Ubud the spirit of Bali : อูบุด ศูนย์รวมจิตวิญญาณแห่งเกาะบาหลี
Story & Photo by เรื่องเล่าจากกระเป๋าเดินทาง
บาหลี (Bali) เกาะเล็กๆ ของประเทศอินโดนีเซียได้รับการขนานนามให้เป็นเกาะสวรรค์ที่เปี่ยมด้วยมนตร์เสน่ห์เย้ายวน มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวมาเป็นเวลานาน และดึงดูดให้ผู้คนนับล้านหลั่งไหลกันไปชมความงดงาม บริเวณใจกลางของเกาะแห่งนี้เป็นที่ตั้งของอูบุด (Ubud)
เมืองเล็กๆ ที่ส่องประกายความเป็นศูนย์กลางทางศิลปะมาอย่างยาวนาน เต็มไปด้วยหมู่บ้านงานศิลปหัตถกรรมมากมาย ทั้งยังคงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบฮินดูอันเป็นเอกลักษณ์ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น อูบุดไม่ติดทะเล แต่อยู่ท่ามกลางขุนเขาและแมกไม้
กระแสความโด่งดังครั้งล่าสุดของเมืองอูบุด มาจากหนังสือและภาพยนตร์เรื่อง Eat, Pray, Love เรื่องราวของหญิงสาวที่เพิ่งหย่าร้างแล้วตัดสินใจออกเดินทางรอบโลกเพื่อตามหาสิ่งที่ขาดหายไป เธอเริ่มต้นการเดินทางที่อิตาลี ปรนเปรอตัวเองด้วยการกินอาหารเลิศรส ต่อด้วยการตามหาความสงบทางจิตใจด้วยการไปฝึกสมาธิที่อินเดีย
และปิดท้ายด้วยการสร้างสมดุลแห่งชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมที่เมืองอูบุดแห่งนี้ ฉันเคยเดินทางไปเกาะบาหลีมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เคยรู้สึกว่าได้ทำความรู้จักกับบาหลีอย่างแท้จริงเลยสักครั้ง ในวันหนึ่งที่ฉันรู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างขาดหายไปจากชีวิต
ฉันเดินทางกลับไปยังบาหลี เลือกที่จะฝังตัวอยู่ที่เมืองอูบุดเป็นสัปดาห์เพื่อซึมซับบรรยากาศให้เต็มอิ่ม ทำความรู้จักกับศิลปวัฒนธรรมแบบบาหลีอย่างจริงจัง และเผื่อว่าจะได้แสวงหาตัวตนบางอย่างที่ยังขาดหายไปเหมือนอย่างนางเอกใน Eat, Pray, Love
เช้าแรกในบาหลีฉันออกไปตะลอนเดินเล่นให้เย็นใจตั้งแต่เช้า
ตั้งต้นกันที่ตลาดอูบุด (Pasar Ubud) แหล่งปากท้องของคนท้องถิ่น ที่ตั้งอยู่ตรงสี่แยกกลางเมืองเยื้องกับพระราชวังอูบุด
ที่นี่บรรยากาศจอแจและคึกคักมากในตอนเช้า ภายในตลาดขายสินค้าพื้นเมืองทุกอย่างที่คนท้องถิ่นใช้และของกินทุกอย่างที่คนที่นี่กิน แม้จะมีภาษาเป็นอุปสรรค แต่รอยยิ้มก็ชวนเชิญต้อนรับนักท่องเที่ยว ถึงแม้ตลาดสดแห่งนี้อาจจะมีสภาพที่ไม่ค่อยน่าดู พื้นที่บางส่วนไม่ค่อยน่าเดิน
แต่ตลาดที่นี่มีกลิ่นหอมอบอวลไปด้วยดอกไม้สด กระทงใบตองสำหรับใส่ดอกไม้บูชาที่ชาวเมืองใช้ในการกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภาพแม่ค้าเอาของทูนหัวเป็นภาพที่เห็นได้ทุกมุมในตลาดและในเมืองนี้
นอกจากเป็นตลาดสดของคนท้องถิ่น ที่นี่ยังมีของที่ระลึกและงานศิลปะสำหรับนักท่องเที่ยว โดยโซนนี้จะดูโอ่โถงกว่าเพราะเป็นตึกสองชั้น
ออกมาจากตลาดสู่บรรยากาศใจกลางเมืองอูบุด ถนนสายหลักทั้งสามสายเรียงรายไปด้วยร้านอาหารหลากสัญชาติ ร้านค้า สปา สตูดิโอโยคะ และที่พักหลากหลายระดับ ตั้งแต่เกสต์เฮาส์ บูติกโฮเต็ลเล็กๆ ไปจนถึงโรงแรมและรีสอร์ตระดับห้าดาว
ได้อารมณ์คล้ายๆ กำลังเดินเล่นอยู่ที่ถนนนิมมานเหมินท์ จ.เชียงใหม่ แต่เมื่อเดินลัดเลาะเข้าไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ ก็จะพบทัศนียภาพสวยงามและเงียบสงบของวัดเก่าแก่ ภูเขา ป่าไม้ ทุ่งนาขั้นบันได และแม่น้ำสายเล็กๆ ใจกลางเมือง อูบุดมีขนาดเล็กๆ เดินเล่นแป๊บเดียวก็ทั่วแล้ว
ฉันเห็นภาพชีวิตในพื้นที่แห่งชีวิตที่มีสีสันและชีวิตชีวามาก คล้ายกับเมืองวัฒนธรรมหลายๆ เมืองที่วิถีชีวิตคนท้องถิ่นสอดแทรกได้อย่างลงตัวกับคนต่างถิ่นที่มาเยี่ยมเยือน
ปลายถนน Monkey Forest หนึ่งในถนนหลักของเมืองนำไปสู่ Sacred Monkey Forest Sanctuary ป่าลิงศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง สถานที่ชมธรรมชาติเขียวขจีและสัตว์ป่าใจกลางเมือง มีฝูงลิงจำนวนมาก เป็นพระเอกนางเอกดึงดูดนักท่องเที่ยว
แต่อยากเตือนว่า อย่ามัวเดินชมธรรมชาติจนเพลิน ต้องคอยระวังฝูงลิงจอมร้ายกาจที่อาจตะครุบหรือกระชากกระเป๋าสิ่งมีค่าจากตัวไปได้
สำหรับนักเดินทางสายธรรมชาติ ขอแนะนำให้ไปเดินเล่นที่ Campuhan Ridge Walk ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากใจกลางเมืองอูบุดนัก เป็นทางเดินบนสันเนินเขาเล็กๆ สองข้างทางเป็นทุ่งหญ้า และทุ่งนาสีเขียวสวยงาม
แม้จะต้องเดินขึ้นๆ ลงๆ เนินเล็กน้อยพอเรียกเหงื่อ แต่หากมาเดินเล่นตอนเช้าๆ ก่อนที่แดดจะแรงก็จะได้เพลิดเพลินและผ่อนคลายกับความงดงามตามธรรมชาติในมุมที่เงียบสงบของอูบุด
บ้านเมืองที่นี่ดูเหมือนว่า ต้นไม้จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขา ฉันสังเกตเห็นสวนหย่อมแทรกอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ไปทั่ว
วิถีชีวิตของคนที่นี่ยังเป็นผลจากการตกผลึกทางความเชื่อดั้งเดิมเรื่องเทพเจ้าและจิตวิญญาณที่สถิตอยู่ในธรรมชาติ จึงได้เห็นกระทงดอกไม้บูชาอยู่ทั่วทุกมุมเมือง แม้กระทั่งสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่สำคัญ เช่น รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ หรือตรงทางแพร่ง บนถนนต่างๆ เราก็อาจจะได้เห็นมีกระทงดอกไม้บูชาวางอยู่ด้วย
ชาวบาหลีส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นฮินดูในแบบบาหลีที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากฮินดูที่อื่น สถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนา เช่น วัดวาอาราม จึงเป็นสถานที่ที่ไม่ควรพลาดไปเยือน วัดดังๆ ในเมืองอูบุด ได้แก่ วัดน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ (Pura Tirta Empul) ที่จะได้เห็นชาวบ้านมาประกอบพิธีทางศาสนาไม่ขาดสาย
