โรชิ เทราอิ ชีวิตคือวิถีแห่งเวลา

Story & Photo by Keeta

ขณะที่หน้าปัดนาฬิกาบอกเวลา World Time 
กรุงเทพฯ 17.14:37 น.      
โตเกียว 19.15:42 น.      

ในวิถีแห่งเวลา ดูเหมือนว่า ญี่ปุ่นจะล่วงหน้าไปก่อนประมาณ 2 ชั่วโมงเสมอ ขณะที่เมืองไทยไม่เร่งร้อน ค่อยๆ ไปก็ได้ สบายๆ ไม่ต้องกังวล รีบไปก็แค่นั้น เพราะยังไงเราก็ต้องอยู่ห่างกัน 2 ชั่วโมงอยู่ดี  ถ้านาฬิกาสัญชาติไทยพูดได้ คงยืนโบกมือไหวๆ บอกนาฬิกาสัญชาติญี่ปุ่นว่า ‘ไม่เป็นไร ขอเราเดินตามเรื่อยๆ ด้วยระยะห่างแค่นี้แหละ’ ราวกับนาฬิกาเหล่านี้ถูกฝังอยู่ในสามัญสำนึกของคนในชาติ ทำให้ทัศนคติและวัฒนธรรมของผู้คนเป็นไปอย่างนั้น อารมณ์ ‘เรื่อยๆ’ ของคนไทยจึงกลายเป็น DNA ที่ถ่ายทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น จึงไม่แปลก ที่คนต่างชาติต่างวัฒนธรรมจะต้องปรับตัวกันยกใหญ่เพื่อ ‘เซ็ต’ ตัวเองใหม่ ให้เข้ากับวิถีของคนในชาตินั้น

วันนี้เรามีนัดพูดคุยกับผู้บริหารชาวญี่ปุ่นที่ออฟฟิศ ANA ตึก CP Tower ย่านสีลม เรารีบไปให้ถึงก่อนเวลานัดหมาย ปรากฏว่าเรามาถึงก่อนร่วมชั่วโมง คงเพราะเรามีความคิดฝังอยู่ว่า ‘คนญี่ปุ่นมักตรงเวลา’ แต่ครั้นจะเข้าไปก่อนเวลามากๆ ก็เกรงจะไม่เหมาะสม ควรจะต้องไปก่อนสัก 10 นาที 15 นาที หรือเท่าไหร่ดีจึงจะดี คิดอยู่นานกว่าจะตกลงกันได้ ก็ถึงเวลานัดหมาย กลายเป็นว่ากังวลเสียจนเกือบไปสายเสียอีก

ในที่สุด เราก็ได้พบกับ Special Person ของเราเสียที แต่ในบรรยากาศนั้นไม่ได้มีบรรยากาศของความตึงเครียดแต่อย่างใด ทีมงานของเราได้รับการต้องรับอย่างอบอุ่น ทำให้คลายความวิตกกังวลในการพูดคุยได้พอสมควร

ana2

ผู้บริหารอารมณ์ดี คุณฮิโรชิ เทราอิ General Manager ของ ANA หรือ All Nippon Airways ประเทศไทย ยอมรับว่า ความเข้าใจเรื่องของ ‘เวลา’ นั้นสร้างปัญหาให้กับเขาเช่นกัน ความรู้สึกนั้นเคยเกิดขึ้นกับตนเองตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ามารับตำแหน่งในบริษัทสายการบินสาขาประเทศไทย เพราะความแตกต่างในทัศนคติและการใช้ชีวิตที่ไม่เคร่งครัดในเรื่องเวลาของคนไทย คงเป็นเพราะต้องทำงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการที่ต้องสร้างความเชื่อมั่น น่าเชื่อถือ และไว้ใจได้ ให้กับ ANA ซึ่งเป็นสายการบินที่ก่อตั้งมายาวนานมากกว่า 62 ปีแล้ว คุณฮิโรชิจึงให้ความสำคัญกับเรื่องเวลาเป็นพิเศษ รวมถึงดูแลความเรียบร้อยในการดำเนินธุรกิจโดยรวมของ ANA ภายในประเทศไทยและพยายามผลักดันให้การดำเนินงานบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย

“สำหรับผม เข็มบอกเวลาของไทยเดินช้าเสมอในสามัญสำนึก แต่คิดอีกที มันก็ไม่ได้ช้าในความหมายของเข็มเวลาที่เดินช้าหรือเร็วกว่ากันหรอก แต่คนไทยใช้ชีวิตอย่างไม่เร่งรีบ อะไรรอได้ก็รอ ทั้งที่ไม่รู้ว่าในใจลึกๆ อยากรอรึเปล่า (หัวเราะ) ยกตัวอย่างเช่น BTS MRT BRT หรือการขนส่งสาธารณะอะไรก็ตาม มันไม่เคยมีตารางเวลาที่ชัดเจน เทียบกับชินคันเซ็นแล้ว ทางนั้นมีตารางเวลาที่ตรงเวลามาก ถ้าคุณมาไม่ทันก็ตกรถไปเลย การเดินทางจึงสามารถวางแผนได้หมด แต่ชีวิตในไทยก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างกันมาก ไม่ใช่ในแง่ว่าดีหรือไม่ดี”

คนไทยและคนญี่ปุ่นรู้จักกันมากขึ้น เพราะสมัยนี้เราสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันโดยไม่ต้องขอ VISA จากสถิติการเดินทางท่องเที่ยว ปรากฏว่าตั้งแต่ปี 2012 – 2014 มีอัตรานักท่องเที่ยวไทยบินไปญี่ปุ่นมากขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว คือจากประมาณ 260,000 คนในปี 2012 เพิ่มเป็น 650,000 คนในปี 2014 ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นก็ยังคงนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทยเหมือนเช่นเดิม ท่ามกลางการแข่งขันด้านการบริการเที่ยวบินที่เพิ่มสูงขึ้น ANA มีเครือข่ายเส้นทางบินภายในประเทศที่ครอบคลุมเมืองต่างๆ ในญี่ปุ่นมากที่สุด ลูกค้าผู้เลือกใช้บริการของ ANAจะสามารถเปลี่ยนเครื่องเพื่อเดินทางจากกรุงโตเกียวไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่นได้โดยสะดวกที่สนามบินนาริตะหรือสนามบินฮาเนดะ และในเดือนสิงหาคมนี้ ANA จะเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯและโตเกียวจาก 3 เป็น 4 เที่ยวต่อวัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปญี่ปุ่น รวมถึงช่วยให้ชาวต่างชาติในไทยสามารถไปแวะเปลี่ยนเครื่องที่โตเกียวเพื่อเดินทางไปยังอเมริกาเหนือได้สะดวกมากขึ้นอีกด้วย

อ่านเรื่องราวด้วยประสบการณ์ของชีวิตของคุณฮิโรชิฉบับเต็มได้ผ่านนิตยสาร Vacationist เดือนกรกฎาคม 2558

ana9

ต้องการซื้อเล่มเดือนนี้ย้อนหลัง คลิกที่รูปปกนิตยสารได้เลย

7-VacationistJuly15

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0