พุกาม ดินแดนแห่งทะเลเจดีย์ – Bagan The Land of Pagodas
Story & Photo by เรื่องเล่าจากกระเป๋าเดินทาง
อาณาจักรพุกาม ฉันได้ยินชื่อเสียงเรียงนามดินแดนแห่งนี้ ครั้งแรกตอนเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในสมัยมัธยมศึกษา ตอนนั้นจำได้แค่ว่าพุกามเป็นอาณาจักรและราชวงศ์แห่งแรกในประวัติศาสตร์เมียนมาร์ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อกว่าพันปีที่แล้ว ณ ริมแม่น้ำอิรวดีสายโลหิตแห่งชนชาติเมียนมาร์ และถือเป็นจุดเริ่มต้นของชนชาติเมียนมาร์เลยก็ว่าได้
การปิดประเทศกว่า 50 ปีทำให้เราทราบข่าวและรับรู้เรื่องราวของประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ได้เพียงน้อยนิดจนแทบไม่เคยรู้เลยว่าเพื่อนบ้านของเรามีความสวยงามซ่อนอยู่มากมายแค่ไหน จนเมื่อ National Geographic ได้จัดอันดับให้พุกามเป็น 1 ใน 20 เมืองสวยของโลก ภาพทะเลเจดีย์แห่งพุกามสวยงามติดตาตรึงใจจนทำให้ฉันจดชื่อเมืองนี้ไว้เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวต้องห้ามพลาดในชีวิตเมื่อเมียนมาร์เริ่มปฏิรูปการเมืองและพร้อมเปิดประเทศต้อนรับนักเดินทางจากทั่วโลกภายใต้ชื่อใหม่ “สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์” (The Republic of the Union of Myanmar) ฉันก็เริ่มจัดสรรเวลาหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมียนมาร์ด้วยตัวเองให้มากกว่าที่เคยรู้จักผ่านสื่อต่างๆ แน่นอนว่าฉันปักหมุดเมือง “พุกาม” ไว้บนแผนที่สำหรับการเดินทางไปเยือนเมียนมาร์ครั้งแรกของฉันโดยมีเพื่อนสาวอีก 2 คนร่วมออกเดินทางไปด้วย
พวกเราตั้งต้นออกเดินทางไปพุกามจากเมืองย่างกุ้งเมืองหลวงเก่าที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าและการคมนาคมของเมียนมา ณ สถานีขนส่งอองมิงกาลาในยามเย็นที่คึกคักไปด้วยผู้คนที่กำลังเดินทางไปยังเมืองต่างๆ การนั่งรถบัสประจำทางข้ามคืนข้ามเมืองในเมียนมาร์ครั้งแรกทำให้เกิดอาการตื่นเต้นไม่น้อยแต่รถบัสสภาพดีใหม่เอี่ยม แอร์เย็นฉ่ำ และสภาพถนนที่เพิ่งตัดใหม่ทำให้พวกเราหลับสนิทตลอด 8 ชั่วโมง จากเส้นทางย่างกุ้ง – พุกาม ระยะทางร่วมกว่า 600 กิโลเมตร รถบัสจอดนิ่งเมื่อตอนเวลาย่างเข้าตี 3 นอกหน้าต่างยังคงมืดสนิทพวกเรางัวเงียขยี้ตาเมื่อได้ยินเสียงคนขับรถบัสส่งเสียงที่ฟังออกแค่ว่า “BaganBagan” ทุกคนทยอยลงจากรถเป็นการยืนยันว่าพวกเรามาถึงที่หมายแล้ว ก้าวขายังไม่ทันพ้นรถกองทัพพลขับก็เข้ามารุมและเรียกร้องให้ใช้บริการรถของพวกเขา ฉันพยายามฝ่าฝูงชนออกมาตั้งหลักส่ายหน้าบอกปัดพี่ๆ ลุงๆ น้าๆ ที่เข้ามารุมล้อมแล้วกดโทรศัพท์ไปหาโรงแรมที่จองไว้เพื่อให้ส่งรถมารับตามที่ตกลงกัน แต่เสียงจากปลายสายกลับตอบมาว่าพวกเรามาถึงเร็วกว่ากำหนดหลายชั่วโมงจึงไม่ได้จัดรถไว้ให้ในเวลานี้ให้พวกเราหารถแท็กซี่เข้ามาที่โรงแรมเอง สุดท้ายฉันก็ต้องหันไปง้อคุณลุงที่ยังยืนเคี้ยวหมากรอดูท่าทีของพวกเรา อยู่ไม่ไกลเห็นใจที่แกอดทนรอไม่หนีไปไหนเลยใช้บริการสักหน่อย คุณลุงเริ่มเจรจาเสนอนำเที่ยวถึงแม้ว่ารถตู้ของลุงจะเก่าไปนิด แต่ด้วยราคาที่น่าพอใจและถูกชะตากันเลยตอบตกลงเหมารถคุณลุงเที่ยวตลอด 2 วันที่เมืองพุกาม รวมทั้งพาไปชมทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกเป็นจำนวน 4 เที่ยวด้วยกัน การเดินทางเที่ยวเมืองพุกามมีให้เลือกหลายรูปแบบทั้งการเหมาเช่ารถ ปั่นจักรยาน นั่งรถม้า หรือเช่าจักรยานไฟฟ้า สำหรับพวกเราเลือกที่จะเหมาเช่ารถแท็กซี่เพราะสามารถเดินทางได้ครอบคลุมทั้งเขตเมืองเก่าและเขตเมืองใหม่ อาจจะไม่ได้บรรยากาศเท่าการปั่นจักรยานหรือนั่งรถม้าแต่ก็เหมาะสำหรับคนที่ไม่ต้องการคลุกฝุ่นหรือมีเวลาน้อย แต่อยากเที่ยวได้ทั่วเลือกกันได้ตามความชอบเวลาและงบประมาณในกระเป๋า
แสงแรกเหนือทุ่งทะเลเจดีย์
เวลาที่ฉันเฝ้ารอคอยมานานก็มาถึง คุณลุงพาพวกเรามาส่งที่เจดีย์ บูเลตี (Bulethi Pagoda) เพื่อเฝ้าชมพระอาทิตย์ขึ้นเหนือทุ่งทะเลเจดีย์ พวกเรามาถึงตั้งแต่ฟ้ายังมืดสนิทแต่ก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยมาพร้อมอุปกรณ์ถ่ายภาพครบครันรออยู่ก่อนแล้ว ตอนนั้นฉันได้แต่ลุ้นว่าสิ่งที่อยู่ข้างหน้าทะเลเจดีย์ที่ฉันใฝ่ฝันและดั้นด้นมาหานั้นจะเป็นอย่างไรเพราะยังคงถูกความมืดปกคลุมไว้และถึงแม้จะยังง่วงนอนแต่ก็พยายามปลุกตัวเองให้ลืมตาและกระตุ้นบอกตัวเองว่าความสวยงามที่ล้ำค่ากำลังจะโผล่มาตรงหน้านี้แล้ว เมื่อแสงแรกของวันทักทายขึ้นมาฉันได้แต่หยุดนิ่งปล่อยกล้องถ่ายรูปทิ้งไว้แล้วใช้สายตาและหัวใจซึมซับกับภาพความงดงามตรงหน้า แสงของพระอาทิตย์ยามเช้าทำให้เจดีย์ที่เราเห็นสวยงามกว่าก่อนหน้านี้ทุ่งเจดีย์ที่กว้างสุดลูกหูลูกตา “มหาศาล” ทั้งในแง่ปริมาณของเจดีย์และความสวยงามไม่ไกลกันนักกลุ่มบอลลูนลมร้อน (hot – air balloon) ก็ถูกปล่อยให้ลอยล่องขึ้นไปบนอากาศบอลลูนค่อยๆ ลอยสูงขึ้นเหนือท้องทะเลเจดีย์และเคลื่อนผ่านสายตาของเราไปลูกแล้วลูกเล่าเป็นความเพลิดเพลินและ
