อิ่มบุญยโสธร มาลัยข้าวตอก

Story by Keeta Bunyapanit / Photo by : ททท. สำนักงานอุบลราชธานี

we feb'15 1

อนุสรณ์ความรักบริสุทธิ์

จากทางหลวงหมายเลข 23 (ยโสธร – อุบลราชธานี) ประมาณหลัก กม. ที่ 194 เลี้ยวซ้ายไปอีก 1 กม. เราจะพบเจดีย์เก่าสมัยขอม ตั้งอยู่ในทุ่งนา ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร เป็นเจดีย์ที่มีรูปทรงแปลกกว่าเจดีย์ทั่วไป นั่นคือมีลักษณะเป็นทรงก่องข้าว ตามตำนานเล่าขานกันว่าในฤดูกาลฝนเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว ทุกบ้านต้องทำการปักเตรียมดำนาต้นข้าว ชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งกำพร้าพ่อ ได้ออกไปทำนาอย่างเช่นทุกวัน แต่เที่ยงนี้เขารู้สึกหิวมากกว่าทุกวัน กระวนกระวายเพราะความหิว จนสติเริ่มเลือนราง แม่เฒ่าเดินเลียบทางคันนา ในมือถือก่องข้าวใบน้อย เขาคิดว่าก่องข้าวใบเล็กไม่เพียงพอให้ท้องอิ่ม เกิดบันดาลโทสะ คว้าไม้แอกเข้าตีแม่เฒ่าจนล้มคว่ำ หญิงชราขาดใจ เมื่อสติคืนมาเพราะท้องอิ่ม ความรู้สึกผิดชอบกลับคืนมา เขาปลงศพแม่ด้วยความอาลัย นึกถึงคำสมภารที่ว่า การฆ่าชีวิตบุพการีเป็นบาปแสนหนัก หนทางเดียวที่จะทำให้บาปทุเลา คือ สร้างธาตุก่อกระดูกของแม่ จึงชักชวนชาวบ้านมาช่วยกันก่ออิฐถือปูนเป็นธาตุเจดีย์บรรจุอัฐิแม่ และให้ชื่อว่า ‘ธาตุก่องข้าวน้อย’ เป็นการขอขมาต่อแม่

ทุกวันนี้มีผู้คนแวะเวียนมาที่อนุสรณ์แห่งความสำนึกผิดและความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ บางคนมีลูกแล้วจึงได้รู้ว่าความรักของแม่ยิ่งใหญ่เพียงใด เพิ่งรู้ตัวว่าการเลี้ยงดูลูกให้เติบใหญ่ต้องเสียสละความสุขสบายเพื่อให้ลูกของตนมากมาย บ้างก็มากราบไว้เพื่อรำลึกถึงพระคุณของแม่ไม่แน่ใจว่าเพราะตำนานที่เล่าขานกันมาหรือเพราะดินฟ้าอากาศรอบข้างทำให้ผมรู้สึกสะท้อนใจนัก ยามที่ได้มาเยี่ยมชมที่นี่ รู้สึกคิดถึงแม่ขึ้นมาทันที ความเป็นจริงที่นี่ไม่ได้มีอัฐิพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นพระธาตุ หรือพระบรมธาตุทั่วไป แต่ชาวบ้านก็นิยมเรียกว่า ‘พระธาตุก่องข้าวน้อย’ มากกว่า นอกจากนี้บริเวณรอบๆ กรมศิลปากรได้ขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีในยุคก่อนประวัติศาสตร์ยุคเดียวกับบ้านเชียงอีกด้วย หากใครมีโอกาสผมว่าที่นี่เป็นที่หนึ่งที่คุณควรมาเมื่อมายโสธร

