มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ผสาน สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เชิญชวนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเด็กไทย สู่อนาคตที่ห่างไกลจาก IPD เนื่องในวันปอดอักเสบโลก (World Pneumonia Day 2023)
มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ร่วมกับ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี มุ่งเน้นให้ความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับโรค IPD (Invasive Pneumococcal Disease) และปอดอักเสบ เรียนรู้การสร้างภูมิคุ้มกันต้าน “IPD” พร้อมเดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตเด็กไทยอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยง ปีที่ 8
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้ วันที่ 12 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันปอดอักเสบโลก หรือ World Pneumonia Day เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเครือข่ายองค์กรต่างๆ ร่วมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคปอดอักเสบ เพื่อลดความรุนแรงของโรค และป้องกันการเสียชีวิตกับทุกคนในทุกช่วงวัย โดยโรคปอดอักเสบเป็นสาเหตุสำคัญในการเสียชีวิตของเด็กทั่วโลก คร่าชีวิตเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ไปมากกว่า 808,000 รายในปี 2560 คิดเป็น 15% ของการเสียชีวิตทั้งหมดของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคปอดอักเสบยังรวมถึงผู้ใหญ่ที่มีอายุเกิน 65 ปีด้วย 1
รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ กรรมการและปฏิคมสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กรรมการมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน กล่าวว่า “มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ในฐานะองค์กรกลางตัวแทนของภาคประชาชนทำหน้าที่ส่งเสริมความร่วมมือด้านวัคซีน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และนักวิชาการ เพื่อนำไปสู่การสร้างพลังขับเคลื่อนภาคประชาคม และรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนได้ครอบคลุมโรคต่างๆ ซึ่งถือได้ว่า “วัคซีน” นอกจากจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยในการดูแลสุขภาพแล้ว ยังมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ ช่วยลดความรุนแรงของโรค ป้องกันการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรง เช่น โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส หรือโรคไอพีดี รวมถึงโรคโควิด-19 ที่ปัจจุบันยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้โดยภาพรวมความรุนแรงของอาการของโรคจะลดลง แต่สิ่งที่ยังน่าเป็นกังวลคือ หากเกิดการติดเชื้อร่วมกันระหว่างเชื้อไวรัสโควิด-19 และเชื้อนิวโมคอคคัสแล้วอาจส่งผลทำให้โรคทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน จึงได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนให้เด็กไทยได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอพีดีกันถ้วนหน้า และสามารถเข้าถึงได้ทั่วประเทศโดยโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยง ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ที่ยังเดินหน้าจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยปีนี้เป็นปีที่ 8 และดำเนินตามเป้าหมายหลัก คือ การเป็นตัวกลางในการส่งมอบวัคซีนให้แก่โรงพยาบาลที่เด็กกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไอพีดียังไม่สามารถเข้าถึงการป้องกันโรคนี้ได้ โดยในปีนี้เราได้จัดหาวัคซีนได้ทั้งหมด 3,000 โด๊ส เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 35 แห่งทั่วประเทศ”
รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ทวีฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงความสำคัญของการเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรคไอพีดี ว่า “โรคไอพีดี เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งสามารถเกิดได้กับคนทุกช่วงวัย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายคล้ายการแพร่ของโรคไข้หวัด ทำให้โรคนี้ติดต่อกันได้ง่าย ถ้าร่างกายแข็งแรงดีก็มักไม่มีอาการใดๆ แต่เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอก็จะทำให้เกิดโรคร้ายแรงขึ้นมาได้จนอาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้ โดยเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae) เป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดอักเสบ ทุกคนสามารถติดเชื้อนี้ได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เสี่ยงสูง ได้แก่ ทารก เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี รวมถึงเด็กและผู้ใหญ่ที่มีอาการป่วยบางอย่าง เช่น โรคหัวใจเรื้อรัง โรคปอด โรคไตหรือตับ เบาหวาน หรือความเจ็บป่วยที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ซึ่งการติดเชื้อนิวโมคอคคัสในแต่ละคนอาจเกิดความรุนแรงแตกต่างกัน บางรายเกิดปอดอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ การรักษาโรคนิวโมคอคคัส ทำได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะ โดยวิธีรับประทานหรือให้ทางหลอดเลือดดำ ตามอาการของผู้ป่วย ซึ่งมักได้ผลดีหากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะที่อาการยังไม่รุนแรงมาก และไม่มีภาวะเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ในปัจจุบันพบว่าเริ่มมีเชื้อนิวโมคอคคัสบางสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะมากขึ้นทำให้การตอบสนองต่อผลการรักษาช้า เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้มากซึ่งเป็นสาเหตุนำไปสู่ความพิการและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กๆ ที่เปราะบาง ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนซึ่งเป็นวิธีที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่ารักษาพยาบาลที่มีราคาสูง แม้จะรักษาในโรงพยาบาลรัฐก็ตาม ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการที่พ่อแม่ต้องหยุดงานเพื่อมาดูแลลูกที่ป่วย ซึ่งเมื่อใดที่ภาครัฐให้การสนับสนุนให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสบรรจุอยู่ในวัคซีนพื้นฐานให้เด็กไทยทุกคน ก็จะมีประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้างเป็นอย่างมาก”
ด้าน ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กรรมการมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน กล่าวว่า “โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ และเป็นสาเหตุประมาณ ร้อยละ 22 ของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กไทย ในประเทศไทยพบว่าในปี 2562 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ติดเชื้อนิวโมคอคคัส จำนาน 1,228 รายต่อประชากรเด็กจำนวนหนึ่งแสนคน และในจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ติดเชื้อและเสียชีวิต มีอัตราสูงถึงร้อยละ 112 นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่ป่วยเป็นโรคติดเชื้อในกระแสเลือดจากโรคไอพีดีมีโอกาสเสียชีวิตมากถึง 23% ดังนั้น ภาคส่วนต่างๆ จึงได้ร่วมมือกันหาแนวทางในการลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันโรคไม่มากนัก ร่างกายยังไม่แข็งแรงพอที่จะต้านเชื้อโรคร้ายแรงอย่างนิวโมคอคคัสได้ การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การฉีดวัคซีน”
“โดยส่วนมากวัคซีนไอพีดีจะฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ นิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง โดยในเด็กทารกเริ่มฉีดได้เมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป และฉีดเข็มต่อไปเมื่ออายุได้ 4 เดือน และ 6 เดือน และครั้งสุดท้ายในช่วงอายุ 12-15 เดือน นอกจากนี้แนะนำให้ฉีดในกลุ่มเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีการเจ็บป่วยบ่อยหรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัส และน่าจะได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต โรคธาลัสซีเมีย ไม่มีม้าม และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับวัคซีนเช่นกันเนื่องจาก เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคที่รุนแรง ทั้งนี้การฉีดวัคซีนถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณพ่อคุณแม่ หากได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และรับวัคซีนที่เหมาะสมกับช่วงวัย ปัญหาสุขภาพของลูกน้อยก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอีกต่อไป”
เอกสารอ้างอิง:
1. WHO https://www.who.int/health-topics/pneumonia#tab=tab_1
2. กรมควบคุมโรค https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1260620230308032551.pdf