน โรงงานผลิตไบโอดีเซล ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เชื้อเพลิงอัดแท่ง แกลบอัดแท่ง โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ก๊าซชีวภาพ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ ผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้ไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์รับส่งสัญญาณดาวเทียม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ และกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าที่ประตูน้ำคลองลัดโพธิ์

สำหรับด้านหลังฉากบังเพลิงทั้งสี่ด้านนั้นมีลวดลายเหมือนกันทุกด้านโดยด้านบนเป็นภาพพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” โดยมีดอกดาวเรืองสีเหลืองอันเป็นสีประจำวันพระราชสมภพของพระองค์ประดับแทรกอยู่ตรงกลาง ภปร และบริเวณรอบข้างเป็นดอกไม้มณฑาทิพย์ที่ร้อยเป็นลายเฟื่องอุบะห้อยอยู่ถือเป็นดอกไม้แห่งสวรรค์ที่ร่วงหล่นในเหตุการณ์สำคัญของชาวโลกนั่นคือการเสด็จสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ ๙

ผู้เขียนถ่ายรูปคู่กับนายมณเฑียร ช่างสิบหมู่ ผู้คุมงาน

ด้านล่างประกอบด้วยดอกไม้มงคล อาทิ ดอกบัวเงิน ดอกบัวทอง ดอกบัวสวรรค์ ผูกด้วยดอกและใบบัวล้อสายน้ำ ลายเมฆและลวดลายไทย โดยมีใบหญ้าแฝกแทรกอยู่ตามดอกบัว ส่วนอีก ๒ ช่องที่ขนาบพระปรมาภิไธย ภปร นั้นเป็นพุ่มต้นไม้ทองซึ่งเป็นการนำดอกไม้มณฑาทิพย์มาร้อยเรียงให้เป็นพุ่ม สื่อถึงการนำมาถวายสักการะในหลวง รัชกาลที่ ๙ นั่นเอง

งานจิตรกรรมชั้นสูงนี้จึงถือเป็นผลงานที่ช่างทุกคนร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันมากพ้นสุดพรรณนาอย่างที่สุดในชีวิตเดียว

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0