we feb'15 3

we feb'15 4 we feb'15 5

ย้อนรอยเมืองเก่า ชุมชนบ้านสิงห์ท่า

เมืองเล็กๆ ที่อุดมไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ นครแห่งเก่าบ้านสิงห์ท่า มีความน่าสนใจมากกว่า ‘ปลาส้ม’ และ ‘ลอดช่องยโสธร’ ของกินขึ้นชื่อที่ไม่มีใครไม่รู้ ร่องรอยความเจริญในอดีตของเมืองเก่าในอดีตยังปรากฏให้เห็นได้จากตึกแถวโบราณ สถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส ชุมชนบ้านสิงห์ท่า สืบเท้าความได้จนถึงยุคทวารวดี มีบันทึกในพงศาวดาร พระเจ้าราชวงศา เสนาบดีเก่าเมืองเวียงจันทน์ พร้อมไพร่พลอพยพไปอาศัยกับเจ้านครจำปาศักดิ์ เมื่อมาถึงดงผีสิงห์ เห็นทำเลที่ตั้งเหมาะสมจึงสร้างเมืองขึ้นที่บ้านสิงห์ท่า จนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2456 กลายเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุบราชธานี ต่อมาจึงเป็นแยกตัวเป็นจังหวัดที่ 71 ของประเทศไทย วัดเป็นศูนย์รวมใจของชุมชนตั้งแต่ครั้งอดีตกาล ประวัติของการก่อบ้านสร้างเมืองยโสธร เริ่มขึ้นที่วัดสิงห์ท่า ชาวบ้านขุดค้นพบสิงห์หินและพระพุทธรูปใหญ่ จึงสถาปนาวัดแห่งนี้ขึ้นเป็นวัดสิงห์ท่า ปัจจุบันพระพุทธรูปโบราณปางมารวิชัย ก่อด้วยอิฐฉาบปูนลงรักปิดทองขนาดหน้าตักกว้าง 3 เมตร ยังเป็นพระประธานของวัด บรรดาพุทธศาสนิกชนเลื่อมใสศรัทธา มีการสรงน้ำหลังสงกรานต์ประจำทุกปีชาวบ้านในชุมชนล้วนถ้อยทีถ้อยอาศัย ความเป็นอยู่เรียบง่ายและสงบ ถนนรอบบริเวณย่านสิงห์ท่า เป็นทางลัดเลาะเชื่อมต่อถึงกันระหว่างชุมชน ตลาด โรงเรียน รวมถึงวัด ซึ่งเป็นศูนย์รวมใจของชาวพุทธทั้งหลาย ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนตระการตา ย่านร้านค้า ตลาดสดคึกคักมีสีสัน รอยยิ้มอันเปี่ยมสุขของผู้คนในชุมชนแห่งนี้ยังต้องรับแขกผู้มาเยือนเสมอมา

we feb'15 12

ร้อยด้วยรักเป็นมาลัย

ยามเช้า ภาพที่เห็นจนชินตา คือ ภาพของพระสงฆ์ที่เดินเป็นทิวแถว ชาวบ้านที่ออกมาตักบาตร ท่ามกลางบรรยากาศของอาคารบ้านเรือนเก่า ชาวบ้านในชุมชนล้วนถ้อยทีถ้อยอาศัย ยิ่งใกล้วันสำคัญที่ชาวชุมชนฟ้าหยาดจะร่วมกันจัดงานประเพณีประจำปี ดูเหมือนชุมชนจะยิ่งคึกคักมากขึ้น ความงดงามท่ามกลางวิถีชีวิตเรียบง่ายของเมืองเก่ายโสธร แม้จะถูกป้ายสีด้วยความเจริญวิถีชุมชนบ้างไปตามยุคสมัย แต่บรรดาโบราณสถานและบ้านเรือนเก่าแก่ก็ยังได้รับการอนุรักษ์เพื่อให้ยังคงเอกลักษณ์ของชุมชนเก่าแก่เอาไว้ได้เป็นอย่างดี