ทำให้จิตใจของฉันลอยล่องไปพร้อมกับกลุ่มบอลลูนเหล่านั้น หากวันหนึ่งที่มีโอกาสและมีเงินในกระเป๋ามากพอจะขอลองนั่งอยู่ในบอลลูนชมวิวดูบ้างสำหรับวันนี้แค่ได้เห็นบรรยากาศงดงามตรงหน้าก็รู้สึกคุ้มแสนคุ้มกับการเดินทางไกลมาที่นี่ฉันคิดในใจ “ชีวิตเราก็เหมือนบอลลูนถ้าเราไม่ก้าวออกไปเราก็ไม่รู้เลยว่าเราไปได้สูง หรือไปได้ไกลแค่ไหน” พุกามได้ชื่อว่าดินแดนแห่งเจดีย์สี่พันองค์นับหลังจากที่พระเจ้าอโนรธาได้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาในอาณาจักร กษัตริย์ทุกพระองค์ และชาวบ้านก็ขยันสร้างเจดีย์กัน ในสมัยที่รุ่งเรืองเคยมีเจดีย์มากมายถึง 4,446 องค์ ผ่านกาลเวลาผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านศึกสงคราม ผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหว ปัจจุบันเหลือแค่เพียง 2,217 องค์ แต่ถึงกระนั้นท้องทะเลเจดีย์พุกามก็ยังคงดึงดูดนักเดินทางจากทุกมุมโลกให้ได้มาเยือนสักครั้งในชีวิต
ตลาดตองอูแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชาวพุกาม
ฉันชอบเรียนรู้วิถีชีวิตสดๆ ดิบๆ ของคนท้องถิ่นที่ตลาดเช้าจึงไม่พลาด ที่จะไปชมตลาดตองอู (Mani Sithu Market) ที่นี่เป็นตลาดเช้าขนาดใหญ่ ที่มีสินค้าพื้นเมืองหลากหลายชนิดตั้งแต่ผักผลไม้ ดอกไม้ ข้าวของเครื่องใช้ ในครัวเรือน และเราจะยังคงได้เห็นแม่ค้าพ่อค้าใช้ตาชั่งแบบโบราณ ผักผลไม้สดจากไร่จากสวนชวนให้อยากทำอาหาร ดอกไม้สำหรับบูชาพระสวยงามและมีหลากหลายให้เลือกเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและไม่สามารถพบเห็นได้แล้ว ผู้คนที่นี่อยู่กันเป็นชุมชนที่เราสามารถสัมผัสได้ถึงความผูกพันและการพึ่งพาอาศัยกันมิตรภาพผ่านรอยยิ้มที่ส่งมาทักทายถึงแม้เราจะไม่เคยได้รู้จักและพูดคุยกันเลยก็ตาม เวลาของคนที่นี่ เดินช้ากว่าเวลาของพวกเราที่เดินทางมาจากเมืองใหญ่มากนักเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงและความสะดวกสบายครบครันแต่ฉันมองไม่เห็น “ความสุข” ได้เท่ากับที่ฉันมองเห็นที่นี่
เครื่องเขินหัตถกรรมขึ้นชื่อของพุกาม
พุกามมีแหล่งผลิตเครื่องเขิน (Lacquerware) เยอะมากและกระจายอยู่ทุกโซนของเมืองแต่ที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดก็คือที่หมู่บ้านเมียงกาบา (Myinkaba village) ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ทำเครื่องเขินกันมานานกว่า 100 ปีเลยทีเดียวพวกเราได้เข้าไปชมวิธีการผลิตเครื่องเขินกันที่ MaungAungMyin Art Gallery ขั้นตอนการทำที่ประณีตวิจิตรบรรจงงานบางชิ้นใช้เวลาทำกันเป็นปีทำให้เข้าใจแล้วว่าทำไมสินค้าแบบนี้จึงมีราคาค่อนข้างสูง วิธีการทำเครื่องเขินเริ่มต้นจากการนำวัสดุมาขึ้นโครงเป็นถ้วยถังกะละมังตู้ ฯลฯ วัสดุที่นำมาใช้มีทั้งไม้ ไม้ไผ่ หรือขนหางม้า ถ้วยชามใบเล็กๆ ที่ทำจากไม้ไผ่จะมีราคาถูกที่สุดหากเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ชิ้นใหญ่ก็จะมีราคาสูงขึ้นและที่แพงที่สุด คือสินค้าที่ทำจากขนหางม้าเพราะต้องสานหางม้าทีละเส้นขึ้นเป็นรูปขนหางม้ามีความเหนียวทนทานจึงมีราคาแพง