วัดภูมินทร์ จ.น่าน
ภาพโดย Vacationist Team
วัดภูมินทร์เป็นวัดหลวงเก่าแก่ มีอายุกว่า 400 ปี เป็นวัดสำคัญอีกวัดหนึ่งของจังหวัดน่าน มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ตามพงศาวดารเมืองน่าน กล่าวไว้ว่า พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์เจ้าผู้ครองนครน่านได้สร้างวัดภูมินทร์ขึ้น หลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2139 รวมทั้งมีปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือว่าวัดนี้เดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” ภายหลังได้เพี้ยนกลายเป็นวัดภูมินทร์
ความสวยที่แปลกกว่าวัดอื่นของวัดภูมินทร์ คือ เป็นพระอุโบสถและพระวิหารสร้างเป็นอาคารหลังเดียวกัน เป็นทรงจัตุรมุข สถาปัตยกรรมอันโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เฉพาะ ที่รวมเอาโบสถ์ วิหาร และเจดีย์ ไว้ในอาคารเดียวกัน
มีพญานาคสะดุ้งขนาดใหญ่เทินพระอุโบสถไว้กลางลำตัว เปรียบเสมือนการอุ้มชูพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป ซึ่ง อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2544 ยกย่องให้เป็น พญานาคที่ดูมีชีวิตและทรงพลังที่สุดในเมืองไทย
ภายในมีพระประธานจตุรทิศปางมารวิชัย 4 องค์ประดิษฐ์ฐานอยู่ หันหน้าออกสู่ประตูทั้ง 4 ทิศ
ในส่วนจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารหรือที่เรียกกันว่า ฮูปแต้ม ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงที่วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ.2410 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4) และใช้เวลาซ่อมนานถึง 7 ปี
ภาพปู่ม่านย่าม่าน ที่ได้รับฉายาว่า ภาพกระซิบรักบรรลือโลก อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ปราญช์เมืองน่าน ได้แต่งคำกลอนอันสุดแสนโรแมนติกเป็นภาษาเหนือเพื่อบรรยายถ้อยคำกระซิบของปู่ม่านย่าม่านนี้ว่า
“คำฮักน้องกูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว จักเอาไว้พื้นอากาศกลางหาว ก็กลัวหมอกเหมยซอนดาวลงมาขะลุ้ม
จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป ก็เลยเอาไว้ในอกในใจ๋ตัวชายปี้นี้ จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้ ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา…”
แปลความว่า “ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว ก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย หากเอาไว้ในวังในคุ้ม เจ้าเมืองมาเจอก็จะเอาความรักของพี่ไป เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่น”
ทั้งภาพเรื่องราวและวิถีชีวิตตำนานพื้นบ้าน เรื่องพระเตมีราชชาดก และความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีต ซึ่งมีภาพที่น่าสนใจอยู่หลายภาพ เช่นภาพการแต่งกายคล้ายผ้าซิ่นลายน้ำไหล การท่อผ้าด้วยกี่ทอมือ การติดต่อซื้อขายกับชาวต่างชาติ การค้าขายแลกเปลี่ยนในชุมชน ภาพชาวพื้นเมือง ซึ่งอาจเป็นชาวเขา “เป๊อะ” ของป่าบนศรีษะ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับคนเมือง ภาพธรรมเนียมการอยู่ข่วง ของชาวไทลื้อ พ่อแม่ จะอนุญาตให้หนุ่มสาวพบปะกันที่ชานบ้านในเวลาค่ำ ขณะหญิงสาวกำลังปั่นฝ้าย หรือ “อยู่ข่วง” หากสาวเจ้าตกลงปลงใจด้วยก็จะจัดพิธีแต่งงาน หรือที่เรียกว่า “เอาคำ ไปป่องกั๋น” หรือเป็นทองแผ่นเดียวกันภาพชาวต่างประเทศที่เข้ามาเมืองน่านช่วงรัชกาลที่ 5
ด้านข้างของอุโบสถ จะมีสถูปเจดีย์พระมาลัยโปรดโลก ภายในก็จะเป็นรูปปั้นจำลองนรก สะท้อนให้เห็นผลกรรมของการะทำชั่ว ให้คนละเว้นการทำชั่ว
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดภูมินทร์ ตั้งอยู่ภายนอกของวิหารจตุรมุขทางทิศใต้ จัดเก็บข้าวของเครื่องใช้ของท้องถิ่นชาวน่าน ทั้งเครื่องปั้นดินเผา พระพุทธรูป และเรือจำลอง เป็นต้น และมีจำหน่ายสินค้าชุมชนเพื่อเป็นของฝากด้วย
วัดภูมินทร์ อยู่ที่ถนนสุริยพงษ์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ตรงข้ามศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เทศบาลเมืองน่านและพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน