สีสัน….วิวาห์ชาวบาบ๋าภูเก็ตหนึ่งเดียวในโลก
เรื่องและภาพโดย อ.พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ
แม้ว่าวันนี้พิธีแต่งงานจะถูกลดทอนขั้นตอนและจัดให้ง่ายขึ้นไปตาม แต่ด้วยเป็นพิธีแต่งงานที่สืบสานมามากกว่า ๑๐๐ ปีนั้น จึงทำให้การแต่งงานแบบบาบ๋า หรือ วิวาห์บาบ๋า ของชาวภูเก็ตนั้นกลับมีเสน่ห์และสร้างสีสันจนมีชื่อเสียงให้รู้จักกันทั่วโลก วิวาห์ชาวบาบ๋านี้เป็นประเพณีแต่งงานของชาวภูเก็ตลูกครึ่งเชื้อสายจีนกับคนพื้นเมือง ที่ผสมผสานวัฒนธรรมชาวจีนกับชาวภูเก็ตไว้ด้วยกัน
พิธีแต่งงานนี้มีลำดับขั้นตอนตั้งแต่การสู่ขอ หมั้นหมาย จนถึง “พิธีผ่างเต๋” คือพิธียกน้ำชาแบบจีน และพิธีส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าหอ โดยมีแม่สื่อ “อึ่มหลาง” เป็นผู้ทำพิธีให้ ในอดีตนั้นการจัดงานแต่งงานใช้วิธีอาศัยความร่วมมือร่วมแรงของคนในชุมชนมาช่วยกันจัดสถานที่ ทำขนม เตรียมกับข้าว จัดชุดเจ้าสาว เป็นต้น โดยงานจัดงานแบบ ๗ วัน ๗ คืน ด้วยยังไม่มีร้านอาหาร โรงแรมอย่างเดี๋ยวนี้
วันงานขบวนเจ้าบ่าวนั้นจะจุดประทัดเริ่มเคลื่อนขบวนไปยังบ้านเจ้าสาว นำโดยรถ “โพถ้อง” ของชาวภูเก็ต ซึ่งภายในจะมีนักดนตรี “ตี๊ต่อตี๊เช้ง” บรรเลงประสานเสียงจากเครื่องดนตรีหลายสัญชาติทั้งไทย จีน และฝรั่ง ไปตลอดทางจนถึงบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวจะพาเจ้าสาวนั่ง “หล่างเชี้ย” หรือรถลากโบราณไปที่บ้านเจ้าบ่าว หรือเจ้าบ่าวจะนั่งรถ “ปาเก้” รถหรูให้สมกับฐานะก็ได้ เมื่อถึงบ้านเจ้าสาวประทัดก็จะจุดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งบ้านฝ่ายหญิงจะจัดเด็กชาย-หญิงไว้ต้อนรับฝ่ายเจ้าบ่าวพร้อมกับมอบบุหรี่ใส่พานให้ ส่วนเจ้าบ่าวนั้นจะให้อั่งเปาเป็นการตอบแทน
จากนั้นเจ้าบ่าวจะเข้ามาพร้อมขบวนขันหมาก ซึ่งประกอบด้วยฮวดหนา (ตะกร้าจีนเล็ก) ใส่เงินทองของหมั้น และเสี่ยหนา (ตะกร้าจีนขนาดใหญ่) ภายในมีอาหาร ขนม เครื่องดื่ม ชุดน้ำชา ธูปเทียน เครื่องหอม เซ่นไหว้ โดยมีแม่สื่อเป็นผู้มอบให้
จากนั้นแม่สื่อจะพาบ่าวสาวออกมาไหว้เทวดาฟ้าดินที่หน้าบ้านแล้วทำ “พิธีผ่างเต๋” หรือการคารวะผู้ใหญ่ด้วยน้ำชามงคล และรับไหว้ด้วยซองแดง ต่อด้วยพิธีไหว้พระที่ศาลเจ้าซึ่งเป็นธรรมเนียมของชาวบาบ๋าเพื่อขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมักนิยมไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาลเจ้าใกล้บ้าน การไหว้ เจ้าแม่กวนอิมจึงเหมาะกับการขอบุตร หรือหลวงพ่อแช่มที่วัดฉลอง ซึ่งเป็นพระเถระที่ชาวภูเก็ตเคารพนับถือ
จุดแด่นของงานคือชุดแต่งกายบาบ๋าของบ่าวสาวนั้นยังเป็นแบบโบราณ ที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีนและมาเลเซียไว้ด้วยกัน เจ้าสาว จัดทรงผมด้วยการหวีผมด้านหน้าให้เรียบตึงแล้วเกล้าขึ้นสูง โดยรวบผมเป็นมวยไว้ที่ด้านบน ผมด้านข้างตีโป่งออกมาเรียกว่า “อีโบย” หรือ “แก้มปลาช่อน” แล้วสวมมงกุฎทองดอกไม้ไหวครอบมวยผมไว้ ส่วนเสื้อตัวในเป็นเสื้อลูกไม้สีอ่อนแขนยาวคอตั้งแบบจีนนุ่งคู่กับผ้าถุงปาเต๊ะสีเดียวกัน สวมทับด้วยเสื้อครุยผ้าป่านรูเปีย หรือผ้ามัสลินปักลวดลาย แล้วติดเครื่องประดับทองชุดใหญ่ “โกสัง” ซึ่งเป็นเข็มกลัด ๓ ชิ้นที่เสื้อด้านนอก ประดับสร้อย กำไลข้อมือข้อเท้า แหวน และรองเท้าปักดิ้นแสดงถึงฐานะ
ส่วนชุดเจ้าบ่าวแต่งชุดสูทสากลติดดอกไม้ที่หน้าอก หรือเข็มกลัดประดับพู่สีชมพู
เสน่ห์และสีสันของเจ้าสาวอยู่ที่ “มงกุฎทองดอกไม้ไหว” ของเจ้าสาวนี่แหละ ซึ่งมีหงส์ประดับอยู่ด้านบนตามความเชื่อของคนจีนเชื่อว่าหงส์เป็นสัตว์ปีกที่มีความยิ่งใหญ่และมักปรากฏตัวในที่ร่มเย็นพร้อมเสียงร้องอันกังวาน นัยว่าเจ้าสาวมีวาจาที่อ่อนหวาน ดูแลครอบครัวด้วยความร่มเย็น และหากสามีเป็นอะไรไปต้องลุกขึ้นมาเป็นใหญ่แทนสามีได้ ส่วนผีเสื้อกับดอกไม้ที่ติดอยู่จะแทนความยั่งยืนของชีวิตแต่งงาน ซึ่งดอกไม้ที่ประดับบนมงกุฎนั้นเป็นสื่อความเคลื่อนไหวให้เห็นถึง ความตื่นเต้นของเจ้าสาวที่ได้พบกับเจ้าบ่าวในวันแต่งงานนี้
ปัจจุบันชาวเมืองภูเก็ตยังคงสืบสานวัฒนธรรมนี้เอาไว้ด้วยการจัดงาน “วิวาห์บาบ๋าภูเก็ต” จากงาน ๗ วันให้เหลือเพียงวันเดียว สมาคมเพอรานากันแห่งประเทศไทยจึงรับจัดพิธีแต่งงานหมู่ในงาน “วิวาห์หวานบาบ๋า สุดปลายฟ้าอันดามัน” จนชาวไทยและชาวต่างประเทศต่างปราถนาพากันวิวาห์แบบชาวบาบ๋าใน “อั่งหม่อหลาว” หรือคฤหาสน์คหบดีที่มีอายุนับร้อยปีแห่งตระกูลหงส์หยก ส่วนเจ้าสาวนั้นต้องไปหาและพามาเอง