หลังจากขึ้นรูปแล้วก็ทาด้วยยางรักทาซ้ำๆ หลายๆ รอบแล้วเอาไปอบในห้องใต้ดินที่ไม่มีแสงจนยางรักแห้งสนิททำแบบนี้ซ้ำๆ เป็นสิบๆ รอบ งานบางชิ้นจึงใช้เวลานานเป็นเดือนเป็นปีทีเดียว เมื่อได้ชิ้นงานที่ลงรักดำสนิทก็นำมาลงลวดลายด้วยการขูดเพื่อให้เกิดร่องเล็กๆ บนรักที่ทาลงไป หลังจากนั้นก็ทำการลงสีเครื่องเขินของพุกามมีเอกลักษณ์ในการใช้สีหลักๆ คือแดงเขียวและเหลือง แต่ปัจจุบันนิยมเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าด้วยการใช้สีทองโดยสีเหล่านี้ได้มาจากแร่หินอยากให้ลายที่ขูดไว้เป็นสีอะไรก็ลงสีนั้นลงไปในร่องแล้วค่อยนำมาถูทำความสะอาดส่วนอื่นออกหลังจากนั้นก็มาทำขัดเงาโดยใช้ถ่านไม้ผสมน้ำขัดแล้วเอาหินผาที่ป่นเป็นผงละเอียดมาขัดๆ ถูๆ จนแวววาวงดงามคุ้มค่าที่ได้มาชมศิลปหัตถกรรมที่งดงามแห่งพุกามนี้
มหาเจดีย์ชเวสิกอง 1 ใน 5 มหาพุทธบูชาแห่งเมียนมาร์
แล้วก็ถึงเวลาออกไปตะลุยดงเจดีย์เพื่อได้ชื่นชมและสักการะเหล่าเจดีย์กันอย่างใกล้ชิดทั้งนี้ที่พุกามมีเจดีย์น้อยใหญ่กว่า 2 พันองค์ ฉันจะขอเล่าถึงสถานที่หลักๆ ที่ต้องห้ามพลาดในพุกามเท่านั้น เริ่มต้นจากมหาเจดีย์ชเวสิกอง (Shwezigon pagoda) 1 ใน 5 มหาพุทธบูชาของเมียนมาร์ซึ่งนับเป็นเจดีย์แห่งแรกของเมียนมาร์และมีความสำคัญต่อชาวเมียนมาร์รองมาจากมหาเจดีย์ชเวดากองเมืองย่างกุ้ง ภายในบรรจุพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า สร้างโดยพระเจ้าอโนรธามหาราชพระองค์แรกของ เมียนมาร์ผู้รวบรวมชนชาติเมียนมาร์เป็นปึกแผ่นได้เป็นครั้งแรกในอาณาจักรพุกามเมื่อ 1,000 ปีมาแล้ว ที่นี่เราจะได้เห็นแรงศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาของชาวเมียนมาร์ บริเวณรอบๆ เจดีย์เราก็จะได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน ด้วยชาวเมียนมาร์นิยมแต่งกายสุภาพด้วยชุดประจำชาติเมื่อมาสักการะบูชาพระ นับเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามน่าชื่นชมสิ่งที่ได้เรียนรู้อีกอย่างในการเที่ยวชมวัดวาอารามในเมียนมาร์คือดอกไม้สำหรับไหว้พระใหม่สดเสมอไม่มีการเวียนใช้ซ้ำ นิยมใช้ดอกมหาหงษ์และดอกบัวเป็นดอกไม้ถวายพระ
เจดีย์วิหารอนันดาเจดีย์วิหารสุลามณีอัญมณีแห่งพุกาม
อานันทวิหารหรือเจดีย์วิหารอนันดา (Anandaphaya) ได้รับการยกย่องว่าเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ที่งดงามมากที่สุดในพุกามจนได้รับสมญานามว่าเป็น “เพชรน้ำเอกของพุทธศิลป์สกุลช่างพุกาม” ก่อนเดินทางมาถึงฉันแอบถามคุณลุงว่าชอบที่ไหนที่สุด ในพุกาม คุณลุงก็ตอบว่าเจดีย์วิหารอนันดาเพราะสวยงามที่สุดและเมื่อได้มาเห็นด้วยตาตัวเองก็ต้องยอมรับเลยว่างดงามสมคำร่ำลือเพราะเต็มไปด้วยเชิงชั้นทางศิลปะครบทุกแขนงและมีอิทธิพลของศิลปะแบบอินเดียอยู่มาก ภายในวิหารมีลักษณะเป็นอุโมงค์เดินถึงกันโดยรอบ แต่ละด้านมีซุ้มคูหาเป็นที่ประทับของพระพุทธรูปประทับยืนแกะสลักจากไม้พระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ แต่ละองค์จะวางพระหัตถ์แตกต่างกันและไม่เหมือนพระปางใดๆ ของไทย ฉันเดินช้าๆ เวียนขวาไปตามทางเดินที่เป็นทางเชื่อมระหว่างพระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ
บรรยากาศรอบๆ ด้านนอกเจดีย์วิหารก็ร่มรื่นชวนให้รื่นรมย์มีพ่อค้าแม่ค้าตัวน้อยๆ มาเดินขายของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว เช่น โปสการ์ด สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่สำคัญพ่อค้าแม่ค้าที่นี่พูดภาษาไทยได้ชัดเจนแถมยังมีการแจกจ่ายรอยยิ้มให้เป็นของแถม รอยยิ้มของคนที่นี่จะเป็นสิ่งดีๆ ที่ทำให้นักเดินทางต่างบ้านต่างเมืองไปบอกต่อกัน “เมียนมาร์เมืองยิ้ม” คงช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของชาวเมียนมาร์สำหรับคนไทยให้ดีขึ้นและฉันก็รู้สึกได้ว่าผู้คนที่เมียนมาร์มีรอยยิ้มมากกว่าผู้คนใน “สยามเมืองยิ้ม” ในปัจจุบันเสียอีก ไปเที่ยวกันต่อที่เจดีย์วิหารสุลามณี (Sulamani Temple) อีกหนึ่งอัญมณีแห่งพุกามที่ได้รับการยกย่องว่า “สวยที่สุดในศิลปะยุคกลางแห่งพุกาม” ชื่อของวิหารแปลว่า “สุดยอดอัญมณี” รอบวิหารมีศิลปะปูนปั้นสวยงามมากทีเดียว ด้านในวิหารเป็นพื้นที่โปร่งที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบโบราณที่สวยงามให้ชมเยอะมากมีทั้งของเก่าแบบดั้งเดิม (ส่วนใหญ่ถูกล้อมกรงเพื่ออนุรักษ์ไว้ไม่ให้ถูกทำลาย) และภาพที่ถูกวาดภาพทับขึ้นใหม่ในสมัยคองบองจิตรกรเป็นอาชีพที่เราจะได้พบเห็นได้แทบทุกที่ในพุกามราคาชิ้นงานอาจจะมีราคาสูงแต่งานที่ทำด้วยใจก็มีคุณค่ามากกว่าที่จะประเมินได้โดยเฉพาะภาพวาดจากทราย (Sand painting) เห็นครั้งแรกนึกว่าจะเป็นงานอุตสาหกรรม เพราะที่ไหนก็มีลายคล้ายๆ กันจนมาเจอจิตรกรท่านหนึ่งที่นี่ที่กำลังนั่งบรรเลงฝีพู่กันอย่างตั้งอกตั้งใจ เมื่อเห็นเช่นนั้นก็อดไม่ได้ที่จะอุดหนุนผลงานมาเป็นที่ระลึกและฉันก็ได้ภาพวาดสวยๆ แห่งทุ่งทะเลเจดีย์พุกามมาติดผนังบ้าน
เจดีย์วิหารธรรมยางจี วิหารอันยิ่งใหญ่ที่สุดในพุกาม
เจดีย์วิหารธรรมยางจี (Dhammayangyi) เป็นเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่และแข็งแรงที่สุดในพุกามแฝงไปด้วยความดุดันแข็งแกร่งและมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจสร้างโดยพระเจ้านรธูที่ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อไถ่บาปของพระองค์ เรื่องราวมีอยู่ว่าเมื่อพระเจ้าอลองสิทธูถูกลอบปลงพระชนม์โดยพระโอรสองค์รองซึ่งก็คือพระเจ้านรธู เพราะหวังยึดบัลลังก์พระโอรสองค์ใหญ่ทราบข่าวก็รวบรวมกำลังเพื่อมาทวงบัลลังก์คืนเพราะคิดว่าตนมีสิทธิ์มากกว่า พระเจ้านรธูเห็นท่าไม่ดีเลยไปขอร้องให้พระสังฆราชช่วยไกล่เกลี่ยและสัญญาว่าจะยกอำนาจคืนให้พี่ชาย พระโอรสองค์ใหญ่จึงกลับมารับบัลลังก์แบบไม่มีกองทัพ พระเจ้านรธูทำทีเป็นจัดงานเลี้ยงฉลองขึ้นครองราชย์ให้พี่ชายพร้อมของแถมเป็นยาพิษในอาหารพระเจ้ามินชินซอว์จึงสิ้นพระชนม์หลังขึ้นครองราชย์เพียงหนึ่งวัน ส่วนพระนรธูหลังจากฆ่าพ่อและพี่ชายโกหกพระสังฆราชแล้วก็สถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์แต่ชีวิตของพระองค์ก็ไม่สงบสุขนักประชาชนไม่รักผู้คนประณามพระองค์จึงคิดสร้างเจดีย์เพื่อไถ่บาปแต่เพราะผู้คนไม่ศรัทธาในพระองค์จึงไม่มีใครมาช่วยแรงงานที่มาสร้างเจดีย์แห่งนี้เลยมาจากการบังคับขู่เข็ญและด้วยที่พระองค์ต้องการให้เจดีย์แห่งนี้ใหญ่ที่สุด สูงที่สุด สวยงามที่สุด การเรียงอิฐทุกก้อนต้องเรียบสนิทแม้แต่เข็มก็สอดเข้าไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะโดนจับตัดนิ้วมือทั้ง 2 ข้าง พระองค์ยังประหารพระสนมเนื่องจากมีปากเสียงกันเพราะพระสนมไม่นิยมคนใจร้ายอย่างพระองค์เมื่อพ่อของพระสนมทราบข่าวก็ส่งทหารมาแก้แค้นแทนลูกสาว พระนรธูจึงถูกฆ่าหลังจากครองราชย์ได้เพียง 4 ปีเป็นบทสรุปของกฏแห่งกรรมแม้เวลาจะผ่านไปนานกว่า 800 ปีแล้ว แต่เรายังคงเห็นความประณีตในการก่อเรียงอิฐและสัมผัสได้ถึงเรื่องราวอันโหดร้ายซึ่งเป็นตำนานของเจดีย์วิหารที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้
ทานาคา…ประแป้งแต่งหน้าสไตล์เมียนมาร์
ขณะเดินชมความงดงามของเจดีย์วิหารมหาบดีพวกเราได้เจอกับพี่สาวชาวเมียนมาร์คนหนึ่ง พี่มูมูทักทายพวกเราด้วยภาษาไทยสำเนียง น่ารักและชวนพวกเราให้ไปชมร้านค้าของเธอบอกว่าจะทาแป้งทานาคาให้ฟรี แล้วเธอก็บรรจงประแป้งทานาคาบนแก้มพวกเราอย่างบรรจง 3 สาวชาวไทยเลยได้ประแป้งแต่งหน้าแบบสาวเมียนมาร์เพื่อไปเดินเที่ยวชมวัดกันต่อได้อย่างเก๋ไก๋ไฉไลสไตล์เมียนมาร์ ต้นทานาคาเป็นต้นไม้ยืนต้นที่ขึ้นในเขตร้อน วิธีการใช้ทานาคาแบบดั้งเดิมตามแบบฉบับชาวเมียนมาร์คือนำท่อนทานาคามาฝนตรงเปลือกโดยมีอุปกรณ์สำหรับใช้ฝนเป็นแผ่นหินเรียกว่าเจ้าก์เปี่ยง วิธีการคือพรมน้ำลงบนแผ่นหินเล็กน้อยแล้วเอาท่อนทานาคาถูๆ ฝนๆ จนได้แป้งทานาคาข้นๆ แล้วเอามาทาหน้าได้เลยเป็นวิธีการรักษาผิวพรรณใบหน้าที่ในปัจจุบันก็ยังคงเป็นที่นิยมทั้งชายและหญิงทั้งเด็กหนุ่มสาวและผู้สูงวัย
พระอาทิตย์ลับฟ้าถึงเวลาร่ำลาเมืองพุกาม