หลังจากทำพิธีเสร็จแล้วก็จะมาอาบน้ำจากน้ำพุศักดิ์สิทธิ์กัน
อีกหนึ่งสถานที่ที่ควรแวะไปชมคือ ถ้ำช้าง (Gua Gajah หรือ Elephant Cave) ที่นี่ไม่มีช้างจริงๆ แต่ปากทางเข้าถ้ำเป็นหินแกะสลักรูปช้าง ด้านในถ้ำมีรูปปั้นพระพิฆเนศเศียรช้างที่ชาวเมืองเคารพบูชา
ด้วยความที่เติบโตในครอบครัวที่ปลูกฝังศิลปะและการแสดงพื้นบ้านไทยของภาคใต้ ฉันจึงสนใจมาเรียนรู้งานศิลปะและการแสดงพื้นบ้านของเมืองอูบุดเป็นพิเศษเพราะมีความใกล้เคียงกัน พิพิธภัณฑ์ศิลปะอากุงไร (Agung Rai Museum of Art: ARMA) เป็นสถานที่รวบรวมศิลปะแบบดั้งเดิมและแบบสมัยใหม่ที่น่าสนใจมากมาย
ที่นี่ยังเป็นโรงเรียนชั้นดีสำหรับการเรียนรู้งานศิลปะพื้นบ้านแขนงต่างๆ เช่น งานแกะสลักไม้ งานแกะสลักหิน ดนตรีและนาฏศิลป์
ฉันใช้เวลาคลุกคลีอยู่ที่นี่หลายวันเพื่อเรียนรู้สิ่งเหล่านี้กับคนท้องถิ่น นับเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมมากครั้งหนึ่งในชีวิต ที่นี่ยังรายล้อมไปด้วยสวนและทุ่งนาธรรมชาติที่สวยงาม บรรยากาศที่ผ่อนคลาย มีที่พัก สปา และคาเฟ่สำหรับพักผ่อนอีกด้วย
เมืองอูบุดขึ้นชื่อว่า เป็นศูนย์กลางทางศิลปะและเจิดจรัสไปด้วยงานศิลป์ จึงขอแนะนำให้ลองใช้เวลาไปเดินเล่นตามพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีต่างๆ ที่มีอยู่ตามมุมเมือง สถานที่ชื่อดังอื่นๆ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์เนคา (Neka Art Museum), Agung Rai Fine Art Gallery, Museum Puri Lukisan หรือจะไปช้อปปิ้งงานศิลปะที่ตลาดสุขาวดี (Sukawati Art Market) ก็เพลินดีเหมือนกัน
นอกจากเดินชมพิพิธภัณฑ์ หรือเลือกซื้องานศิลป์ในแกลเลอรีที่มีให้เลือกมากมายตามความชอบและรสนิยมแล้ว มาเยือนเมืองศิลปะทั้งทีก็ไม่ควรพลาดไปชมศิลปะการร่ายรำของบาหลีกันดูบ้าง ที่เมืองอูบุดมีให้เลือกชมหลายแขนงและหลายที่เลยทีเดียว สถานที่ที่สะดวกที่สุดก็คือ พระราชวังอูบุด (Ubud palace) ตรงสี่แยกที่จะมีงานแสดงนาฏศิลป์ในช่วงค่ำคืนเริ่มประมาณทุ่มครึ่ง
คืนแรกฉันไปชมการแสดง Kecak Dance ซึ่งเป็นการแสดงเรื่องราวของรามายณะ ไม่มีเครื่องดนตรี แต่อาศัยการส่งเสียงประสานกันของชายฉกรรจ์ราวสามสิบคน ที่นั่งล้อมรอบลานแสดง ส่งเสียง “กะจั๊ก” เป็นจังหวะ พร้อมเอนตัวไปทางซ้ายทีขวาที ประกอบท่าทางต่างๆ ไม่น่าเชื่อว่าการแสดงที่ไม่มีเสียงดนตรี อาศัยเพียงเสียงคนร้องรับให้จังหวะ ก็ฟังดูมีพลังและให้ความสุนทรีย์ไม่น้อย
ต่อมามีพระรามออกตามหานางสีดาที่ถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไป ช่วงท้ายมีการแสดงลุยไฟด้วย แต่การแสดงที่โด่งดังที่สุดของบาหลีก็คือ ระบำบารอง
ถึงแม้การร่ายรำของบาหลีจะไม่อ่อนช้อยแบบนาฏศิลป์ไทย แต่การถลึงตาโตและการยักย้ายที่น่าเกรงขามของนางรำก็นับว่าเป็นศิลปะการแสดงที่มีเอกลักษณ์มากทีเดียว
การแสดงระบำบารองนี้มีทั้งตอนกลางวันและตอนกลางคืน สามารถเลือกชมได้จากหลายที่ทั้งในตัวเมืองและนอกเมืองอูบุดเลย
อีกสิ่งที่ทำให้การเดินทางครั้งนี้อิ่มเอมก็คือ อาหารบาหลี เมืองอูบุดเป็นเมืองที่มีอาหารให้ตะลอนชิมหลากหลายมาก ทั้งอาหารพื้นเมืองที่รสชาติถูกปากคนไทย หรือจะไปแนวอินเตอร์ก็มีให้เลือกรับประทานครบครัน อาหารที่เลื่องชื่อมากที่สุดของอูบุดก็คือ เป็ดพิโรธ หรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า Bebek Bengil (Dirty duck) เป็นเป็ดร่อนหนังกรอบๆ แต่โดยส่วนตัวแล้วฉันติดใจซี่โครงหมูย่างที่ร้าน Naughty Nuris Warung แกล้มกับเครื่องดื่มของอินโดนีเซีย ช่างเข้ากันได้ดีเหลือเกิน
ส่วนอาหารที่อร่อยเกินความคาดหวังก็คือ สะเต๊ะ เนื้อแพะที่ร้าน Warung Muslimin เป็นร้านเล็กๆ ของชาวบ้าน แต่รสชาติระดับสี่ดาว
นอกจากอาหารแล้วควรไปลองกาแฟระดับตำนานของบาหลี นั่นก็คือ Luwak Coffee หรือกาแฟจากอุจจาระของตัวชะมด
ตัวชะมดจะเลือกกินเฉพาะเมล็ดกาแฟที่สุกและสมบูรณ์แล้วเท่านั้น เมื่อเจ้าชะมดกินเข้าไปแล้ว ก็จะย่อยเฉพาะผลกาแฟเหลือเมล็ดที่ย่อยไม่ได้แล้วถ่ายออกมา
เชื่อกันว่าน้ำย่อยในกระเพาะของชะมดนั้นจะย่อยโปรตีนและสารบางอย่างในเมล็ดกาแฟออกไป ทำให้เมล็ดกาแฟที่เหลือนั้นกลายเป็นกาแฟชั้นเลิศที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 40,000 บาทเลยทีเดียว
หนึ่งสัปดาห์ที่ฉันใช้ชีวิตช้าๆ อยู่ที่เมืองอูบุดแห่งนี้ ฉันรู้สึกชอบที่นี่มาก มีความสุขที่ได้เห็นทุ่งนา เห็นความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย เห็นวัฒนธรรมอันงดงาม เห็นความผูกพันและแรงศรัทธาต่อศาสนา ฉันชื่นชมความมีน้ำใจความเป็นกันเองของผู้คนที่ฉันพบเจอในเมืองนี้ ฉันชอบความสงบที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในเมืองที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาย อูบุดมีเสน่ห์ในแบบของตัวเอง ไม่วุ่นวายคึกคักจนเกินไป ในขณะเดียวกันก็ไม่เงียบจนเหงาใจ
อูบุดจะกลายเป็นเมืองที่ฉันเลือกไว้พักผ่อนทั้งกายและใจได้เสมอ เมืองที่ฉันได้ประสบการณ์ Eat, Pray, Love ในเมืองเดียวอย่างครบถ้วน แล้วเราคงได้เจอกันใหม่ในวันที่ฉันรู้สึกว่า ชีวิตมีบางสิ่งขาดหายไป เพราะฉันเชื่อว่า อูบุดจะเติมเต็มใจให้ฉันได้เสมอ
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกาะบาหลีและเมืองอูบุด
www.bali-indonesia.com/ubud/