มิติใหม่แห่งวงการบำบัด สร้างสุขภาวะที่ดีให้คนในสังคม เปิดตัว “ทีมสุนัขนักบำบัดฯ” รุ่นแรกของไทย การันตีด้วยหลักสูตรอบรมมาตรฐานระดับโลกจากสวิตฯ
สมาคมสุนัขนักบำบัด จัดงาน First in Thailand, Therapy Dog Thailand Team Debut!” เพื่อเปิดตัวทีมสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย รุ่นที่ 1 ที่ผ่านการอบรม “หลักสูตร Certified Therapy Dog Thailand” ซึ่ง allfine เป็นผู้ริเริ่มโครงการและพัฒนาหลักสูตรสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2563
เพื่อฝึกฝนเจ้าของสุนัขและสุนัขที่มีศักยภาพให้เป็น “ทีมสุนัขนักบำบัด” มาตรฐานระดับโลกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตามแนวทางของ Therapy Dog Association Switzerland VTHS ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยหวังว่างานในครั้งนี้จะสร้างการรับรู้ให้สังคมในวงกว้างถึงความพร้อมของทีมสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทยในการต่อยอดความรู้ไปสู่การลงมือปฏิบัติหน้าที่เพื่อสร้างความรัก และความสุขให้แก่สังคมไทย
คุณวรกร โอสถารยกุล ผู้ก่อตั้งโครงการและหลักสูตรสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย (Therapy Dog Thailand) และนายกสมาคมสุนัขบำบัด กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2563 allfine ได้มีการเปิดอบรมหลักสูตร Certified Therapy Dog Thailand จนวันนี้มี “ทีมสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทยรุ่นที่1” ที่ผ่านการทดสอบและทำงานในฐานะจิตอาสา เพื่อทดลองบำบัดผู้รับบริการกว่า 150 ราย ในหลากหลายสถานที่ อาทิ การบำบัดเด็กหูหนวกที่โรงเรียนเศรษฐเสถียรในพระราชูปถัมภ์, การบำบัดผู้ป่วยในที่มีภาวะซึมเศร้าของโรงพยาบาลศรีธัญญา, การบำบัดผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อมที่ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหลอดเลือดสมองที่ The Senizens และการบำบัดเด็กพิเศษที่อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
สำหรับก้าวต่อไปของโครงการ คุณวรกร เผยว่าภายหลังมีการจัดตั้งสมาคมสุนัขบำบัด จะให้ทีมสุนัขนักบำบัดฯ ที่จบการศึกษาได้สิทธิ์เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมสุนัขบำบัด เพื่อร่วมเป็นคณะกรรมการ กำหนดทิศทางและการทำงานภาคการบำบัด เพื่อสร้างความรักและความสุขให้แก่สังคมไทยในมิติต่างๆ อาทิ การเป็นหนึ่งในทางเลือกของเครื่องมือแพทย์ในการบำบัดผู้ป่วย,
การเป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็กพิการหรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ, การเป็นผู้นำในการส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์อันดีของเจ้าของสุนัขและสุนัขผ่านการเลี้ยงดู ตลอดจนการจัดพื้นที่ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีต่อการอยู่ร่วมกันของคนและสุนัข ไปจนถึงการพัฒนาต่อยอดไปสู่การทำงานภาคสังคมร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาสุนัขชุมชนต่อไป
“จากนี้การทำงานของเราจะดำเนินไปแบบคู่ขนานทั้งการฝึกอบรมและการบำบัด ดังนั้น ก้าวแรกที่สำคัญ คือ การสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสุนัขนักบำบัด ว่าป็นการฝึกอบรมให้เจ้าของได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้รับการบำบัดในแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นภาวะโรค ลักษณะพื้นฐานที่พึงรู้ สภาวะทางร่างกายและจิตใจ การออกแบบการบำบัดซึ่งเป็นหลักสำคัญในการเข้าบำบัดให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างดี ทั้งหมดเป็นเหมือนวิชาชีวิตที่เราสามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต ไม่ว่ากับคนในครอบครัว หรือคนรอบตัว
เราเรียนกันจริงจังทั้งเจ้าของและสุนัข ตามแนวทางมาตรฐานหลักสูตรระดับโลก เพื่อสร้างความมั่นใจและอุ่นใจในการไปทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงส่งเสริมภาคธุรกิจในการพัฒนาสังคมต่อไป อีกส่วนหนึ่ง คือการสร้างทีมสุนัขนักบำบัดฯ ซึ่งตอนนี้เรากำลังเปิดรับสมัครรุ่นที่ 3 เพื่อเชิญชวนผู้ที่สนใจมาร่วมเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการบำบัดไทย ด้วยการใช้ “ทีมสุนัขนักบำบัด” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเครื่องมือแพทย์สำหรับการบำบัดผู้ป่วย หรือผู้ที่ต้องการบำบัด”
ด้านคุณนุ่น-อาจารี เกียรติเฟื่องฟู ข้าราชการ นักไตรกีฬา และเจ้าของเพจรองเท้าสองคู่ เจ้าของน้องซัมเมอร์ ตัวแทนทีมสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย รุ่นที่ 1 กล่าวถึงเหตุผลที่ตัดสินใจมาอบรมเป็นทีมสุนัขนักบำบัดฯ ว่านอกจากซัมเมอร์จะเป็นหมาที่แอกทีฟ และทำกิจกรรมเยอะอยู่แล้ว เธอยังเชื่อว่าสุนัขเกิดมาเพื่อมี Purpose บางอย่าง ซัมเมอร์ไม่ได้เกิดมาเพื่อรักเจ้าของเท่านั้น แต่ยังเผื่อแผ่ความรักไปถึงคนรอบข้างด้วยเช่นกัน
“ก่อนหน้านี้ เคยได้ยินเกี่ยวกับหลักสูตรสุนัขบำบัดในต่างประเทศมาบ้าง แต่ยังไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วม จนพอรู้ว่ามีหลักสูตรสุนัขนักบำบัดในประเทศไทย เลยตัดสินใจมาเรียน พอมาเรียนทำให้รู้ว่า หลักสูตรนี้ค่อนข้างตอบโจทย์ และเหมาะกับซัมเมอร์มาก ความสุขที่ได้จากการมาอบรม คือ นอกจากตัวเราและซัมเมอร์จะมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น ยังดีใจที่เห็นว่าคนเราเข้าไปช่วยบำบัดก็มีความสำคัญเช่นกัน ที่สำคัญเรายังได้นำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเรื่องการสังเกตปฏิกิริยาของผู้คนที่มีต่อสุนัขของเรา รู้ว่าเราควรจะเข้าหาคนแต่ละประเภทอย่างไร เพราะเวลาเราไปทำงานบำบัด เราก็ต้องรู้จักสังเกต และทำความรู้จักผู้ป่วยหลายๆ ประเภทเช่นกัน เพื่อให้การบำบัดบรรลุเป้าหมาย ซึ่งนุ่นหวังว่า การมีทีมสุนัขนักบำบัดที่ผ่านการอบรมหลักสูตรฯที่ได้มาตรฐาน จะสร้างความมั่นใจให้กับหน่วยงานต่างๆ พร้อมเปิดใจให้ทีมสุนัขนักบำบัดเข้าไปปฎิบัติหน้าที่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคม
ด้านคุณตาม-วันวิสาข์ ล่ำซำ ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย เจ้าของยุ่งยิ่ง อีกหนึ่งตัวแทนทีมสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย รุ่นที่ 1 เสริมว่า จริงๆ แล้วยุ่งยิ่งเป็นสุนัขของลูกสาว ซึ่งไปเรียนต่อต่างประเทศเลยฝากให้ช่วยเลี้ยง ช่วงแรกๆ ที่ลูกสาวทั้งสองคนไม่อยู่บ้านค่อนข้างเหงา แต่พอทุกเช้าตื่นมาเจอยุ่งยิ้่งที่มีท่าทีตื่นเต้น ดีใจทุกครั้งที่เจอกันทุกเช้า ทำให้รู้สึกว่ามีความสุขเหมือนได้เติมเต็มพลังบวกในการเริ่มต้นทุกวัน จนพอมาเข้าร่วมหลักสูตรสุนัขนักบำบัดฯ ทำให้ค้นพบศักยภาพในตัวของยุ่งยิ่ง และยังได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ที่เป็นคนรักสุนัขด้วยกัน และยังได้เห็นมุมมองของคนที่ทุ่มเทเพื่อช่วยเหลือคนอื่น และได้สัมผัสกับพลังของการทำงานเป็นทีมเวิร์กอีกด้วย
นอกจากนี้ภายในงาน ยังมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “Therapy Dog for All Well-Being in Thailand” เพื่อฉายภาพอนาคตของชุมชนสุนัขนักบำบัด ที่สอดแทรกอยู่ในมิติต่างๆ ของการดำเนินชีวิต เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีของเจ้าของสุนัขและสุนัขผ่านการเลี้ยงดู การจัดพื้นที่เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีต่อการอยู่ร่วมกันของคนและสุนัข และการพัฒนาต่อยอดไปสู่การทำงานภาคสังคมเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสุนัขชุมชนต่อไป ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงส่งเสริมภาคธุรกิจที่กำลังขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต อาทิ เทรนด์ธุรกิจเพื่อผู้สูงวัย และเทรนด์ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ รวมไปถึงงานออกแบบเชิงสถาปัตย์
