พระราชวังอัลฮามบรา Alhambra Palace

อัลฮามบรา มาจากคำในภาษาอาหรับว่า “อัลฮัมรออ์” (อาหรับ: الْحَمْرَاء , Al-Ḥamrā) แปลว่า “(สิ่ง) ที่มีสีแดง” เนื่องจากตัวป้อมปราการนั้นก่อสร้างด้วยหิน ดิน และอิฐสีแดง ส่วนอาคารอื่นๆ ซึ่งสร้างโดยใช้ปูนขาวเป็นส่วนประกอบก็จะเห็นเป็นสีออกแดงๆ เช่นกัน พระราชวังอัลฮามบราตั้งอยู่บนเทือกเขาเซียร์ราเนวาดา (Sierra Nevada Mountains)

เมืองกรานาดา (Granada) แคว้นอันดาลูซิอา (Andalucía) ประเทศสเปน ซึ่งเทือกเขานี้เป็นยอดเขาทีสูงที่สุด และมีหิมะปกคลุมส่วนยอดตลอดทั้งปี และกลายเป็นฉากหลังอันงดงามให้กับตัวพระราชวัง ที่นี่สร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1248-1354 โดยกษัตริย์มุสลิมชาวมัวร์สุลต่าน มุฮัมมัดที่ 1 อิบน์ นัสร์ แห่งราชวงศ์นาสริด ซึ่งเป็นราชวงศ์ของชาวมุสลิมราชวงศ์สุดท้ายในสเปน เป็นหนึ่งในสิ่งที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของมรดกทางประวัติศาสตร์ของมุสลิมยิว และคริสต์ ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งสถาปัตยกรรมมุสลิมกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

พระราชวังบนเนินเขาแห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่ ราว 81.25 ไร่ ตัวพระราชวังตั้งอยู่บนเนินเขาหินขนาดใหญ่ ล้อมรอบด้วยกำแพงและป้อมปราการ 13 ป้อม ด้วยภูมิประเทศเช่นนี้ ทำให้ยากต่อการเข้าโจมตี ซึ่งด้วยเหตุนี้ทำให้กรานาดาสามารถต่อต้านกองทัพคริสเตียนได้กว่า 200 ปี

แต่แม้ว่าจะมีที่ตั้งอยู่ บนเนินเขาสูง แต่ก็มีระบบการจัดการเกี่ยวกับน้ำที่ดี มีการทำคูคลองส่งน้ำจากด้านล่างขึ้นมายังพระราชวัง เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ ในแต่ละด้านของพระราชวังมีการแกะสลักลวดลายประดับประดาอย่างสวยงาม ทั้ง ผนัง เสา เพดาน โค้งซุ้มประตูต่างๆ ล้วนแกะสลักอย่างละเอียด นับเป็นงานศิลป์ชั้นยอดของชาวมัวร์ นอกจากนั้นยังมีห้องเล็ก ห้องนอนมากมาย ทั้งห้องชุด ห้องมุข

บริเวณลานดอกไม้ตรงกลางมีน้ำพุที่มีฐานน้ำพุเป็นสิงโตหินอ่อนหมอบอยู่ถึง 12 ตัว แล้วดอกไม้ในสวนก็ส่งกลิ่นหอมตลบไปหมด ด้วยการออกแบบให้มีความลงตัวระหว่าง แสง สายน้ำและสายลม ประติมากรรมและการตกแต่งลวดลายที่ละเอียดอ่อนลงบนฝาผนัง มีการเล่นเงาและการสะท้อนของแสงที่งดงาม อิฐแดงที่ใช้ก่อสร้างทำให้อัลฮามบราดูเป็นสีแดงฉานยามต้องแสงแดดยามบ่าย และในตอนกลางคืนแสงไฟก็สวยงามจนมีนักแต่งเพลงคนสำคัญที่เคยเยี่ยมเยียนได้แต่งเพลง “ราตรีที่กรานาดา” ไว้เป็นที่ระลึกของความสวยงามประทับใจกับที่นี่

การเดินทาง
พระราชวังอัลฮามบราอยู่ที่เมืองกรานาดา ที่ตัวเมืองจะมีรถตู้บริการขึ้นไปด้านบนเขาที่เป็นที่ตั้งของพระราชวัง

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0