เจดีย์ชเวสันดอว์ (Shwesandaw) เป็นจุดชมทุ่งเจดีย์แห่งหนึ่งของพุกามที่เลื่องชื่อว่าสวยงามทั้งยามพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก สามารถเห็นภาพหมู่เจดีย์สุดลูกหูลูกตาพวกเราไต่บันไดขึ้นลงที่นี่หลายรอบเพื่อชมความงดงามทั้งยามเช้าและยามเย็น บางครั้งฉันก็ตอบตัวเองไม่ได้ว่าหลงรักช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์ตกมากกว่ากัน วันสุดท้ายที่พุกามพวกเราไปชมพระอาทิตย์ตกกันที่เจดีย์ Phyathada pagoda ตามคำแนะนำของพนักงานโรงแรม จุดชมวิว ที่นี่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับเจดีย์ชเวสันดอว์แต่มีลานเจดีย์ที่รองรับนักท่องเที่ยวได้จำนวนมากฉันชอบบรรยากาศยามอาทิตย์อัสดงที่นี่มากเป็นพิเศษ แสงสุดท้ายเหนือทะเลเจดีย์ต้นไม้เขียวขจีเบื้องล่างถนนลูกรังที่ไม่จำกัดยานพาหนะทั้งรถม้าวัวและคนใช้สัญจรรวมกันเป็นภาพวิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวพุกาม เหมือนเรากำลังนั่งดูภาพเก่าในอดีตที่ยังสวยงามและอาจหาไม่ได้อีกแล้วจากที่ไหนบนโลกนี้ ความบริสุทธ์ของประวัติศาสตร์ธรรมชาติและรอยยิ้มของผู้คนเป็นความงดงามที่ทำให้ผู้มาเยือนหลงเสน่ห์เมืองพุกามดินแดนแห่งทะเลเจดีย์แห่งนี้ยิ่งอยู่ยิ่งหลงรักแทบไม่อยากจากไปเลย
*** มีประกาศจากกระทรวงวัฒนธรรมพม่า ห้ามให้นักท่องเที่ยวปีนขึ้นสู่เจดีย์ทั่วทั้งเมืองพุกาม (Bagan) โดยคำสั่งดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 เป็นต้นมา เพื่อป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักท่องเที่ยว เช่น การสวมเสื้อผ้าที่ไม่เหมาะสม เต้นรำ หรือนอนหลับบนเจดีย์ แต่มีข้อยกเว้นเพิ่มเติม 5 เจดีย์ ที่นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์ด้านบนได้ คือ Shwesandaw, Pyathard Gyi, South Gunni, North Gunni และ Thitsaw Wati
พุทธศานาที่พุกามจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ แบบแรก คือเจดีย์หรือสถูปเจดีย์ (Pagoda / Stupa) ชาวเมียนมาร์เรียกว่าเซดี (Zedi) จะมีรูปทรงตันๆ เดินเข้าไปด้านในไม่ได้ แบบที่ 2 คือเจดีย์วิหาร (Temple) หรือที่ชาวเมียนมาร์เรียกว่าพญา (Phaya/ Phya) จะมีทรงคล้ายๆ ปราสาทที่สามารถเดินเข้าไปด้านในได้ ที่เรียกว่าคูหาหรือชาวเมียนมาร์เรียกว่ากู่ มีไว้สำหรับประกอบศาสนพิธีหรือประดิษฐานพระพุทธรูป การเที่ยวชมวัดหรือพุทธสถานในเมียนมาร์ต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยควรสวมรองเท้าที่ถอดง่ายและสวมใส่สะดวกเพราะส่วนใหญ่ต้องถอดรองเท้าและไม่อนุญาตให้สวมถุงเท้า
ต้องการซื้อเล่มเดือนนี้ย้อนหลัง คลิกที่รูปปกนิตยสารได้เลย