เริ่มจากคุณขรรค์ ประจวบเหมาะ ที่ปรึกษาและกรรมการกิติมศักดิ์ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ว่า ก่อนหน้านี้เคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องสุนัขบำบัดในต่างประเทศมาก่อน แต่ที่ผ่านมา หลายคนจะคุ้นกับคอนเซปต์ของสุนัขนำทางคนตาบอดมากกว่า ซึ่งในประเทศไทยก็เริ่มมี แต่ยังอยู่ในวงจำกัด ดังนั้นพอเห็นว่าประเทศไทยจะมีโครงการสุนัขนักบำบัดฯ จึงมองว่าเป็นเรื่องที่ดี และยิ่งตอนนี้มีทีมสุนัขนักบำบัดฯที่ผ่านการอบรมเรียบร้อย เชื่อว่าจะยิ่งทำให้การใช้สุนัขบำบัดเป็นที่แพร่หลายและได้รับความสนใจ
พญ.นาฏ ฟองสมุทร คณะกรรมการกองทุนผู้สูงวัย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสริมว่า ด้วยความที่เป็นแพทย์ดูแลผู้สูงอายุอยู่แล้ว ทำให้เข้าใจว่าหนึ่งในเรื่องใหญ่ของผู้สูงอายุไม่ใช่โรคภัยไข้เจ็บแต่เป็นความเหงา ดังนั้นโครงการสุนัขนักบำบัดฯถือเป็นหนึ่งในกุศโลอุบายที่ช่วยให้ผู้สูงอายุยอมออกจากห้องที่พักมาทำกิจกรรม และมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนรอบข้างเพื่อกระตุ้นสมองและร่างกายได้เป็นอย่างดี จึงมองว่าโครงการฯนี้เป็นประโยชน์มาก และยังสามารถขยายผลเข้าไปยังกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน ในชมรม หรือที่บ้าน ตลอดจนใช้ในการบำบัดในระยะสุดท้ายของชีวิต ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่ค่อนข้างเหงา เพราะต้องเผชิญกับความเจ็บปวด หรือบางคนอาจจะเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ ดังนั้นการได้กอดหรือเล่นกับสุนัขก็สามารถช่วยลดความกังวลและความเจ็บปวดให้คนกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี”
ขณะที่สพ.ญ.กฤติกา ชัยสุพัฒนากุล ผู้ก่อตั้งและ ประธานกรรมการบริหารบริษัท โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ จำกัด กล่าวว่า สุนัขเป็นสิ่งมีชีวิตที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีให้แก่คนในครอบครัวได้ ยิ่งหากมีการออกแบบและจัดการพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยงได้ดีแล้ว จะทำให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพที่ดี และมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย ทำให้คนเลี้ยงก็มีความสุขในการเลี้ยงไปด้วย สร้างความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งคนเลี้ยงและสัตว์
ปิดท้ายด้วย รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะมองว่าสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งที่ช่วยผ่อนคลายจิตใจให้กับมนุษย์ แต่โครงการสุนัขนักบำบัดฯ ช่วยเปิดมุมมองใหม่ว่า สุนัขสามารถเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการแพทย์ได้เช่นกัน ซึ่งถือเป็นอีกโจทย์ที่น่าสนใจในการนำไปต่อยอดในเชิงสถาปัตยฯ
“ปกติเวลาจะพัฒนาเมืองแห่งอนาคต เราจะตั้งโจทย์ว่าจะมีส่วนผสมอะไรที่จะนำเข้ามาใช้ได้บ้าง ซึ่งที่ผ่านมาสัตว์เลี้ยงจะถูกนำมาต่อยอดในเชิงของการสร้างพื้นที่ให้อยู่ร่วมกับเจ้าของ แต่กลับไม่เคยมองในมิติว่าสัตว์เลี้ยงทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้นได้ ด้วยการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับผู้คน ซึ่งเป็นเรื่องที่สนใจเพราะถ้าไปดูโครงสร้างประชากรไทยที่เลี้ยงสัตว์เป็นเหมือนลูก จะพบว่ามีมากกว่าอัตราเติบโตแซงหน้าอัตราการเกิดของประชากรไปเป็นที่เรียบร้อย จากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อัตราการเกิดอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านคนต่อปี แต่ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 5 แสนคนต่อปี ดังนั้นในอนาคตเราจะเห็นภาพของคนที่อยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้นอย่างแน่นอน จึงไม่แปลกที่วันนี้อาคารที่ออกแบบให้สัตว์เลี้ยงอยู่ร่วมกับเจ้าของได้จะขายดีกว่าอาคารที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้สูงอายุ และเชื่อว่าถ้าโครงการสุนัขนักบำบัดฯยิ่งเป็นที่รู้จัก อาจจะทำให้เราเห็นทางเลือกใหม่ๆ ในการพัฒนาเมืองในอนาคต” รศ. ดร. สิงห์ กล่าวทิ้งท้าย
เกี่ยวกับหลักสูตรสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย
เป็นหลักสูตรที่ allfine เป็นผู้ริเริ่มโครงการและพัฒนาหลักสูตรเพื่อฝึกฝนเจ้าของสุนัขและสุนัขที่มีศักยภาพให้เป็น “ทีมสุนัขนักบำบัด” มาตรฐานระดับโลกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตามแนวทางของ Therapy Dog Association Switzerland VTHS ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีการออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทของคนไทย โดยการเข้าไปพูดคุยกับผู้ใหญ่ใน หน่วยงาน องค์กรหรือมูลนิธิต่างๆ เพื่อเข้าใจบริบทที่สุนัขสามารถเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือได้ เช่น รมต.จุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คุณขรรค์ ประจวบเหมาะ ที่ปรึกษาและกรรมการกิติมศักดิ์ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์, ดร.มลิวัลย์ ธรรมแสง มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรม ราชินูปถัมภ์, พญ.นาฏ ฟองสมุทร คณะกรรมการกองทุนผู้สูงวัย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ดร.สมพร หวานเสร็จ อดีตผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง ที่ดูแลเด็กพิเศษและเด็กพิการ, นายศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา และ แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา กลุ่มดูแลผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า อ.ดร.น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมสัตว์, คุณครูรุ้งจิต ตั้งจิตเจริญ นักปรับพฤติกรรมสุนัข และกองกำกับการสุนัขตำรวจ เป็นต้น
สำหรับผู้เข้ารับการอบรม จะมี 2 รุ่น รุ่นเยาวชนอายุ 14-18 ปี และรุ่นผู้ใหญ่อายุ 18-65 ปี โดยเจ้าของจะต้องอยู่อาศัยร่วมกันกับสุนัขตัวที่จะนำมาฝึกไม่น้อยกว่า 1 ปี และมีเวลาที่จะเข้ามาเรียนให้ครบตามเวลาที่กำหนด 30 ชั่วโมงขึ้นไป โดยรูปแบบการเรียนการสอนจะสะดวกขึ้นมากกว่ารุ่น 1 เพราะเราได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้สามารถอบรมภาคทฤษฎีบนออนไลน์ (Online Theory) และการอบรมภาคปฏิบัติ ซึ่งพาสุนัขมาพร้อมกับเจ้าของฝึกในสถานที่จริง (On-Floor Practice ) จึงทำให้ผู้อบรมสามารถจัดเวลาเรียนได้ง่ายมากขึ้น ในส่วนของตัวสุนัขไม่ได้มีการกำหนดสายพันธุ์ แต่ต้องสามารถฟังคำสั่งเบื้องต้นได้ และไม่กลัวการใช้ชีวิตนอกสถานที่ ได้รับวัคซีนครบถ้วน และมีสุขภาพแข็งแรง
หลักสูตรดังกล่าวจะฝึกทั้งเจ้าของสุนัขและสุนัขทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ครอบคลุมตั้งแต่การเรียนรู้ และทำความเข้าใจในเรื่องลักษณะพื้นฐานอาการโรค ความต้องการ และความเหมาะสมในการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจคนในกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการรับการบำบัด อาทิ ผู้สูงวัย เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เด็กสมาธิสั้น ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า คนตาบอด คนหูหนวก เป็นต้น
นอกจากนั้น วันนี้เรายังได้พัฒนาหลักสูตรใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง, การแพทย์ และการออกแบบพื้นที่ เพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีแบบองค์รวมในการอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างความสุขให้แก่สังคมไทย
ทั้งนี้ สำหรับองค์กรใดที่สนใจทำงานหรือรับบริการในด้านต่างๆ จากโครงการสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย สามารถติดต่อได้ที่ โทร 062-707-7999