Go Green Go Maehongson
Story & Photo by editorial staff
ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ฉันเดินทางสู่เมืองสามหมอกแม่ฮ่องสอน ด้วยเส้นทางสุดคลาสสิกที่เรียกว่า 1,864 โค้ง บนถนนทางหลวงหมายเลข 108 ตัดจากจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านอำเภอหางดง สันป่าตอง จอมทอง ฮอด แม่สะเรียง แม่ลาน้อย และขุนยวม ถึงอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน รวมระยะทางประมาณ 347 กิโลเมตร เส้นทางนี้ตัดผ่านทิวเขาสูงชัน ที่มีความสวยงามและคดเคี้ยวกว่า 1,864 โค้ง พอไปถึงตัวเมืองแม่ฮ่องสอนก็ตรงรี่ไปรับประกาศนียบัตรผู้พิชิต 1,864 โค้งที่หอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอนเลย
เวลาผ่านไป การเดินทางมาแม่ฮ่องสอนสะดวกมากยิ่งขึ้น มีหลากหลายเส้นทางที่เดินทางมาแม่ฮ่องสอนทั้งทางรถที่หลากหลายรูปแบบ และทางเครื่องบินที่สามารถบินจากกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ ใช้เวลาไม่นานมากนัก คุณก็สามารถไปเดินชมเมืองในอ้อมกอดของขุนเขาแห่งนี้ได้
MAEHONGSON CROSS COUNTRY
การมาแม่ฮ่องสอนของฉันในครั้งนี้นอกจากจะมาเที่ยวชม เพื่อนเก่าที่เคยมาเยือนเมื่อสิบปีที่ผ่านมาแล้ว ฉันยังมาร่วมงานวิ่ง Maehongson Cross Country ซึ่งเป็นกิจกรรมการวิ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เรียกว่า Sport Tourism เป็นครั้งแรก โดยคุณชนเขต บุญญขันธ์ ประธานหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตัวแทนหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) ร่วมกับพันธมิตรหลักคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ผ่าน ผอ.ปาริชาต บุญคล้าย ผู้อำนวยการกองตลาดภาคเหนือ ททท. และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นผู้จัดงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากท่านสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน มาเป็นประธานในการเปิดงานในครั้งนี้ วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอนในช่วงฤดูกาลอื่นๆ นอกจากฤดูหนาวที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วอย่างเช่นงานวิ่งครั้งนี้ (ปี 2018) จัดขึ้นในเดือนกันยายน 2018 (สำหรับปี 2019 จัดวันที่ 17 กันยายน 2562) ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนที่ป่าไม้เขียวชอุ่ม เรียกได้ว่าเป็นช่วง Green Season ที่แสนสดชื่นสำหรับผู้ที่รักการท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างเป็นที่สุด
สำหรับเส้นทางการวิ่งจะแบ่งเป็น 3 เส้นทางตามประเภทของการวิ่งได้แก่ Fun Run ระยะทาง 6 กิโลเมตร เส้นทางที่ผ่านชุมชนในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน วัดจองคำ จองกลาง หนึ่งในวัดหลักของแม่ฮ่องสอน ต่อมาคือ Mini marathon ระยะทาง 11.3 กิโลเมตรซึ่งจะมีเส้นทางวิ่งในแนวดิ่งขึ้นพระธาตุกองมูที่เป็นที่เคารพสักการะของชาวแม่ฮ่องสอน คุณจะได้เห็นเมืองแม่ฮ่องสอนในมุมมองเบิร์ดอาย (Bird eye) ที่สวยงาม และสำหรับนักวิ่งมืออาชีพ กับเส้นทาง Cross Country ระยะทาง 26 กิโลเมตร ผ่านโครงการในพระราชดำริ สวนส้ม ทุ่งหญ้า ฟาร์มปศุสัตว์ ที่สำคัญมีเส้นทาง Trail ที่แสนท้าทายกว่า 4.4 กิโลเมตร ซึ่งแม้จะจัดเป็นปีแรกแต่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,000 คน ซึ่งในนั้นมีกลุ่มกะเหรี่ยงคอยาว ที่เป็นชนเผ่าในแม่ฮ่องสอนมาร่วมวิ่งด้วย และถ้วยรางวัลตุ๊กตา ตลอดจนเหรียญรางวัลในงานนี้ก็เป็นผลงานทำมือจากกลุ่มกะเหรี่ยงคอยาวนั่นเอง เสร็จสิ้นการวิ่งผู้ร่วมกิจกรรมยังได้กินอาหารพื้นเมืองที่ชาวแม่ฮ่องสอนที่ร่วมใจกันมาออกร้านให้บริการ ถือว่าเป็นงานที่ประทับใจเป็นอย่างมาก หลังจากเสร็จสิ้นงานวิ่ง ฉันเชื่อว่าเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของนักวิ่งที่มาจากจังหวัดอื่นเลือกที่จะอยู่ชื่นชมบรรยากาศที่สดชื่นของแม่ฮ่องสอนต่อเหมือนเช่นอย่างฉันเป็นแน่ เพราะแม่ฮ่องสอนนั้นมีที่เที่ยวมากมายไม่ว่าจะเป็น วัดวาอาราม ธรรมชาติและประเพณีวัฒนธรรม
เส้นทางสายบุญ
อย่างที่เกริ่นไว้ว่าหนึ่งในเส้นทางวิ่งคือ การวิ่งขึ้นวัดพระธาตุกองมู ซึ่งเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาช้านานตั้งอยู่บนดอยกองมู ทางทิศตะวันตกของเมืองแม่ฮ่องสอน เพียง 3 กิโลเมตรเท่านั้น
นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปนมัสการพระธาตุกองมูได้โดยเส้นทางรถยนต์ หรือจะเดินขึ้นบันไดไปก็ย่อมได้
วัดพระธาตุกองมูมีพระธาตุเจดีย์ที่สวยงามถึง 2 องค์ เป็นเจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญ องค์ใหญ่ประดับลวดลายปูนปั้น มีฐานแปดเหลี่ยมซ้อนสามชั้น บริเวณฐานด้านล่างประดับด้วยซุ้มพระตามทิศทั้งแปด ส่วนเจดีย์องค์เล็กตรงมุมทั้งสี่ของฐานมีปูนปั้นรูปสิงห์ประดับอยู่
โดยมีวิหารวัดพระธาตุดอยกองมูอยู่เป็นอาคารทรงโรงเปิดโล่งผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคา ซ้อนสามชั้นมุงด้วยกระเบื้องไม้และตกแต่งโลหะฉลุลวดลายตามแบบศิลปะไทใหญ่ติดกับพระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่
นอกจากนักท่องเที่ยวจะนิยมเดินทางมาที่วัดพระธาตุกองมูเพื่อนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วยังมาเพื่อชมเมืองแม่ฮ่องสอนในมุมสูงซึ่งเราจะสามารถเห็นตัวเมืองแม่ฮ่องสอนจากด้านบนของวัดได้อย่างชัดเจน
อีกวัดที่สำคัญในเมืองแม่ฮ่องสอนคือ วัดจองคำ วัดจองกลางโดยในการวิ่งครั้งนี้สำหรับนักวิ่งเส้นทาง Fun Run จะวิ่งผ่านบริเวณวัดนี้ด้วย พระอารามหลวงวัดจองคำหรือที่หลายคนมักเรียกกันสั้นๆ ว่า วัดจองคำ เป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของจังหวัดแม่ฮ่องสอนชื่อจองคำ มีที่มาจากเสาของวัดแห่งนี้ประดับไปด้วยแผ่นทองคำเปลวนั่นเอง
และถ้าเราหันหน้าเข้าวัดเราจะเห็นวัดอีกวัดอยู่ทางขวามือ นั่นคือวัดจองกลางซึ่งภายในวิหารมีแท่นบูชาตั้งพระพุทธสิหิงค์จำลอง ปิดทองเหลืองอร่ามไปทั้งองค์ แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือ ตุ๊กตาแกะสลักด้วยไม้เป็นรูปคนและสัตว์เกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดก ฝีมือแกะสลักของช่างชาวพม่า ซึ่งนำมาจากพม่าตั้งแต่ พ.ศ. 2400
หากนึกถึงภาพของความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวแม่ฮ่องสอนแล้ว ภาพของสะพานซูตองเป้ที่สร้างจากไม้ไผ่ กว้าง 2 เมตร ยาวประมาณ 500 เมตรซึ่งทอดจากหมู่บ้านกุงไม้สัก ข้ามท้องท่งุ นาไปยังสวนธรรมภูสมะ เป็นหนึ่งในความศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ของชาวพุทธที่เมืองแม่ฮ่องสอนแห่งนี้
การสร้างสะพานนี้ก็เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านที่อยู่อีกฝั่งได้ใช้สัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้านได้สะดวกยิ่งขึ้น
เชื่อกันว่าหากได้มายืนกลางสะพานแล้วอธิษฐาน เราจะสำเร็จในสิ่งที่หวัง สมกับภาษาไทใหญ่ของคำว่าซูตองเป้ ที่แปลว่า อธิษฐานสำเร็จ นั่นเอง
ชาติเชื้อเผ่าพันธุ์
ถ้าพูดถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้ว นอกจากภูเขา สายหมอกที่ปกคลุมทุกฤดูกาลแล้ว ภาพของชนเผ่าต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งภาพจำของจังหวัดแห่งนี้ ซึ่งมีทั้งคนเมือง ชาวไต (ไทใหญ่) จีนฮ่อ พม่า และชาวเขาเผ่าต่างๆ ราวร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ม้ง ลีซอ มูเซอ ลัวะ และปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยง
สำหรับงานวิ่งในครั้งนี้ ฉันว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นสิ่งดึงดูดใจนักวิ่งนอกจากเส้นทางแล้ว ของรางวัลซึ่งได้แก่ เหรียญ และถ้วยรางวัลสำหรับผู้ที่เข้าแข่งขันที่เกิดจากการสลักไม้ของชาวกะเหรี่ยงคอยาว
เป็นอีกหนึ่งที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของการวิ่งครั้งนี้ ฉันมีโอกาสได้เดินทางไปที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงห้วยปูแกง ที่ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการทำเหรียญและถ้วยรางวัลสำหรับงานครั้งนี้
ภายในหมู่บ้านเป็นไปอย่างเรียบง่าย บ้านหลายหลังมีการจำหน่ายสินค้าอย่างเช่นผ้าทอฝีมือของชาวบ้าน เครื่องเงิน ตุ๊กตาไม้แกะสลัก ตลอดจนของที่ระลึกเล็กน้อย
สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือ ชาวปกาเกอะญอมีนิสัยสุภาพเรียบร้อย ยิ้มแย้มแจ่มใส และเป็นมิตร แม้เราจะพูดกันไม่รู้เรื่องแต่รอยยิ้มและเสียงเพลง ที่ขับกล่อมให้เราได้ฟังสร้างความรู้สึกประทับใจไม่ใช่น้อย ไม่ไกลกันนั้นหากเราล่องนำต่อไปตามลำน้ำปาย ไปเรื่อยๆ
คุณจะพบกับบ้านน้ำเพียงดิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งชุมชนของชาวไทใหญ่
ที่นี่นอกจากจะเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านแล้ว คุณจะเห็นสถานีตำรวจภูธรน้ำเพียงดิน (เดิม) ซึ่งบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งโกดังเก็บของของบริษัท บอมเบย์ ประเทศอังกฤษซึ่งเป็นบริษัททำไม้ของชาวต่างประเทศ
อีกหนึ่งจุดสำหรับคนที่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับชาติพันธุ์ของแม่ฮ่องสอนคือ ที่หมู่บ้านรักไทย ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวจีนยูนนานอดีตทหารจีนคณะชาติ (กองพล 93) ก๊กมินตั๋งซึ่งยังคงสืบทอดประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชีวิตตามแบบอย่างชาวจีนยูนนานไว้อย่างเหนียวแน่น
ดังนั้นเวลาที่เราเดินทางมาที่นี่ เราจึงรู้สึกเหมือนกำลังมาเที่ยวเมืองจีนกันเลยทีเดียวมาหมู่บ้านรักไทย สิ่งหนึ่งที่ควรทำ คือ การลองจิบชา กินอาหารจีนยูนนาน และดื่มด่ำไปกับธรรมชาติที่โอบล้อมตัวให้มากที่สุด
คุณจะรู้สึกถึงความผ่อนคลายและเข้าใจถึงความลงตัวของการเข้ากันในทางวัฒนธรรมของชนชาติที่นี่ได้เป็นอย่างดี
ธรรมชาติบำบัด
อา-บู-ดา-ยา เป็นคำทักทายสวัสดีของชาวลาหู่หรือมูเซอ ที่บ้านจ่าโบ่หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ฮอตฮิตติดลมบนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ภาพของร้านก๋วยเตี๋ยวห้อยขาที่ราคาหลักสิบ วิวหลักล้านเป็นสิ่งที่เล่าขานกันปากต่อปากให้หลายคนดั้นด้นกันมาที่นี่
แต่ที่จริงแล้วนอกจากร้านก๋วยเตี๋ยวร้านกาแฟ ถัดขึ้นไปอีกประมาณ 200 เมตรเป็นหมู่บ้านของชาวลาหู่ ซึ่งเปิดเป็นโฮมสเตย์สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการให้ธรรมชาติได้โอบกอดและบำบัดร่างกาย ในราคาหลักร้อย แต่ความสุขหลักล้าน ที่อยากให้ทุกคนได้สัมผัส
เช่นเดียวกันกับการไปพอกโคลน นวดหน้าและแช่น้ำแร่ที่ ภูโคลน คันทรี คลับ
ที่นี่เป็นมากกว่าสถานที่ท่องเที่ยวแต่เป็นสถานที่ให้บริการทางด้านความงามและสุขภาพด้วยโคลนและน้ำแร่ธรรมชาติ ซึ่งการนำโคลนมาใช้ในเชิงสุขภาพของที่นี่นั้นมีการผสมผสานเอาสมุนไพรเช่นตะไคร้หอม, แตงกวา, ขมิ้น, มะนาว เป็นต้น มารวมเข้าด้วยกันทำให้นอกจากจะได้คุณสมบัติจากโคลนแล้วยังได้กลิ่นหอมและสรรพคุณจากสมุนไพรอีกด้วย
สุดท้ายสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นธรรมชาติบำบัดอย่างแท้จริงคือ บริเวณของศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ ภายในประกอบด้วยฐานการเรียนรู้ในด้านต่างๆ เพื่อเป็นการพัฒนาอาชีพของชาวบ้านและผู้สนใจทั้งฐานกล้วยไม้ ฐานเฟิน ฐานไผ่ ฐานข้าว ฐานการเลี้ยงปลา ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีลานกว้างที่เลี้ยงแกะ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากศูนย์อีกด้วย
ปัจจุบันศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ ประกอบไปด้วย 4โครงการย่อย ได้แก่ โครงการพระราชดำริปางตอง 1 (ห้วยมะเขือส้ม) โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) โครงการพระราชดำริปางตอง 3 (แม่สะงา-หมอกจำแป่) และ โครงการพระราชดำริปางตอง 4 (พระตำหนักปางตอง)
ซึ่งบางโครงการหลายคนน่าจะรู้จักกันดีอย่างที่โครงการพระราชดำริปางตอง2 (ปางอุ๋ง) ที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำหรับการท่องเที่ยวของใครหลายคนที่เดินทางมาจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อการพักผ่อนและเข้าถึงธรรมชาติสีเขียว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน ยาวไปถึงปลายฝนต้นหนาวเช่นนี้ แม่ฮ่องสอนยามสีเขียวเป็นธรรมชาติที่บำบัดได้อย่างแท้จริง