ข้าวเปลือกปริตัวแตกเสียงดังป๊อกแป๊กคล้ายเสียงดนตรีอิสระในกระทะเหล็กใบใหญ่ที่กำลังร้อนระอุด้วยเชื้อเพลิงจากไม้ฟืนคุกรุ่น พ่อแก่แม่เฒ่ากุลีกุจอเตรียมนำ ‘ข้าวเปลือกใหม่’ มาเติมใหม่ไม่ให้ว่าง หลังจากเมล็ดข้าวเพิ่งผลัดเครื่องนุ่งห่มของตัว เผยเนื้อในสีขาวนวล เมล็ดข้าวพร้อมใจกัน ‘บาน’ บนกระทะเป็น ‘ข้าวตอก’ คล้ายต้อนรับการมาเยือนของฤดูกาลแห่งความศรัทธาที่กำลังมาถึง เด็กน้อยไม่น้อยหน้า ช่วยกันนำข้าวตอกมาร้อยเป็นพวงตามอย่างที่คุณยายสอน แต่ก็เผลอร้อยไปกินไปจนเมื่อยแก้ม มาลัยข้าวตอกของเด็กน้อยถูกนำไปวางบนกระจาดไม่ไผ่สานเตรียมให้รุ่นใหญ่ไปตกแต่งให้สวยงามเพื่อเข้าพิธีสำคัญที่ครอบครัวและชุมชนตำบลฟ้าหยาดตั้งหน้าตั้งตารอ ขณะเดียวกัน พวกวัยรุ่นช่างฝีมือที่ลางานจากเมืองใหญ่เพื่อกลับมาร่วมประเพณีเก่าแก่ หลายคนกำลังต่อคานไม้ขึ้นโครงเพื่อติดตั้งมาลัยข้าวตอกช่อใหญ่ที่ประดับประดาด้วยดอกไม้และสารพันสิ่งสวยงามเพื่ออวดโฉมนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมทำบุญใหญ่ที่จัดขึ้นทุกปี

we feb'15 8 we feb'15 6 we feb'15 7

ขบวนแห่มาลัยข้าวตอก เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาทุกที รอยยิ้มและเสียงหัวเราะมีอัตราความหนาแน่นต่อพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ ราวกับว่าความสุข และชีวิตชีวาได้เพิ่มขึ้นเมื่อมาลัยข้าวตอกได้ถูกร้อยเป็นพวงยาวมากขึ้น เจ้าของมาลัยจะใช้ไม้ไผ่ลำยาวเพื่อยกและชูมาลัยให้สูงจากพื้นดิน จะได้ไม่ห้อยระติดพื้น เพราะสิ่งของที่เป็นพุทธบูชาถือว่าเป็นสิ่งสูงค่า ในขบวนแห่นอกจากจะมีมาลัยข้าวตอกแล้ว ยังมีพานพุ่มเงิน พานพุ่มทอง และพุ่มดอกไม้ที่จะประดับตกแต่งด้วยเงินทองและปัจจัยทานที่ประสงค์จะทำบุญตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน นางรำสาวน้อยสาวใหญ่กำลังซักซ้อมท่ารำแบบอีสานดั้งเดิมอย่างขะมักเขม้น มือกลองยาวฝึกตีจังหวะให้ชำนิชำนาญพร้อมเพรียง เสียง ป๊ะ เท่ง ป๊ะ เป็นจังหวะสอดคล้องดังไม่ขาด ชาวบ้านต่างถิ่น ทยอยกันนำมาลัยข้าวตอกของตนเองมารวมกันยังที่นัดหมาย สาวเจ้าและหนุ่มหล่อหยอกเอินตามประสา นี่คงเป็นงานประเพณีที่ทำให้หลายคนในชุมชนได้พบปะสนทนา สานสร้างความสัมพันธ์อันดี ความรักความสามัคคี และความอบอุ่นของชุมชนแห่งนี้ กำลังเชื้อเชิญและต้อนรับแขกผู้มาเยือนอย่างเช่นผมให้อิ่มบุญกันถ้วนหน้า

we feb'15 2

งานประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก’ ของชาวลุ่มน้ำชี ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร เป็นงานบุญสำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนเพื่อสืบสานวันแห่งความรักทางศาสนา หรือ ‘วันมาฆบูชา’ โดยชุมชนต่างๆ จะนำข้าวตอกขาวที่คัดจากข้าวเปลือกข้าวเหนียวที่ดีที่สุดมาร้อยเป็นมาลัยสูงนับสิบเมตรและประดับตกแต่งอย่างงดงามหลากหลายรูปแบบความเป็นมาของประเพณีแห่มาลัยนี้มีปรากฏในพระไตรปิฎก กล่าวถึง ดอกมณฑารพ ซึ่งเป็นดอกไม้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีความสวยงามและมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ ดอกมณฑารพจะบานหรือร่วงหล่นก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานที่เมืองกุสินารา ดอกมณฑารพก็ได้ร่วงหล่นมาทั้งก้านและกิ่ง เปรียบเสมือนความเสียอกเสียใจที่มีต่อการดับขันธ์ของพระพุทธองค์ ผู้คนจึงพากันเก็บดอกมณฑารพมาสักการบูชา เพื่อเป็นการแสดงการระลึกถึงพระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ดอกมณฑารพแห้งเหี่ยว ชาวพุทธจึงได้นำเอาข้าวตอกมาสักการบูชา เพราะถือว่าข้าวเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นของสูงที่มนุษย์จะขาดเสียมิได้ ข้าวตอกมาลัยสายยาวจึงเป็นสิ่งแทน ‘ดอกมณฑารพ’ อันเป็นดอกไม้แห่งสรวงสวรรค์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แสดงความกตัญญูต่อความรักอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า เพราะความรักมีความหมายที่กว้างขวางไร้ขอบเขต ทั้งยังเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข พุทธศาสนิกชนจึงถือว่า วันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรัก เนื่องจากวันนี้ในสมัยพุทธกาลได้เกิดเหตุการณ์พิเศษที่เรียกว่า ‘จาตุรงคสันนิบาต’ และเป็นวันที่พระองค์ได้ประกาศหลักการและอุดมการณ์แห่งพุทธศาสนา ว่าด้วยการส่งเสริมให้มวลมนุษย์ตั้งมั่นในการทำความดี ละเว้นความชั่ว ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นั่นหมายถึง ทรงสอนให้ทุกคนมีความรักอันยิ่งใหญ่ เป็นความรักที่ไม่เห็นแก่ตัว รู้จักรักและเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลก โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำพระธรรมคำสอนดังกล่าวไปเผยแพร่

we feb'15 11

we feb'15 10 we feb'15 9

* งานประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นงานประเพณีท้องถิ่นของชาวอีสาน ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และความเชื่อทางศาสนาของชาวอีสานมาช้านาน โดยชาวบ้านเชื่อว่า การจุดบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการบูชาพระยาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร มีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และมีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมาก หากหมู่บ้านใดไม่จัดทำการจัดงานบุญบั้งไฟบูชา ฝนก็จะไม่ตกต้องตามฤดูกาล อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติกับหมู่บ้านได้ ช่วงเวลาของประเพณีบุญบั้งไฟคือเดือนหกหรือพฤษภาคมของทุกปี

ขอบขอบคุณ
ททท. สำนักงานอุบลราชธานี
พื้นที่รับผิดชอบ : ยโสธร, อำนาจเจริญ, อุบลราชธานี
ที่อยู่ : 264/1 ถ.เขื่อนธานี อ.เมือง จ.อุบลราชธานี 34000
โทรศัพท์ 0 4524 3770, 0 4525 0714, 0 4524 3771
เว็บไซต์ : thai.tourismthailand.org/ubonratchathani
หรือ www.facebook.com/tatubonfanpage
อีเมล : tatubon@tat.or.th

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0