สีสัน…การปฏิรูปบ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ ๕
เรื่องและภาพโดย อาจารย์พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ นั้น เดือนตุลาคมทุกปี ทุกคนจะระลึกถึงการเดินหน้าพัฒนาประเทศจนมีความทันสมัยมาจนทุกวันนี้
ในยุคสมัยนั้นพระองค์ทรงตระหนักถึงการคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตกที่มีต่อประเทศต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ ที่ชอบอ้างความชอบธรรมเข้ายึดครองดินแดนแถบนี้ว่าเป็นการทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้านั้นเป็น “ภาระของคนขาว” พระองค์ทรงปฏิรูปบ้านเมืองหลายประการ ดังปรากฏในพระราชกรณียกิจที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๖
ประการแรก ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาขึ้นมาสองสภา ได้แก่ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (council off state) และสภาที่ปรึกษาในพระองค์ (privy council) ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๑๗ ครั้งนั้นทรงตั้งขุนนางระดับพระยา ๑๒ นายเป็น “เคาน์ซิลลอร์” ให้มีอำนาจขัดขวางหรือคัดค้านพระราชดำริได้ และทรงตั้งพระราชวงศานุวงศ์ ๑๓ พระองค์ และขุนนางอีก ๓๖ นาย ช่วยแสดงความคิดเห็นถวายหรือเป็นกรรมการ ดำเนินการต่างๆ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ นั้นทรงเห็นว่าสภาที่ปรึกษาดังกล่าวเป็นความพยายามดึงพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมานั้นได้เกิดความขัดแย้ง ที่เรียกว่า วิกฤตการณ์วังหน้า ซึ่งเหตุการณ์นั้นทำให้การปฏิรูปการปกครองนั้นชะงักลง
จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๒๘ ซึ่งก่อนหน้านั้นใน พ.ศ. ๒๔๒๗ พระองค์ทรงปรึกษากับพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตไทยประจำอังกฤษ ซึ่งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พร้อมเจ้านายและข้าราชการ ๑๑ นาย ได้กราบทูลเสนอให้เปลี่ยนการปกครองเป็นแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่า ยังไม่พร้อม จึงได้แต่โปรดให้ศึกษารูปแบบการปกครองแบบประเทศตะวันตกไว้
และในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ทรงเริ่มทดลองแบ่งงานการปกครองออกเป็น ๑๒ กรมซึ่งเทียบเท่ากระทรวงในปัจจุบัน โดยพระองค์ทรงตั้ง “เสนาบดีสภา” หรือ “ลูกขุน ณ ศาลา” ขึ้นเป็นฝ่ายบริหาร ต่อมานั้น ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงตั้งองคมนตรีสภาขึ้นซึ่งเดิมนั้นเรียกว่าสภาที่ปรึกษาในพระองค์ เพื่อร่วมวินิจฉัยและทำงานให้สำเร็จ และรัฐมนตรีสภา หรือ “ลูกขุน ณ ศาลาหลวง” ขึ้นเพื่อปรึกษาราชการแผ่นดินที่เกี่ยวกับกฎหมาย นอกจากนี้ยังทรงจัดให้มี “การชุมนุมเสนาบดี” อันเป็นการประชุมปรึกษาราชการที่มุขกระสัน พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
การดำเนินงานของกรมทั้งสิบสองกรมที่พระองค์ทรงตั้งไว้นั้นพระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยทำให้ต่อมาทรงประกาศตั้งเป็นกระทรวงขึ้นอย่างเป็นทางการจำนวน ๑๒ กระทรวง เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๕ ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบงานที่เดิมเป็นของสมุหนายก ดูแลกิจการพลเรือนทั้งหมดและบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและชายทะเลตะวันออก กระทรวงนครบาลรับผิดชอบกิจการในพระนคร กระทรวงโยธาธิการ รับผิดชอบ การก่อสร้าง กระทรวงธรรมการ ดูแลการศาสนาและการศึกษา กระทรวงเกษตรพานิชการ รับผิดชอบงานด้านเกษตรกรรม และพาณิชกรรม กระทรวงยุติธรรม ดูแลงานตุลาการ กระทรวงมรุธาธร ดูแลเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์ กระทรวงยุทธนาธิการ รับผิดชอบปฏิบัติการการทหารสมัยใหม่ตามแบบยุโรป กระทรวงพระคลังสมบัติ รับผิดชอบงานการคลังของแผ่นดิน กระทรวงการต่างประเทศ (กรมท่า) รับผิดชอบการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม รับผิดชอบกิจการทหาร และบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ กระทรวงวัง รับผิดชอบกิจการพระมหากษัตริย์
หลังจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) พระองค์ทรงให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบกิจการพลเรือนเพียงอย่างเดียว และให้กระทรวงกลาโหมรับผิดชอบกิจการทหารเพียงอย่างเดียว ยุบกรมสองกรม ได้แก่ กรมยุทธนาธิการ โดยรวมเข้ากับกระทรวงกลาโหม และกรมมรุธาธร โดยรวมเข้ากับกระทรวงวัง และเปลี่ยนชื่อกระทรวงเกษตรพานิชการ เป็น กระทรวงเกษตราธิการ ด้านการปกครองส่วนภูมิภาค มีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ทำให้ไทยกลายมาเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ โดยการลดอำนาจเจ้าเมือง และนำข้าราชการส่วนกลางไปประจำแทน ทรงทำให้นครเชียงใหม่ช่วง พ.ศ. ๒๓๑๗ – ๒๔๔๒ ได้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม นอกจากนี้ยังทรงแต่งตั้งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ไปประจำที่อุดรธานีอันเป็นจุดเริ่มต้นการปกครองแบบเทศาภิบาล
และใน พ.ศ. ๒๔๓๗ พระองค์ทรงกำหนดให้เทศาภิบาลขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ยกเลิกระบบกินเมือง และระบบหัวเมืองแบบเก่า ที่แบ่งหัวเมืองชั้นใน ชั้นนอก และเมืองประเทศราชนั้นมาจัดเป็นมณฑล เมือง อำเภอ หมู่บ้าน ทรงตั้งสุขาภิบาลแห่งแรกของประเทศที่ท่าฉลอมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ การปฏิรูปบ้านเมืองครั้งสำคัญนั้นทำให้สยามกลายเป็นรัฐชาติที่มั่นคง มีเขตแดนที่ชัดเจนแน่นอน นับเป็นสีสันการรักษาเอกราชของประเทศให้มั่นคงและทำให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมาจนทุกวันนี้