สกสว. และ ส.อ.ท. ร่วมขับเคลื่อนโครงการ ‘กองทุนอินโนเวชั่นวัน’ หนุนสตาร์ทอัพ – SMEs เข้มแข็ง เสริมสร้าง ศก. ไทย
กรุงเทพฯ / วันที่ 28 เมษายน 2566 – สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. จัดงานเปิดตัวโครงการ ‘กองทุนอินโนเวชั่นวัน’ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หนุนการจับคู่ระหว่างธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมกับ SMEs ในเครือข่าย ของ ส.อ.ท. ที่มีความต้องการนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนธุรกิจ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมให้เข้มแข็ง และผลักดันสตาร์ทอัพสู่การเป็นยูนิคอร์นในประเทศไทย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถือเป็นภาคเอกชนรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจำนวน 1 พันล้านบาทจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการดำเนินโครงการ ‘กองทุนอินโนเวชั่นวัน’ ภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี
ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “ที่ผ่านมา การนำงานวิจัยมายกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทย และการสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยให้มีการเติบโต ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศนั้นยังมีอีกหลายข้อที่สามารถเพิ่มเติมให้ดีขึ้นได้ ดังนั้นโครงการ “กองทุนอินโนเวชั่นวัน” จึงถูกออกแบบและจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สตาร์ทอัพไทยได้มีโอกาสเข้าถึงตลาด โดยเฉพาะตลาดภาคอุตสาหกรรมเพื่อทำให้สตาร์ทอัพไทยสามารถเติบโตได้ และสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านเทคโนโลยีของสตาร์ทอัพได้ด้วย”
“โครงการ “กองทุนอินโนเวชั่นวัน” จึงเป็นโครงการกองทุนแนวคิดใหม่ที่ทางกระทรวงฯ เห็นว่าจะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศได้ ผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวเสริม
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า “เราพร้อมเดินหน้าดำเนินโครงการ “กองทุนอินโนเวชั่นวัน” เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ และมีฝีมือด้านเทคโนโลยีให้เติบโตได้ภายในประเทศ และสามารถก้าวไปแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ โดยจะเชื่อมต่อธุรกิจสตาร์ทอัพ
ที่มีนวัตกรรมเข้ากับ SMEs ภาคอุตสาหกรรมในเครือข่ายสมาชิกของเราที่ต้องการนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับนโยบาย ONE FTI ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในวาระปี 2565-2567 นี้ และเรามุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติงานที่มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม”
“ผมขอขอบคุณภาครัฐที่ให้ความไว้วางใจ ส.อ.ท. ซึ่งเป็นภาคเอกชนรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนภายใต้งบประมาณ 1 พันล้านบาท จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และถือเป็นโอกาสที่ดียิ่งของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินโครงการให้เกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยครับ” นายเกรียงไกร กล่าวเสริม
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า “คณะกรรมการคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) มอบอำนาจให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดสรรเงินให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตามหนังสือแสดงเจตจำนงภายใต้กรอบวงเงินที่ กสว. อนุมัติ 1 พันล้านบาท และให้รายงานต่อ กสว.เพื่อรับทราบการจัดสรรเงินภายใต้โครงการ “กองทุนอินโนเวชั่นวัน” โดยได้ออกแบบโมเดลการดำเนินงานเพื่อให้ภาคเอกชนเข้าร่วมทุนกับภาครัฐ ทั้งแผนการลงทุน แผนการดำเนินงานโครงการ การจัดเตรียมกรอบและแผนการเบิกจ่ายเงินเพื่อจับคู่กับกรอบวงเงินที่ภาคีภาคเอกชนแจ้งมา โดยโครงการฯ จะทำการจัดหา SMEs ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีของสตาร์ทอัพ”
“ทั้งนี้ สกสว. เป็นหน่วยงานกลางของประเทศ ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562” ผอ.สกสว. กล่าวเสริม
ดร.วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเสริมว่า “โครงการกองทุนอินโนเวชั่นวัน ยึดหลักธรรมาภิบาลและประสิทธิภาพควบคู่กัน โดยโครงการฯ มุ่งหวังให้เกิดการสนับสนุนด้านการเงินให้กับสตาร์ทอัพและ SMEs ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเน้นเป้าหมายไปที่การนำเทคโนโลยีของสตาร์ทอัพมายกระดับภาคอุตสาหกรรม SMEs อย่างน้อย 5 โครงการในปี 2566 ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวของสตาร์ทอัพและ SMEs เข้าสู่การได้รับเงินสนับสนุนในรอบถัดไปอย่างน้อย 3 โครงการ และผลักดันโครงการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมองค์รวม ตามแนวทาง BCG ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) รวมถึงการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ไปพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) อย่างน้อย 2 โครงการ”
“โครงการ “กองทุนอินโนเวชั่นวัน” จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจนวัตกรรม ส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพไทย เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย พัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่านแนวคิดนวัตกรรมแบบเปิดในภาคเอกชน” ดร.วิบูลย์ กล่าวเสริม
นอกจากนี้ ภายในงานยังได้มีการจัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับบริษัท ซียู เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภาคีนำร่องที่จะมาร่วมดำเนินงานในโครงการนี้ อีกทั้งยังมีการออกบูธจากหลากหลายหน่วยงาน ได้แก่ บริษัท วาวา เซอร์วิส แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป จำกัด (MyWaWa), บริษัท แอพแมน จำกัด (APPMAN), บริษัท ไฮฟ์กราวนด์ จำกัด (HiveGround), บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVme), บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (Innobic), บริษัท เมฆา วี จำกัด (Mekha V), NGR Energy Management Platform, บริษัท เอ็นไวเซ้นส์ จำกัด (ENVI Sense), บริษัท LocoPack, บริษัท เอ็ม.เอ.เอ.เอส เทค จำกัด (M.A.A.S Tec), บริษัท ไบโอม จำกัด, บริษัท เมอร์ลิเนียม จำกัด (Merlinium IoT) และ บริษัท แอ็คโคเมท จำกัด (ZTRUS) ที่มาร่วมจัดแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้และยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยได้